“ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” ปี๋เก่าก่อล่วงไปแล้ว ปี๋ใหม่แก้วก่อมาฮอดมาเติง

“เองวังโหนตุและอัจจะในวันนี้ก่อเป๋นวันดี ดิถีวิเศษเหตุว่าสังขานปีเก่าก่อข้ามป้นไปแล้ว ปี๋ใหม่แก้วก่อมาฮอดมาเติง…”  คำกล่าว หื้อปอน หรือ ให้พร ในแบบฉบับของชาวจาวล้านนาในวันปี๋ใหม่เมือง หรือวันสงกรานต์ของไทยเรา ทำให้นึกถึงกลิ่นอายการมารวมตัวกันของคนในครอบครัว วันดำหัวคนเฒ่าคนแก่ที่ไกล้จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ลูกหลานที่ได้ห่างบ้านไปทำงานไกลจะได้กลับมาบ้าน พบปะสังสรรค์กับญาติ ๆ ที่หนึ่งปีจะมีหนึ่งครั้ง

อ้างอิงรูปภาพจาก :
http://www.crossfitchiangmai.com/blog/2017/4/12/songkran-hours-and-holiday-closing


สำหรับเด็ก ๆ และวัยหนุ่มสาวแล้ว ปี๋ใหม่เมืองถือเป็นวันแห่งความสนุกสนาน ที่ทุกคนจะได้ออกมาเล่นสาดน้ำกันรอบเมือง แต่พอโตเข้าสู่วัยทำงานมาสักช่วงหนึ่งแล้ว วันปี๋ใหม่เมืองเป็นเหมือนสะพานเชื่อม ที่จะทำให้คนในครอบครอบได้กลับมารวมตัวกัน สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้น

หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่บ้านเอง ต่างก็เฝ้ารอคอยวันนี้ เพื่อให้ลูกหลานได้กลับมาหา ถือเป็นประเพณีที่ดีของไทย ที่เกิดขึ้นเวียนวนกันมาในทุกปี แต่รู้หรือไม่ว่า ปี๋ใหม่เมืองของชาวล้านนา มีความแตกต่างจากประเพณีสงกรานต์ของภาคกลาง

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกคนไปรู้ถึงที่มาของประเพณีปี๋ใหม่เมือง ความสำคัญของประเพณีสงกรานต์ล้านนา ที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวในแน่นแฟ้น รวมถึงกิจกรรมที่คนเจียงใหม่จะทำกันในป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองปีนี้ !!

ตำนานความเชื่อปี๋ใหม่เมือง

ตามประวัติแล้ว ประเวณีปี๋ใหม่เมือง ไม่ได้ถูกระบุว่ามีจุดเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด มีเพียงข้อมูลที่กล่าวถึงตำนานปี๋ใหม่เมือง จากคัมภีร์เทศนาธรรมเรื่องธรรมบาลกุมาร ซึ่งเข้าใจกันว่าคนล้านนาได้รับอิทธิพลเรื่องนี้มาจากไทยภาคกลาง แต่ผลจากการศึกษาจากนักวิชาการร่วมกับปราญ์ท้องถิ่น กลับพบว่าอดีตของชาวล้านนาได้ให้ความสำคัญกับ “ขุนสังขานต์” ในลักษณะของ “บุคลาอธิษฐาน” ที่หมายถึงพระอาทิตย์เป็นสุริยเทพ และจากคัมภีร์สุริยยาตร์ได้พูดถึงการล่องของสังขานต์ในแต่ละปี มี “ขุนสังขานต์” เป็นตัวเอก และมี “นางเทวดา” มารอรับขุนต์สังขานต์ ซึ่งการล่องของขุนสังขานต์มีความยิ่งใหญ่อลังการ และมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกันไป ตามวันที่สังขานต์ล่องของแต่ละปี เช่น สีเครื่องนุ่งทรง เครื่องประดับ การถือสิ่งของในแต่ละมือ อิริยาบถ พาหนะ ทิศการเสด็จ และคำทำนายมีอิทธิพลต่อป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง

ความเปลี่ยนแปลงของโลกมนุษย์ เช่น เหตุการณ์สำคัญ ศึกสงคราม ของถูกของแพง ปริมาณน้ำฝน พืชพรรณธัญญาหาร เป็นต้น จากการศึกษาดังกล่าว พบว่าไม่มีการกล่าวถึงหรือให้ความสำคัญต่อท้าวกบิลพรหมและนางสงกรานต์เลย

อ้างอิงรูปภาพจาก : kiyoraspa.com/wp-content/uploads/songkran-festival-chiang-mai-3.jpg

ความสำคัญของปี๋ใหม่เมือง

ปี๋ใหม่เมือง เป็นประเพณีที่กล่าวถึง การเริ่มต้นปีใหม่ของล้านนา อันจะทำให้เกิดความมงคลกับชีวิต ความงอกงามและความสุข แบ่งออกเป็น 4 เรื่องดังนี้

1.จุดเริ่มต้นศักราชใหม่

ตามที่ในหนังสือปี๋ใหม่เมืองหรือปักกะทืนล้านนา ได้กล่าวถึงการนับศักราชว่า ล้านนาใช้การนับศักราช 2 ระบบ คือจุลศักราชและพุทธศักราช และเมื่อถึงวันสังขานต์ล่องจุลศักราชจะเลื่อนขึ้นอีก 1 ปี ซึ่งจุลศักราชนั้น เป็นวิธีการนับที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศพม่า

2.กลับมาทบทวนเวลาที่ผ่านไป

ช่วงระยะเวลาที่ผ่านไป 1 ปี เป็นการทบทวนกับตัวเองว่าได้ทำอะไรไว้บ้าง มีสิ่งไหนที่เรารู้สึกว่าไม่ดีและต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น สิ่งไหนที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ เริ่มต้นวางแผนที่วิตที่เหลือกันใหม่ ตั้งตนอยู่ด้วยความไม่ประมาท

3.ได้ชำระล้างจิตใจ

เมื่อเข้าสู่วันปี๋ใหม่เมืองวันแรก ที่เรียกกันว่า “วันสังขานต์ล่อง” ซึ่งจะเป็นวันที่แต่ละบ้านจะได้ทำความสะอาดบ้าน ซักที่นอนหมอนมุ้ง ที่ปล่อยให้หมักหมนเป้นแรมเดือน แรมปี  อาบน้ำ ดำหัว นุ่งเสื้อผ้าใหม่ เพื่อต้อนรับปีใหม่ล้านนาที่กำลังจะมาถึง แต่ทว่าแล้วยังหมายรวมถึงการชำระล้างจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากความหม่นหมอง เศร้าโศก

4.ระลีกถึงผู้มีคุณ

วันปี๋ใหม่เมือง เป็นเหมือนกุศโลบาย ที่จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ที่บ้านและ หนุ่มสาวที่ห่างจากบ้านออกไปทำงานต่างถิ่น ให้ได้กลับมาพบเจอกัน อยู่เป็นครอบครัวใหญ่ด้วยกันอีกครั้ง และยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้อง แต่ทว่าทั้งนี้แล้ว การดำหัวขอพรจากญาติผู้ใหญ่ ยังเป็นการขอขมาลาโทษ กับสิ่งที่ได้ล่วงเกินไป ทั้งกาย วาจา ใจ อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความกตัญญู รำลึกในพระคุณ

สิ่งที่จาวล้านนาทำในวันปี๋ใหม่เมือง ?

ถ้ายึดตามหลักป๋าเวณีของจาวล้านนาในอดีตแล้ว ปี๋ใหม่เมืองมีชื่อเรียกกิจกรรมที่ต้องทำหลายอย่าง ซึ่งมีความต่างจากกิจกรรมทางศาสนา และวัฒนธรรม ที่ต่างจากสงกรานต์ของไทยภาคกลาง ดังนี้

1.วันสังขานต์ล่อง หรือวันสังขารล่อง

“สังขานต์” ในภาษาสันกฤตแปลว่า “ก้าวล่วงแล้ว” ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของปี ในอดีตวันสังขารล่องของแต่ละปีจะไม่เหมือนกัน โดยยึดตามหลักปฏิทินล้านนา แต่ในปัจจุบันได้ยึดตามปฏิทินของทางราชการ คือวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี มีหลายกิจกรรมที่จาวล้านนาจะทำกันในวันนี้ แตกต่างกันตามพื้นที่ โดยกิจกรรมสำคัญ ๆ จะมีดังนี้

  • ในสมัยเด็กตัวผู้เขียนเองเคยได้ยินว่าเล่าให้ฟังว่า วันสังขานต์ล่องควรตื่นแต่เช้ามืดไปที่ลำธารจะเจอกับปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ เดินมาตามลำธารหอบนำเสนียดจัญไร สิ่งไม่ดีมา ชาวบ้านแต่ละหลัง ชาวบ้านแต่ละหลังก็มักจะออกมาจุดประทัดกันแต่เช้ามืด ด้วยความเชื่อที่ว่าจะได้ขับไล่สิ่งไม่ดีออกไป ให้ไหลล่องไปกับปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ แต่แท้จริงแล้วนั้น สิ่งสมมุติที่เรียกว่าสังขานต์ ก็คือตัวเราเองที่กำลังไหลไปตามวัยของสังขาร ซึ่งควรจะเริ่มต้นใหม่ ทิ้งสิ่งไม่ดี ความเศร้าหมองต่าง ๆ ไว้ข้างหลัง ทั้งกาย วาจา ใจ นั่นเอง
  • คนโบราณได้บอกไว้ว่า วันสังขานต์ล่อง ควรจะเก็บกวาด ทำความสะอาดบ้านเรือน ให้สะอาดเพื่อเอาสิ่งสกปรกไปพร้อมกับสังขานต์ล่อง
  • ดำหัววันสังขานต์ล่อง ตามความหมายของจาวล้านนาแล้ว จะหมายถึง การสระผมของตัวเองด้วยน้ำขมิ้น ส้มปล่อย โดยว่าราณกล่าวไว้ว่าจะต้องหันหัวไปตามทิศที่ได้บอกไว้ในปักทืนหรือหนังสือปี๋ใหม่เมือง ที่จะไม่ตรงกันในแต่ละปี
  • หลังจากที่ดำหัวเสร็จแล้ว จะต้องแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ และหากว่าเป็นผู้หญิงก็จะพากันทัดดอกไม้ อันเป็นนามปีหรือพญาดอกไม้ของปีนั้นด้วย
อ้างอิงรูปภาพจาก : www.m-culture.go.th/th/article_view.php?nid=16600

2.วันเน่า

“วันเน่า” วันที่สองของปี๋ใหม่เมือง ซึ่งวันนี้เองยังไม่ถือว่าเป็นวันปีใหม่ เพราะช่วงพระอาทิตย์เองยังเนาอยู่ระหว่างราศรีมันกับราษีเมษ แต่ถ้าพูดในแง่ของโหราศาสตร์แล้ว วันนี้ถือเป็นวันที่ไม่ดี เชื่อว่าหากใครที่ ด่าทอ ทะเลาะวิวาทกัน จะทำให้ปากเน่าเหม็นตลอดทั้งปี

แต่ทว่าล้านนายังเชื่ออีกว่า หากใครที่อยากจะปลูกเรือนไม้ไผ่ ให้รีบตัดไม้ให้เสร็จภายในวันนี้ จะทำให้ไม้ไม่เน่าและไม้มีมอดและปลวกมากิน อีกทั้งยังมีกิจกรรมอื่น ๆ และข้อห้าม ที่จาวล้านนาจะทำกัน

  • “ซื้อครัวกาดวันเน่า” ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของ “วันเน่า” จะมีความคึกคักเป็นพิเศษจากชาวบ้านรวมถึงพ่อค้าแม่ค้า ที่จะออกจากบ้านมาจับจ่ายซื้อของเพื่อเตรียมสำหรับ  ใช้ในประเวณีปี๋ใหม่เมืองทั้งการเข้าวัดทำบุญและดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ ทั้ง ตุง ข้าวตอก ดอกไม้ หมากเหมี้ยง เสื้อผ้า ครัวดำหัว ฯ
  • พอสายอีกหน่อยแม่บ้านพ่อเรือน จะช่วยกันเตรียมทำขนมสำหรับใช้ทำบุญในเช้าวันถัดไป ในสมัยก่อนพ่อเรือนจะนิยมดองเหล้าใส่ในไห เลี้ยงแขก ญาติที่น้องในช่วงปี๋ใหม่เมือง ส่วนขนมที่จาวล้านนานิยมทำไปวัดกันได้แก่ ข้าวหนมจ็อก ข้าวเหนียวแดง ข้าวต้มหัวงอก ข้าวต้มมัดเป็นต้น ส่วนอาหาร
  • “ขนทรายไปวัด” หากได้มีโอกาสออกไปทำบุญตามวัดในท้องถิ่น ก็จะเห็นบรรยากาศของชาวบ้านขนทรายจากบ้านไปก่อเป็นเจดีย์ทรายที่วัด เพื่อเป็นพุทธบูชา โดยแต่ละท้องถิ่นก็จะมีรูปแบบ คติความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งถ้าหากว่าเป็นในอดีต จาวล้านนาจะพากันไปตักทรายที่แม่น้ำ เพราะช่วงเดือนเมษาน้ำจะแห้งขอดจนเห็นเนินทราย
  • “แป๋งตุงปี๋ใหม่ไปวัด” ในวันเน่าคนเฒ่าคนแก่ ที่มีฝีมือเรื่องการทำตุง ต่างจะพากันมาตัดกระดาษว่าวทำตุง มีทั้ง ตุงไส้หมูหรือช่อพญายอ ตุงเทวดา ตุงคน ตุงสิบสองราศรี ไว้สำหรับการปักบนเจดีย์ทราย เพื่อเป็นพุทธบูชา โดยที่จาวล้านนาก็มีความเชื่อว่า การทานตุงจะทำให้เราหลุดพ้นจากนรกอเวจี นำขึ้นไปสู่สรวงสรรค์
อ้างอิงรูปภาพจาก :
http://baifernfengfeng.blogspot.com/2014/07/blog-post_2479.html

3.วันพญาวัน

วันที่สามของป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง เป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ โดยเริ่มต้นกิจกรรมแต่ช่วงเช้ามืดของวัน คนเฒ่าคนแก่ต่างจะพากันเตรียมของไปวัดเพื่อทำบุญ “ทานขันข้าว” หลังจากนั้นต่างจะพากันถวายช่อตุงปี๋ใหม่ และฟังเทศนาธรรมอานิสงส์ปี๋ใหม่ พอเสร็จพิธีแล้วสาย ๆ หน่อย ก็จะพากันไปรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ทั้งนี้แล้วกิจกรรมอาจจะแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งตอนเย็นบางพื้นที่อาจจะมีการแห่ไม้ค้ำศรี ไม้ค้ำโพธิ์เข้าวัดอีกด้วย

อ้างอิงรูปภาพจาก :
https://twitter.com/gerrardnan/status/985773785935589377

4.วันปากปี

วันที่สี่ ของป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง อีกวันหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นวันแรกของปี อาหารมื้อแรกของวันนี้จะเป็นแกงขนุน ด้วยความเชื่อของจาวล้านนาที่ว่าจะหนุนนำชีวิตให้เจริญก้าวหน้า พอถึงช่วงสาย ๆ หน่อยชาวบ้านในหมู่บ้านจะพากันมารวมตัวในหมู่บ้าน เพื่อทำบุญเสาใจบ้านหรือส่งเคราะห์บ้าน หรือบางแห่งอาจจะต่อด้วยการ พากันแห่รวมตัวมารดน้ำดำหัว  ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เพื่อแสดงถึงความเคารพผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน

5.วันปากเดือน ปากวัน ปากยาม

หลังจากจบสิ้นวันสำคัญ เพื่อจะให้จาวล้านนาได้ทำกิจกรรมทาง ศาสนา และประเพณีแล้ว ยังมีวันปากเดือน ปากวัน ปากยาม ถือเป็นเหมือนวันชดเชยป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองวันอื่น เพื่อให้เวลาสำหรับการทำบุญ สรงน้ำพระธาตุเจดีย์ และยังเป็นช่วงที่พระสงฆ์ ต่างจะพากันอกไปดำหัวพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ตามวัดต่าง ๆ พร้อมกับคณะศรัทธา จาวล้านนาเรียกกันว่า “หัววัดเติงกัน” หรือวัดที่มีความสัมพันธ์เคารพนับถือกัน

กิจกรรมเด่นปี๋ใหม่ ที่คนเจียงใหม่เปิ้นทำกัน

1.สืบสานฮิตฮอย ย้อนรอยปีใหม๋เมือง

จัดขึ้นที่ “วัดโลกโมฬี” ระหว่างวันที่ 12 – 16 เม.ย. เวลา 7.00 – 22.00 น. ภายในวัดมีทั้งการสรงน้ำพระ ตัดจ้อ-ตานตุง

อ้างอิงรูปภาพจาก : http://www.northwavestation.com/?p=32

2.พิธีอาราธนาพระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานบนรถบุษบก

“วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่”  เป็นพิธีอาราธนาพระพุทธสิหิงค์ออกจากวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบกนามว่า ศรีเมืองเชียงใหม่ ท่ามกลางประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก โดยเคลื่อนขบวนแห่ออกจากประตูวัดไปตามถนนราชดำเนิน เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกกลางเวียงไปยังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ จุดที่ตั้งบริเวณเชิงสะพานนวรัฐ เพื่อออกแห่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้สรงน้ำสักการะ โดยมีการประดับตกแต่งขบวนแบบล้านนาอย่างสวยงามและครบครัน

3.การประกวดเทพี เทพบุตรสงกรานต์

จะมีการจัดประกวดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2562 เวลาประมาณ 17.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณข่วงประตูท่าแพ โดยปีนี้ใช้ชื่องานว่า “เล่าเรื่องเมืองล้านนา เบิกศักรามิ่งมงคล ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ อย่างปลอดภัยไร้แอลกอฮอลล์”

4.พิธีสระเกล้าดำหัวป้อเมืองเจียงใหม่

พิธีดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่นั้น เป็นพิธีที่จังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง หรือเทศกาลสงกรานต์ โดยตัวแทนจากอำเภอและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่จะร่วมกันจัดขบวนแห่เข้าสู่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำพิธีดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่คนสำคัญที่ชาวเชียงใหม่ให้ความเคารพนับถือ โดยปีนี้ได้จัดขึ้นในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2562 เวลาประมาณ 13.30 น. ณ บริเวณข่วงประตูท่าแพ

อ้างอิงรูปภาพจาก : www.sanook.com/travel/1398513/

6.งานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่

ซึ่งในปีนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 -15 เมษายน 2562 ณ ข่วงประตูท่าแพ ภายใต้แนวความคิด “เล่าเรื่องเมืองล้านนา เบิกศักรามิ่งมงคล ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่อย่างปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์” โดยมีกิจกรรมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ การประกวดแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้องล้านนาไทยในอดีต การประกวดหนูน้อยสงกรานต์ พิธีอาราธนาพระพุทธสิหิงค์ และขบวนแห่พระพุทธรูปสำคัญ ขบวนแห่ไม้ค้ำสะหลี ขบวนแห่สระเกล้าดำหัวป้อเมืองเจียงใหม่ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ทว่าแท้ที่จริงแล้ว ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองที่จาวล้านนาได้ทำสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน กลับเป็นกุศโลบายที่ทำให้ครอบครอบได้มีความสัมพันธ์กันมากขึ้น ทำให้เกิดความสามัคคีจากคนในชุมชน ที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดความรักความอบอุ่น จากคนที่ได้ออกไปทำงานไกลบ้านได้กลับมาอยู่กับครอบครัว

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเลย คือการให้ตัวเราเองได้เตือนตัวเองอยู่เสมอ ให้ได้รำลึกถึงสิ่งที่ไม่ดีในปีที่ผ่านมาแล้วทิ้งมันไป ชำระล้างจิตใจให้ผ่องใส ปราศจากความเศร้าหมอง เพื่อให้ตัวเองเป็นคนใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงความสนุกสนานจากการเล่นสาดน้ำ หรือการตั้งวงดื่มสุรา ทะเลาะวิวาท ดังภาพที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

อ้างอิงข้อมูลจาก :  library.cmu.ac.th/ntic/lannatradition/newsyear.php, pantip.com/topic/30377827, www.tigernews.tv/31/03/2019/101095/, www.cm108.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น