ตามรอย ขุนหลวงวิรังคะ

เคยได้ยินเรื่องเล่าหลายครั้งจากคนเฒ่าทั้งหลายเกี่ยวกับพระนางจามเทวีกับขุนหลวงวิรังคะตั้งแต่เมื่อเด็กๆ จนมีโอกาสได้พบเห็นรูปปั้นของขุนหลวงวิรังคะที่วัดเมืองก๊ะ และวัดเจดีย์ธรรมสถาน(วัดเหมืองผ่า) ในท้องที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักขุนหลวงวิรังคะน้อยมากเมื่อเทียบกับพระนางจามเทวีแห่งหริภุญชัย (ลำพูน) จึงมีความคิดว่าน่าจะติดตามเรื่องนี้แล้วนำมาเล่าสู่กันดีกว่า ซึ่งเป็นที่มาของงานชิ้นนี้ที่ใช้ชื่อว่า “ตามรอย…ขุนหลวงวิรังคะ”

เริ่มต้นด้วยการค้นคว้าประวัติเบื้องต้นจากหนังสือต่างๆ รวมถึงการอ่านกาพย์เจี้ย จามเทวีและวิรังคะ ซึ่งนิพนธ์โดยอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ และที่สร้างความสนใจให้กับผู้เขียนได้มากก็เมื่อมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับผู้ช่วยศาสตราจารย์จินตนา มัธยมบุรุษ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งกำลังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชนเผ่าลัวะ และขุนหลวงวิรังคะก็เป็นกษัตริย์ของชนเผ่าลัวะ ซึ่งมีอาณาจักรอยู่ดั่งเดิมก่อนที่พญามังรายจะสร้างนพบุรีศรีนครพิงค์ ดังนั้นเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันจึงยังคงมีชนเผ่าลัวะหลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งอาจารย์จินตนาได้เล่าไว้ว่า ท้องที่เขตอำเภอแม่ริม เป็นชุมชนของพวกลัวะ ได้แก่บ้านสะลวง บ้านพระบาทสี่รอย บ้านปางไฮ ดังนั้นลูกหลานชาวลัวะจึงมีการปั้นรูปปั้นของขุนหลวงวิรังคะในท่ายืนพุ่งเสน้า (หอก) ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์และสักการะบรรพชนชาวลัวะไว้ที่วัดเมืองก๊ะ ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และรูปปั้นขุนหลวงวิรังคะในท่านั่งดีดซึงที่วัดเจดีย์สถาน (วัดเหมืองผ่า) ตำบลริมเหนือ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

โดยมีพิธีสักการะรูปปั้นขุนหลวงวิรังคะในเดือนเมษายนของทุกปีในช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมือง (ประเพณีสงการต์) ซึ่งชาวลัวะทั้งหลายจะพากันมารดน้ำดำหัวขุนหลวงวิรังคะกันตามประเพณี นอกจากนี้บนดอยคว่ำหล้อง ซึ่งเป็นที่ฝังศพของขุนหลวงวิรังคะก็อยู่ในท้องที่ตำบลโป่งแยง และตำบลแม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม เช่นกัน นอกจากนี้ชนเผ่าลัวะก็ยังกระจัดกระจายอยู่ในหลายท้องที่ของจังหวัดเชียงใหม่ เช่นอยู่ที่วัดหัวริน อำเภอสันป่าตอง บ้านขุนคงหมู่ที่ 5 อำเภอหางดง บ้านห้วยลากไม้ อำเภอจอมทองและที่อำเภอแม่แจ่มได้แก่ บ้านเฮาะ บ้านกอ บ้านแปะ บ้านมืดหลอง บ้านของ บ้านหัวรินเป็นต้น ซึ่งพวกลัวะที่อำเภอแม่แจ่มนี้จัดเป็นพวกขุนถือว่ามีศักดินาสูงกว่าลัวะที่อื่นๆ

เรื่องราวของเจ้าแม่จามเทวีและขุนหลวงวิรังคะที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือได้นั้นสามารถอ่านได้จาก “จามเทวีวงศ์” ที่แต่งเป็นภาษาบาลีเมื่อกว่า 400 ปีก่อน โดยพระโพธิรังสีมหาเถร ชาวเชียงใหม่ “ชินกาลมาลินี” แปลเป็นภาษาไทยโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษณ์) กับพระญาณวิจิตร(สิทธิ โลจนานนท์) ในสมัยรัชกาลที่ 6 หนังสือชื่อ “ชินกาลมาลีปกรณ์” แต่งเป็นภาษาบาลีระหว่างพ.ศ. 2060 – 2071 โดยพระรัตนปัญญาเถระชาวล้านนาไท แปลเป็นภาษาไทยโดย ร.ต.ท.แสง มนวิฑูร เมื่อพ.ศ. 2501 กับหนังสือชื่อ “พงศาวดารโยนก” แต่งโดย พระยาประชากิจกรจักร(แช่ม บุนนาค) แต่ครั้งยังเป็นหลวงประชาคดีกิจ ลงพิมพ์ในนิตรสาร “วชิรญาณ” ร.ศ.117 และ 118 (พ.ศ. 2441 และ 2442) ซึ่งเป็นการเรียบเรียงขึ้นใหม่เมื่อเดือนธันวาคม ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449)และมีการตีพิมพ์อีกหลายครั้งแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้เรื่อง จามเทวีและวิรังคะ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่นิยมนำมาเล่าเป็นเจี้ยหรือนิทาน ซึ่งประเพณีการเล่าเจี้ยมีมานานแล้วในดินแดนล้านนา การเล่าเจี้ยหรือนิทานนี้โดยปกติจะเล่าในงานสังคมต่างๆ โดยเฉพาะงานศพนับว่าจำเป็น เนื่องจากทำการฝังศพหรือเผาศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว บ้านของผู้ตายจะอยู่ในภาวะเศร้าสร้อยและเยือกเย็น ญาติพี่น้องมิตรสหายของผู้ตายจึงยังคงไปเยี่ยมเยือนบ้านของผู้ตายอยู่อีกหลายวัน บ้านในกรณีนี้เรียกว่า “เรือนเย็น” การเล่าเจี้ยจึงเกิดขึ้นเพื่อให้บ้านอบอุ่น ไม่เศร้าหมอง กล่าวกันว่าประเพณีการเล่าเจี้ยนี้ก่อให้เกิดภาวะ “อุ่นงันเรือนเย็น” เรื่องเล่าเจี้ยที่นิยมกันมากมักเป็นนิทาน ตำนาน ประวัติศาสตร์ ชาดกต่างๆ รวมถึงชาดกนอกนิบาต ที่ปราชญ์ล้านนาได้แต่งเอาไว้ แต่ในขณะที่เล่าเจี้ยอยู่นั้นผู้ฟังก็ก็อาจพูดสอดแทรกหรือถามนำต่างๆไปบ้างเพื่อให้เกิดความสนุกสนานขบขันและผู้เล่าก็อาศัยความสามารถพิเศษ ใช้สำนวนโวหารปฏิภาณสอดแทรกต่อเติมเรื่องเล่าเหล่านั้นให้มีชีวิตชีวามากขึ้น จนบางครั้งอาจมองว่าหยาบโลนทะลึ่งตึงตังไปบ้างก็ตาม บางคราวก็ไม่มีการเล่าเจี้ย ก็จะมีการ “เล่าคร่าว” ซึ่งก็คือ การอ่านเรื่องราวที่แต่งเป็นกวีนิพนธ์ที่เรียกว่า “คร่าวซอ” เรื่องที่นิยมกันมากได้แก่ หงส์ผาคำ อ้ายร้อยขอด หมาขนดำ จำปาสี่ต้น นางผมหอม กำก่าดำ เจ้าสุวัตรนางบัวคำ เป็นต้น แต่ปัจจุบันโลกของเรามีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าไปมาก เป็นยุคโลกาภิวัฒน์ ข้อมูลข่าวสารของทั่วโลกสามารถสื่อสารกันอย่างรวดเร็วไม่มีพรมแดนอีกแล้วจึงส่งผลให้ประเพณีการเล่าเจี้ยเรื่อมเสื่อมความนิยม หรือบางท้องที่อาจสูญหายไปแล้วก็ตาม ดังนั้นเรื่องพระนางจามเทวีและขุนหลวงวิรังคะที่จะนำมากล่าวถึงนี้ นำมาจากเจี้ยที่มีการเล่าทางวาจาสืบปากสืบคำต่อๆกันมาแต่โบราณกาล

ขุนหลวงวิรังคะ หรือ บะลังก๊ะ กษัตริย์ของชนเผ่าลัวะ สร้างอาณาจักรอยู่บริเวณเชิงเขาดอยสุเทพและที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ดังปรากฏหลักฐานเช่น เวียงนพบุรี เวียงเชษฐบุรี (เวียงเจ็ดลิน)และเวียงสวนดอก ก่อนถูกพญามังรายยึดรวบรวมเพื่อสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์(เชียงใหม่) ในปีพ.ศ. 1893 สมัยที่ขุนหลวงวิรังคะเรืองอำนาจนั้น พระนางจามเทวี ทรงเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย(ลำพูน) ทรงมีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก จึงเป็นเหตุให้ขุนหลวงวิรังคะหมายปองเป็นชายา แต่หากพระนางจามเทวีทรงปฏิเสธไปตรงๆก็เท่ากับเป็นการยั่วยุให้เกิดศึกสงคราม ดังนั้นจึงมีการออกอุบายว่า ถ้าหากขุนหลวงวิรังคะสามารถพุ่งหอกเสน้าจากเชียงใหม่มาถึงลำพูนได้ จะยอมเป็นชายาแต่โดยดี

ขุนหลวงวิรังคะทดลองพุ่งหอกเสน้าลงมาจากยอดดอยปุย ซึ่งการทดสอบพละกำลังในครั้งนี้ ปรากฏว่า ขุนหลวงวิรังคะสามารถพุ่งหอกเสน้าไปตกใกล้เมืองลำพูน ปัจจุบันเรียกว่า “หนองเสน้า” อยู่หลังวัดมหาวันนอกกำแพงเมืองลำพูน ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อพระนางจามเทวีเห็นดังนั้นจึงวางแผนที่จะกำจัดคุณไสย และทำการข่มกฤติยามนตร์ของขุนหลวงวิรังคะ ด้วยการใช้ผ้าซิ่นซับชั้นในที่เปื้อนเลือด(ปัจจุบันก็คงเป็นผ้าอนามัย ซึ่งสมัยก่อนผู้หญิงเวลาเป็นระดู ก็ใช้ผ้าที่เย็บไว้สำหรับขี่ม้านั่นเอง) นำมาเย็บเป็นหมวก ซ่อนขนเพชรไว้ในอมเมี้ยง และใช้ปลายของใบพลูสอดเข้าไปในโยนี แล้วจัดการส่งเป็นของกำนัลแก่ขุนหลวงวิรังคะโดยกำชับให้ใช้สิ่งของเหล่านั้นในวันนัดประลองพุ่งหอกเสน้า ดังนั้นเมื่อขุนหลวงวิรังคะอมเมี้ยง เคี้ยวหมากและสวมหมวกใบนั้น ทำให้ไม่สามารถพุ่งหอกเสน้าด้วยเวทย์มนตร์เหมือนคราวแรก เพราะปรากฏว่าหอกเสน้าตกอยู่แค่เชิงดอยสุเทพเท่านั้น ทำให้พระนางจามเทวีชนะ ไม่ต้องตกเป็นชายาของขุนหลวงวิรังคะ แต่เหตุการณ์กลับร้ายแรงไปกว่านั้น กล่าวคือขุนหลวงวิรังคะเกิดความอับอายและเสียใจจนอกแตกตาย ชาวลัวะจึงนำศพขุนหลวงวิรังคะไปฝังบริเวณดอยคว่ำหล้อง (คว่ำโลง) โดยแห่ศพมาตามสันเขาจากบริเวณดอยสุเทพ

ซึ่งปัจจุบันยังมีศาลขุนหลวงวิรังคะที่ชาวบ้านนับถือกันมาก ตามที่เล่ากันมาว่า ศพของขุนหลวงวิรังคะอยู่บริเวณยอดดอยคว่ำหล้อง มีความศักดิ์สิทธิ์มากในเรื่องความรักของหนุ่มสาว ในวันขึ้นปีใหม่(1 มกราคม)ของทุกปีชายหนุ่มหญิงสาวเผ่าม้ง (แม้ว) ในหมู่บ้านม้งหนองหอย ตำบลแม่สาใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากถนนเชียงใหม่ – สะเมิง ประมาณ 8 กิโลเมตรจะขึ้นไปขอให้ขุนหลวงวิรังคะช่วยให้สมหวังในเรื่องความรักหลังจากนั้นก็จะจูงมือกันเข้าป่าไปเป็นคู่ๆ รวมทั้งหนุ่มสาวจากทั้วทุกสารทิศ ก็ยังพากันมาอธิษฐานขอให้สมหวังในเรื่องของความรัก ซึ่งก็มักจะสมหวังจริงๆ เพราะเชื่อว่าขุนหลวงวิรังคะผู้ซึ่งผิดหวังเรื่องความรักจะเห็นใจคู่รักทุกคู่ ทิวทัศน์บริเวณยอดดอยคว่ำหล้องนี้งดงามมากมองเห็นยอดดอยปุย ยอดดอยอินทนนท์ ในเขตอำเภอจอมทองและมองเห็นเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนได้ดี

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น