6 เมษา วันรำลึก “มหาจักรีวงศ์”

เนื่องในวันที่ 6 เมษายนของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 ซึ่งนับถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 237 ปีมาแล้ว

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระอัจฉริยภาพไม่ว่าจะเป็นในด้านการสงคราม การศาสนา การปกครอง การศิลปวัฒนธรรม รวมถึงทรงเป็นผู้ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีใหม่แทนกรุงธนบุรี นอกจากนั้นทรงฟื้นฟูบ้านเมืองในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการสร้างพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขุดลอกคูคลอง วัดวาอารามต่าง ๆ ทั้งที่สร้างขึ้นใหม่และที่ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ การป้องกันประเทศและทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ สถาปัตยกรรม วรรณกรรม งานช่างปิดทอง ช่างประดับมุก ช่างเขียน ช่างแกะสลัก เป็นต้น

การจัดงานวันรำลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือที่เรียกว่า “วันจักรี” นั้นเริ่มต้นเมื่อ ปี พ.ศ.2461 ด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้นทรงคุณเอนกอนันต์ต่อประเทสชาติ พึงที่ควรจะระลึกถึง ในการจัดงานดังกล่าวจึงทรงเลือกเอาวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปราบดาภิเษกจากเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมรามาธิบดีศรีสินธร มหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325

ดังนั้นในงานวันจักรีที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2461 นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้อัญเชิญพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 – 5 ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท มาประดิษฐาน ณ ปราสาทเทพบิดร เพื่อให้ประชาชนเข้ามาสักการะบูชาและถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2475 เนื่องในวโรกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีพระราชดำริที่สร้างอนุสรณ์เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นและพระราชทานนามว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” รวมถึงโปรดเกล้าฯให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงถึง 3 เท่าในท่าทรงประทับนั่งบนพระที่นั่งกง พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ประดิษฐาน ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า

เป็นที่ทราบกันแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี อีกทั้งยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงทำนุบำรงบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรือง สมดั่งพระราชปณิธานที่แน่วแน่ว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภ์ภก ยอยกพระพุทธศาสนา จะป้องขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี” พระองค์จึงทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายหลายประการ

ประการแรกทรงโปรดเกล้าฯให้มีการสร้างราชธานีขึ้นใหม่แทนกรุงธนบุรี ซึ่งพระองค์ทรงใช้เหตุผลทางยุทธศาสตร์ก็คือ ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้นแผ่นดินมีลักษณะเป็นหัวแหลม อีกทั้งยังมีแม่น้ำเป็นคูเมือง ส่วนทางทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นชัยภูมิรับศึกได้เป็นอย่างดีและไกลออกไปทางทิศตะวันออกก็เป็นที่ราบลุ่มดินอ่อนเป็นโคลนเลน เป็นปราการด่านป้องกันศัตรูได้เป็นอย่างดี ประการที่สองทางฝั่งพระนครเดิม (กรุงธนบุรี) นั้นมีลักษณะคล้ายกับเมืองอกแตกแบบเมืองพิษณุโลก ซึ่งเคยเป็นสมรภูมิรบกับพม่ามาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นยุทธภูมิที่ไม่เหมาะในการตั้งรับข้าศึก อีกทั้งแม่น้ำเจ้าพระยามีขนาดใหญ่และลึกมากทำให้ไม่สะดวกในการที่จะส่งทหารข้ามไปมาระหว่างกัน ประการที่สามบริเวณโดยรอบของพระราชวังเดิมเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญ 2 แห่ง คือ วัดอรุณราชวรารามและวัดท้ายตลาด (วัดระฆังโฆษิตาราม) ทำให้การขยายพระนครเป็นไปได้ไม่สะดวกนัก และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ บริเวณพระรางวังเดิมมีลักษณะเป็นคุ้งน้ำ ทำให้น้ำเซาะตลิ่งได้ง่ายไม่เหมาะสำหรับการสร้างพระนคร

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงใช้เวลาในการสร้างพระนครนานถึง 2 ปี มีกำแพงเมืองและป้อมปราการที่มั่นคง เขตกำแพงพระนครนั้นมีอาณาเขตตั้งแต่มุมพระนครด้านเหนือตรงปากคลองบางลำพูริมป้อมพระสุเมรุ เลียบริมคูคลองพระนครมาทางตะวันออกจนถึงป้อมมหากาฬ ก็ตัดลงมาทางทิศใต้จนถึงปากคลองโอ่งอ่างริมป้อมจักรเพชร แล้วจึงตัดกลับขึ้นไปทางทิศตะวันตกเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงมุมกำแพงพระบรมมหาราชวัง

กำแพงพระนครที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 นั้นก่อด้วยอิฐถือปูนมีเชิงเทินข้างใน บนสันกำแพงก่อสร้างใบเสมาสำหรับบังทางขึ้นโดยเว้นระยะเสมอกันรอบพระนคร บริเวณใต้ฐานเสมาด้านนอกกำแพงถือปูนขึ้นทำลวดลายบังผ่าหวาย 2 ชั้น ชักเป็นหน้ากระดาน ที่พื้นเจาะเป็นช่องกากบาทอยู่ตรงกลางช่อง ระหว่างใบเสมาทำเป็นช่องสอดปืนเล็กสำหรับใช้ยิงเมื่อคราวสงคราม กำแพงพระนครที่เหลือให้เห็นในปัจจุบันคือ บริเวณริมคลองรองพระนคร ตรงด้านหน้าวัดราชนัดดารามและวัดบวรนิเวศวิหาร

นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยังทรงโปรดเกล้าฯให้ขุดคูเมืองทางทิศตะวันออก เรียกว่า “คลองบางลำพูหรือคลองโอ่งอ่าง” พระองค์ทรงพยายามจัดผังเมืองให้มีความคล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยามากที่สุด สร้างวัดเป็นหลักของพระนครคือวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะและวัดพระเชตุพลวิมนมังคลาราม (วัดโพธิ์) ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนว่าไทยเราได้ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่แล้วเหมือนในสมัยอยุธยา และทรงพระราชทานนามราชธานีแห่งใหม่นี้ว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์” โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2326 แล้วเสร็จเมื่อ ปี พ.ศ.2328
หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างพระนครเสร็จ พม่าก็ยกทัพใหม่เข้ามาตีเมือง เรียกสงครามในครั้งนั้นว่า “สงคราม 9 ทัพ” เมื่อพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์อลองพญา เสด็จขึ้นครองราชสมบัติและสร้างราชธานีขึ้นใหม่ชื่อว่า “อมรปุระ” มีพระราชประสงค์ที่จะปราบหัวเมืองต่า งๆ ให้ราบคาบเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระเกียรติ ทรงเริ่มปราบหัวเมืองมอญและไทยใหญ่ได้ราบคาบ ประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติด้วยการปราบปรามประเทศไทย จึงได้รวบรวมไพร่พลได้ถึง 144,000 คนกรีฑาทัพเข้าตีประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 9 ทัพใหญ่ รุกเข้ามาพร้อมกันถึง 5 เส้นทาง

ทางทิศเหนือพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางเมืองเชียงแสน ตีเมืองลำปาง สวรรคโลก สุโขทัยและหัวเมืองทางด้านแม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำยม อีกด้านเข้าตีหัวเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง เริ่มตั้งแต่เมืองระแหง (ตาก) เมืองกำแพงเพชรลงมา ส่วนทางทิศใต้เข้ามาทางด่านตีตี้ ตั้งทัพที่เมืองมะริด โดยเข้าตีตั้งแต่เมืองชุมพรจนถึงสงขลา ในส่วนกองทัพเรือที่ยกเข้ามาตีหัวเมืองทางชายฝั่งตะวันตก เข้าตีตั้งแต่เมืองตะกั่วป่าจนถึงเมืองถลาง และทัพอีกทางหนึ่งเข้าตีเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี และยกทัพไปสมทบกับทัพเรือที่เข้ามาทางด่านเมืองมะริด ส่วนทัพหลวงมีพระเจ้าปดุงเป็นแม่ทัพบัญชาการรบเอง ตั้งค่ายที่เมาะตะมะ และยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบว่าพระเจ้าปดุงยกทัพเพื่อเข้าตีกรุงเทพนั้น ทรงวางแผนการรบอย่างรัดกุม ด้วยทรงมีกำลังทหารเพียงครึ่งหนึ่งของกองทัพพม่า คือ เพียง 70,000 คนเศษ ได้ทรงใช้ยุทธวิธีใหม่ในการทำศึกสงครามครั้งนี้ ทรงแบ่งไพร่พลออกเป็น 4 กอง ดังนี้

กองที่ 1 ได้กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมราชวังหลัง คุมไพร่พล 25,000 คน ยกทัพไปตั้งรับพม่าที่เมืองนครสวรรค์และเมืองราชบุรี

กองที่ 2 ทรงส่งพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล คุมไพร่พล 20,000 คน ยกทัพไปตั้งรับพม่าที่เมืองกาญจนบุรี ตั้งค่ายมั่นที่ทุ่งลาดหญ้าเชิงเขาบรรทัด คอยสกัดพม่าไม่ให้ลงมาจากเขาได้ กองทัพพม่าจึงต้องหยุดตั้งค่ายที่เชิงเขา จากนั้นได้จัดหน่วยกองโจรเข้าปล้นเอาเสบียงกองทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร ทำให้ต้องรับเสบียงอาหารจากแนวหลังแต่เพียงทางเดียว เมื่อเข้ารบพุ่งกันพม่าจึงพ่ายแพ้อย่างง่ายดาย เมื่อได้รับชัยชนะแล้วพระอนุชาธิราชจึงรีบยกทัพขึ้นไปช่วยตีพม่าที่ยกเข้ามาทางราชบุรีและเพชรบุรี และก็ได้รับชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง

กองที่ 3 ให้เจ้าพระยาธรรมากับพระยายมราช คุมไพร่พล 5,000 คน ไปตั้งกองที่เมืองราชบุรี

กองที่ 4 เป็นกองทัพหลวงตั้งมั่นอยู่ที่พระนคร มีไพร่พลจำนวน 20,000 คน สำหรับเป็นกองหนุน เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตีทัพต่างๆแตกพ่ายไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงยกทัพหลวงไปตั้งกองที่เมืองอินทรและสั่งให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเข้าตีพม่าที่ปากพิงแตกพ่ายไปจนถึงลำปาง

ส่วนทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางใต้ของไทยนั้น เข้าตีเมืองมะริดได้เรื่อยไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อถึงเมืองนครศรีธรรมราชเจ้าพระยานครพัดถูกพม่าลวงว่านครแตกแล้ว เจ้าพระยานครพัดเชื่องจึงพาครอบครัวหนีออกจากเมืองไป แต่มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้รวบรวมไพร่พลเข้าต่อสู้กับพม่า จนกระทั่งทัพของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลยกทัพเข้าไปช่วย จนสามารถเข้าตีทัพพม่าแตกพ่ายและเข้าตีพม่าเรื่อยไปจนถึงเมืองปัตตานี

จากชัยชนะในครั้งนี้ นอกจากจะรักษาบ้านเมืองเอาไว้เท่านั้น เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตีเมืองปัตตานี พระยาตรังกานูและพระยากลันตันก็รีบมาสวามิภักดิ์ด้วยเกรมขามในพระราชอำนาจ ด้วยพระปรีชาสามารถในด้านการสงคราม ทำให้ประเทศไทยได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้ พระองค์ทรงตรากตรำใช้สติปัญญาและความกล้าหาญเด็ดขาดตลอดพระชนม์ชีพในการทำสงครามเพื่อป้องกันพระราชอาณาจักร ตลอดสมัยของพระองค์มีการทำสงครามกับพม่าถึง 7 ครั้ง โดยกองทัพไทยได้ยกทัพไปตีเมืองตะนาวศรี เมืองมะริดและเมืองทวายในเขตแดนของพม่า อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้ฟื้นตัวจนมีความเข้มแข็งมากพอและยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวไทยเป็นอย่างมากอีกด้วย

หลังสงครามสงบ บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงชำระกฏหมายขึ้น ด้วยทรงเห็นว่ากฏหมายย่อมเป็นมาตราฐานในการกำหนดความสัมพันธ์ของประชาชนในประเทศ ว่าแต่ละคนมีสิทธิ์และหน้าที่ที่จะปฏิบัติต่อตนเอง ผู้อื่นและประเทศชาติอย่างไรบ้าง

เหตุที่สูญเสียกรุงศรีอยุธยาอย่างไม่เป็นชิ้นดี ทำให้พระราชกำหนดกฏหมายต่าง ๆ กระจัดกระจายไม่สามารถยึดถือเป็นหลักยุติธรรมของบ้านเมืองได้ ดังนั้นในปี พ.ศ.2347 จึงทรงมีพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาชำระกฏหมายที่มีอยู่ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ กฏหมายที่ทรงชำระนั้นได้ใช้สืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งกินเวลานานกว่า 131 ปี เรียกกฏหมายที่ชำระขึ้นใหม่ว่า “กฏหมายตราสามดวง”

ในด้านการบำรุงพระศาสนา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงทำนุบำรุงศาสนาเป็นอย่างมาก ได้แก่ ทรงชำระและสถาปนาพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ให้ดำรงสมณศักดิ์รับผิดชอบศาสนจักรให้รุ่งเรือง และยังได้ทรงตราพระราชกำหนดกฏหมายกวดขันความประพฤติของพระสงฆ์ไว้อย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสังคายนาพระไตรปิฏกขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ในพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องบริบูรณ์เป็นหลักในการศึกษาค้นคว้า ประการสุดท้ายทรงมีพระราชศรัทธาก่อสร้างและซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระอารามน้อยใหญ่ไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวราราม และโปรดเกล้าฯให้สร้างพระเจดีย์ศรีสรรเพชญ์ขึ้นในวัดพระเชตพนฯ บรรจุซากพระพุทธรูปศรีสรรเพชญ์ดาญาณที่พม่าเผาลอกเอาทองหุ้มไป

จึงนับได้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นฟ้าล้นแผ่นดิน ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร เนื่องในวโรกาสครบรอบวันจักรี 6 เมษายน ที่จะเวียนมาบรรจบ จึงใคร่เชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมสักการะรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในการที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เป็นพระคุณอย่างยิ่งต่อแผ่นดินไทย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น