“ไหว้ผี” ช่วงปี๋ใหม่เมือง ฉายศรัทธาจารีตล้านนาเฉิดฉัน

ตามหลักมานุษยวิทยาเชื่อว่า ผีเป็นระบบความเชื่อในสังคมเกษตรกรรมทุกแห่งทั่วโลก มายาคติสื่อถึง จิตวิญญาณผ่านรูปแบบพิธีกรรม การแสดงออกของผู้คนแต่ละถิ่นฐานแตกต่างกันไป

สังคมคนเมือง ที่หมายถึงผู้อยู่ในภาคเหนือของไทย ปัจจุบันและตามหัวเมืองล้านนาในอดีต มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีว่าสิงอยู่ทุกแห่งหน เป็นโลกเหนือธรรมชาติ ที่หลักวิทยาศาสตร์ อธิบายเหตุผลไม่ได้ คำสอนของพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ย ผู้สูงวัย บอกเล่าความจากรุ่นสู่รุ่นว่า” เปิ้นหันเฮาทุกตี้ แต่เฮาบ่หันเปิ้นซักตี้” นั่นหมายถึงสิ่งศักดิ์ สิทธิ์ ที่อิงแอบในจิตใจ ล้วนเฝ้ามอง เห็นเราตลอดเวลา

การนับถือผี ไหว้ผี ในช่วงประเพณีปี๋ใหม่เมือง หรือเทศกาลสงกรานต์ ในภาคเหนือ ยังคงสืบสานต่อๆกันมา แม้วันเวลาตามยุคสมัย จะก้าวไกลเกินกว่าจะเชื่อเรื่องพรรค์นี้ แต่ในกลุ่มลูกหลานคนเมือง ที่ยังนบนอบต่อ จารีต วัฒนธรรมอันงดงาม จะนำข้าวของ เซ่นไหว้ บรรจุในภาชนะหรือ ถุงหิ้ว มีทั้ง อาหาร คาวหวาน น้ำดื่ม ไปยังจุดที่เรียกว่า ศาลเจ้านาย

การถือผีปู่ย่าตายาย จะนับสายตระกูลฝ่ายแม่ ยกย่องฝ่ายหญิงเป็นแกนหลักของครอบครัวในเรื่องนี้ ทำให้ลูกๆต้องนับถือผีทางแม่ และเมื่อลูกชายแต่งงาน ออกเรือนไป ต้องนับถือผีฝ่ายภรรยาแทน แม้ข้อห้าม ผิดผี ให้อายผีบ้าน ผีเรือน จะเป็นกฎกำหนดให้คนรุ่นต่อๆมา ทั้งหญิงและชาย ระมัดระวัง อย่าถูกเนื้อ ต้องตัวกันก่อนแต่งงาน หากนำมาบังคับใช้สมัยนี้ คงผิดผีกันทั่วบ้าน ทั่วเมือง

กุศโลบายในการนำข้าวของ อาหาร เครื่องเซ่นไหว้ไปยังศาลเจ้านายตามสายตระกูล รวมถึง ศาลเสื้อบ้าน เป็นอีกกลวิธีที่แยบยลของคนรุ่นเก่าๆ ชักนำให้บรรดาญาติพี่น้องในสายตระกูล สาแหรกเดียวกันมารวมพลพร้อมหน้า ทำให้รับรู้ว่า ชีวิตมีรากเหง้า มีความเกี่ยวดองกัน ในญาติทางสายแม่ ด้วยความเชื่อ ความศรัทธาเชิงมายาคติเช่นนี้ “ผี” จึงมีบทบาทต่อการสร้างความสามัคคีในหมู่เครือญาติ ตามคำสอนโบร่ำโบราณที่เน้นว่า “ผีเดียวกันต้องปันกันกิน”

บรรดาญาติพี่น้อง แม้จะไม่คุ้นเคยกัน ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม มีส่วนกำหนดวิถีชีวิต แต่รูปแบบทางสังคมที่เชื่อมถึงกันแบบไร้พรมแดน ผ่านความทันสมัยของอุปกรณ์สื่อสารสัญญานอินเทอร์เน็ต ก่อเกิดเรื่องราว ” ผีเดียวกัน” ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความเอื้ออาทร ช่วยเกื้อกูลกันตามกำลัง อาจเป็นเพียง กำลังใจ นั่นก็ตอกย้ำว่า “เรามีกันและกันเสมอ”

แทบไม่น่าเชื่อว่า ความงดงามของคนเมือง ที่ร้อยรัดกับพิธีกรรม ความเชื่อเชิงมายาคติ ในสิ่งเหนือธรรมชาติกลายเป็นสิ่งที่ยังคงเฉิดฉัน ( งดงาม) อยู่ในครอบครัวคนเมือง อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะชุมชนเกษตรกรรม สังคมพหุสังคม ท่ามกลางชุมชนบ้านจัดสรรที่อาจเฝ้ามอง พร้อมตั้งคำถามในใจที่ยากจะอธิบายให้เข้าใจ

สำหรับ “คนเมือง ” ชุมชนพหุสังคม ล้วนมีคำตอบที่ลงมือปฏิบัติ ค้นหาและเชื่อโดยไม่หาเหตุผล จากคำพร่ำสอน ด้วยผี สิงอยู่ในจิตวิญญานทุกคน จะเป็นผีบ้า เป็นผีบุญ สารพัดผีก็อยู่ที่ใจ ยิ่งช่วงปี๋ใหม่ หากเมาแล้วขับ ก็ได้เป็น “ผี”ทุกรายไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น