กรม อ. เผย 4 ห้องสะอาด Clean Room ศูนย์เชียงใหม่ พร้อมบริการประชาชน ลดสูดฝุ่นพื้นที่เสี่ยง

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ จัดห้องสะอาด (Clean Room) 4 จุด ได้แก่ ห้องสะอาดสำหรับผู้ป่วยใน สำหรับผู้ป่วยนอกและประชาชนทั่วไป และห้องเลี้ยงเด็กกลางวันนมแม่ (Daycare) พร้อมบริการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปในพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดปัญหาสูดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5ในพื้นที่ภาคเหนือยังคงต้องเฝ้าระวังสุขภาพกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมากรมอนามัยมอบให้ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ เร่งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาขนในทุกพื้นที่ทุกชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นจากส่วนกลางเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและใช้ป้องกันตนเองในช่วงวิกฤติฝุ่นภาคเหนือ เบื้องต้น

ในส่วนของกรมอนามัย ได้สนับสนุนแผ่นพับความรู้ 50,000 แผ่น โปสเตอร์ 400 แผ่น หน้ากากอนามัย 200,000 ชิ้น และหน้ากากป้องกัน ฝุ่น N95 อีก 6,500 ชิ้น และจากนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจัดเตรียมห้องสะอาด (Clean Room) พร้อมรองรับกลุ่มป่วย และประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยในส่วนพื้นที่ของศูนย์อนามัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการจัดตั้งห้องสะอาด (Clean Room) แล้ว 4 จุดด้วยกัน

โดยแยกเป็นห้องสะอาดสำหรับผู้ป่วยใน 2 ห้อง ผู้ป่วยนอกและประชาชนทั่วไป 1 ห้อง และห้องเลี้ยงเด็กกลางวันนมแม่ (Daycare) 1 ห้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงได้ใช้บริการ เพื่อสุขภาพที่ดีในวันที่พื้นที่ภาคเหนือยังคงประสบปัญหาวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการมีผู้ใช้บริการแล้วประมาณ 100 คน โดยในกรณีที่มีประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้ามาใช้ห้องสะอาดที่จัดเตรียมขึ้นภายใน ศูนย์อนามัยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะทำการคัดกรองผู้ที่มีอาการผิดปกติเบื้องต้น เช่น อาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หรือมีเสมหะ เจ็บคอ คอแดง และน้ำมูกใสไหล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่บุคคลอื่นที่อยู่ในห้องสะอาด

“ทั้งนี้ การจัดทำห้องสะอาด (Clean Room) นั้น สามารถทำได้ตั้งแต่ในบ้าน ที่ทำงาน และในที่ชุมชน หากเป็นห้องธรรมดาไม่มีเครื่องปรับอากาศ ควรเลือกห้องที่มีประตูหน้าต่างน้อยที่สุด และต้องปิดให้มิดชิดทำความสะอาดห้องอยู่เสมอโดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ไม่ควรใช้ไม้กวาดหรือเครื่องดูดฝุ่นเพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย และไม่ควรทำกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มขึ้น เช่น จุดเทียน จุดธูป สูบบุหรี่ หรือกิจกรรมอื่นที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน เป็นต้น สำหรับห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรตรวจสอบและทำความสะอาดแผ่นกรองทุกเดือนล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องแต่ละจังหวัดได้เร่งแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ออกประกาศกำหนดมาตรการเชียงใหม่เมืองปลอดภัยจากฝุ่นละออง หรือจังหวัดเชียงรายได้ประกาศเขตควบคุมเหตุรำคาญตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ขณะที่อีกหลาย ๆ จังหวัดภาคเหนือได้เฝ้าระวังสถานการณ์ แจ้งเตือน และรายงานโรค รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลป้องกันสุขภาพกลุ่มเสี่ยงโดยการออกเยี่ยมบ้าน ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่จึงยังคงต้องดูแลสุขภาพตนเองอย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งเรียนรู้และเข้าใจที่จะประเมินตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ โดยต้องเป็นผู้อาศัยในพื้นที่เสี่ยงและเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอาชีพอยู่กลางแจ้ง เช่น แม่ค้าแผงลอยริมถนน ตำรวจจราจร พนักงานกวาดถนน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืดเยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้ก่อนออกเดินทางหรือต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งควรตรวจเช็คค่าฝุ่นเพื่อเตรียมความพร้อม หากพบค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งลงหรือหากพบค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดง ให้งดกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด ปิดประตูหน้าต่างให้สนิทและควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำของหน่วยงานภาครัฐอย่างเคร่งครัด หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงฝุ่นสูงให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 และที่สำคัญหากพบอาการผิดปกติจากฝุ่นละออง หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ ควรต้องพบแพทย์ทันที

ร่วมแสดงความคิดเห็น