วัดหัวข่วงนางเหลียว วัดของเจ้านายเชื้อสายยองในลำพูน

ในจำนวนกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “ไท” นั้น มีประวัติศาสตร์และวิถีการดำเนินชีวิตอยู่ในดินแดนแถบเอเชียบูรพามาเนินนาน อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มคน “ไท” เป็นอารยชนที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลกก็ว่าได้ ด้วยชนกลุ่มนี้มีลักษณะที่พิเศษทั้งการดำเนินชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมรวมถึงภาษาที่เป็นเอกลักษณ์

ในอดีตชนชาติไท แบ่งแยกตัวเองออกตามชื่อของหมู่บ้านที่อาศัย ส่วนใหญ่จะพบในแถบพื้นที่ลุ่มทางตอนใต้ของจีน กลุ่มชาวยองก็นับเป็นกลุ่มชนหนึ่งที่มีชื่อรวมอยู่ในกลุ่มชนชาวไท มีประวัติศาสตร์ของการดำเนินชีวิตและแบบแผนประเพณีอันเป็นของตนเองมาช้านาน กลุ่มชนนี้เป็นเสมือนต้นบรรพบุรุษของประชาชนชาวลำพูน

ภายใต้นโยบายการกวาดต้อนผู้คนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ล้านนาของพระเจ้ากาวิละ หรือในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ในปี พ.ศ.2348 โดยการยกทัพไปปราบปรามกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองกาย เมืองวะ เมืองขาง เมืองกาย เมืองสาด เมืองลวง เมืองมาง รวมถึงสิบสองปันในจีน ฯลฯ ได้อพยพผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่แล้วให้กลุ่มคนยองมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองลำพูน ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในเขตที่ราบเชียงใหม่ – ลำพูน

การตั้งถิ่นฐานของชาวยองในลำพูนครั้งนั้น น่าจะมีเหตุผลที่หลากหลายออกไปตามสภาพทางสังคมและเงื่อนไขของเวลา โดยเฉพาะเป็นความประสงค์ของพระเจ้ากาวิละที่ให้บรรดาเจ้าเมืองยองและขุนนางชั้นปกครองเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บนฝั่งแม่น้ำกวง ตรงข้ามกับตัวเมืองลำพูนทางทิศตะวันออก ซึ่งในด้านการปกครองทำให้สามารถดูแลและควบคุมได้ใกล้ชิด ที่สำคัญไม่ต้องการให้เจ้าเมืองยองและบรรดาขุนนางต่างๆออกไปตั้งชุมชนชาวยองล้วนๆ ซึ่งจะเป็นการยากในการควบคุมและเป็นอันตรายต่ออำนาจการปกครองของกลุ่ม “เจ้าเจ็ดตน”

จากหนังสือ “คนยองเมืองลำพูน” ของอาจารย์แสวง มาละแซม ได้วิเคราะห์ถึงการอพยพเข้ามาแบบ “เทครัว” ของชนชาวยองในครั้งนั้นว่าแตกต่างจากการอพยพของชนชาวอื่น เนื่องเพราะกลุ่มเจ้าเมืองยองมีความสนิทสนมใกล้ชิดทางเครือญาติกับกลุ่มเจ้าเจ็ดตนในเมืองลำพูน ดังจะเห็นได้จากคราวที่กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ ยกไปถึงเมืองยอง เจ้าเมืองยองก็ได้ยก นางหน่อแก้วเกี๋ยงคำ น้องสาวต่างมารดาให้เป็นบาทบริจาคของเจ้าอุปราชธรรมลังกา ดังนั้นกลุ่มเจ้าเมืองยองจึงได้รับการดูแลเยี่ยงญาติผู้ใหญ่ที่ซึ่งอาศัยพึ่งพากันและกัน

ในการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยองในเมืองลำพูน เมื่อปี พ.ศ.2348 นั้น ชาวยองกลุ่มแรกที่เข้ามาได้แยกย้ายกันออกไปตั้งถิ่นฐานในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆในเมืองลำพูน จะมีเพียงผู้คนที่อพยพมาจากเมืองเชียงใหม่พร้อมกับเจ้าคำฝั้น ประมาณ 500 คนและมาจากเมืองลำปางพร้อมเจ้าบุญมาอีก 500 คนตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตกำแพงเมืองหรือใกล้ตัวเมือง ปัจจุบันคือบริเวณบ้านเวียงยอง ซึ่งกลุ่มคนที่มาจากเมืองยองประกอบด้วย เจ้าเมืองยอง บุตร ภรรยา ญาติพี่น้อง รวมถึงขุนนางชนชั้นปกครองต่างๆ

การจัดให้ชาวเมืองยองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนจำนวนมากนั้น มีผลทำให้เจ้าเมืองลำพูนต้องยกย่องให้เจ้าเมืองยองมีบทบาทในการปกครองเนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเจ้าเมืองลำพูน ซึ่งน่าจะมีการแต่งงานกันระหว่างเจ้านายและเครือญาติของเมืองทั้งสองในระยะต่อมา แต่ไม่ปราฏกหลักฐานแน่ชัด

หลังจากที่ชาวยองส่วนหนึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้เมืองลำพูน โดยเฉพาะที่บ้านเวียงยองนั้น เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มาจากอำเภอเมืองยอง จังหวัดเชียงตุง ประเทศพม่า ประกอบด้วย เจ้าเมืองยอง ญาติพี่น้องและชนชั้นปกครอง ซึ่งแต่เดิมเป็นศรัทธาของวัดหัวข่วงราชฐานในเมืองยอง แต่เมื่ออพยพมาตั้งถิ่นฐานในลำพูนจึงได้พร้อมใจกันสร้างวัดขึ้น ใช้ชื่อว่า “วัดหัวข่วงนางเหลียว” ปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่เหนือวัดหัวขัวขึ้นไปทางเหนือประมาณ 200 เมตร ต่อมาวัดหัวข่วงนางเหลียวถูกแม่น้ำกวงเซาะตลิ่งพัง ชาวยองสมัยนั้นจึงได้ย้ายวัดมาตั้งในปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ.2357 ใช้ชื่อว่า “วัดหัวขัว” อ.แสวง มาละแซม ยังได้กล่าวถึงวัดหัวข่วงไว้ในหนังสือ “คนยองเมืองลำพูน” ซึ่งเป็นวัดของเจ้านายเมืองยองว่า ครั้งหนึ่งเจ้าหนานหมื่นวงศ์สาม สกุลเจ้าเมืองยองทางมารดา เกิดที่บ้านเวียงยองได้บวชเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดหัวข่วง

หลังจากนั้นปรากฏว่าในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา เจ้าเชื้อสายเมืองยองฝ่ายชายเกือบทั้งหมดต้องบวชเรียนที่วัดหัวข่วงทุกคน เพราะในบริเวณวัดหัวข่วงยังมีกู่อัฐิของเจ้าเชื้อสายเมืองยองอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มเจ้าเมืองยองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านเวียงยอง แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันวัดหัวข่วงกลายเป็นวัดร้างอยู่ในที่เอกชน ซึ่งเมื่อลองเข้าไปสำรวจจะพบเศษอิฐและซากเจดีย์ปรากฏให้เห็นอยู่ ส่วนเศียรพระพุทธรูปและโบราณวัตถุที่ค้นพบถูกนำไปเก็บไว้ที่ “หอสิบสอง” ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่ประจำหมู่บ้านเวียงยอง

ประเพณีความเชื่อของชาวยองประการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้และดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากความเชื่อของคนเมืองลำพูนก็คือ การตั้งศาลเทวบุตรหลวง ความเชื่อในการนับถือผีของชาวยองที่มีแต่ดั้งเดิมนั้น มี 2 ชนิดคือ “ผีดี” และ “ผีร้าย” ผีร้ายหมายถึง ผีกะ ผีปอบ ซึ่งปัจจุบันหมดไปจากความเชื่อในสังคมคนยอง ส่วนผีดีนั้นได้แก่ เทวบุตรหลวง ซึ่งจะคอยปกป้องคุ้มคอยให้อยู่เย็นเป็นสุข ในหนังสือ “ประวัติวัดหัวขัว” เขียนโดยพระครูสังวรญาณประยุต กล่าวถึงการบูชาศาลเทวบุตรหลวงว่า เป็นความเชื่อที่ชาวยองให้ความนับถือมาตั้งแต่อดีต ในสมัยที่เจ้าเมืองยองอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเวียงยองในระยะแรกนั้นก็มีการอัญเชิญเทวบุตรหลวงมาจากเมืองยองด้วย นอกจากนั้นแล้วในสมัยของเจ้าหลวงเมืองลำพูนทุกพระองค์จะให้ความเคราพนับถือเทวบุตรหลวงโดยเฉพาะเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ก็เคยมาขึ้นขันหลวงบูชาเทวบุตรหลวงในช่วงวันปากปี (16 เมษายน) เป็นประจำทุกปี

ด้วยเหตุนี้สังคมของชาวยองที่บ้านเวียงยอง จังหวัดลำพูนจึงถูกยกย่องในฐานะกลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองยอง ที่พัฒนาขึ้นอยู่ร่วมกับกลุ่มคนอื่นๆได้อย่างผสมกลมกลืน ทั้งแบบประเพณี วิถีชีวิตและความเชื่อที่มีคนยองเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น