ย้อนอดีตดูคนเชียงใหม่เล่นน้ำปี๋ใหม่เมือง

งานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ถือได้ว่าเป็นประเพณีโบราณของคนภาคเหนือ ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของคนล้านนาถือเอาวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็น “วันสงกรานต์ล่อง” หรือ “วันสังขารล่อง” หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็น “วันมหาสงกรานต์” ซึ่งอาจจะไม่ตรงตามประกาศของทางราชการเสมอไป ตามความเชื่อของคนล้านนาในปีนี้ถือเอาวันที่ 13 เมษายนเป็นวันสงกรานต์

กล่าวกันว่าก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 12 เมษายนย่างวันที่ 13 จะเป็นวันสงกรานต์ล่องหรือสังขารล่อง ปู่สงกรานต์หรือย่าสงกรานต์จะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีแดงสยายผมล่องแพไปตามลำน้ำ ปู่หรือย่าสงกรานต์นี้จะนำสิ่งไม่ดีทั้งหลายตามตัวมาด้วย จึงต้องมีการยิงปืนจุดประทัดหรือทำให้เกิดเสียงดังซึ่งถือเป็นการไล่สงกรานต์และชาวบ้านยังถือกันว่า ปืนที่ใช้ยิงไล่ในวันสงกรานต์แล้วจะมีความขลังมาก

ปัจจุบันประเพณีการรดน้ำดำหัวของคนล้านนาได้รับเอาวัฒนธรรมจากภาคกลางมาใช้ มีการใช้น้ำอบน้ำหอมแทนน้ำขมิ้นส้มป่อย จึงทำให้รูปแบบการรดน้ำดำหัวของล้านนาเปลี่ยนแปลงไป

การเล่นน้ำปี๋ใหม่เมือง หรือ เล่นน้ำสงกรานต์ของคนเชียงใหม่ในอดีต เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่เมืองจะตรงกับเดือนเมษายนซึ่งเป็นฤดูร้อน ในช่วงนี้เองแม่น้ำปิงจะแห้งเหลือแต่ดอนทรายกลางน้ำ ในภาพจะเห็นฝูงคนพากันลงเล่นน้ำปิงบริเวณใต้สะพานนวรัฐ ชาวเชียงใหม่ เรียกว่า “ขัวเหล็ก” ส่วนอีกภาพเป็นการเล่นน้ำปีใหม่บริเวณเชิงสะพานนวรัฐฝั่งทิศตะวันตกบริเวณแยกพุทธสถาน สังเกตุในภาพจะเห็นคนถือสลุงเงินใส่น้ำเดินรดน้ำให้กับผู้คนที่มาเที่ยว ซึ่งภาพต่างๆเหล่านี้ภาพไว้เมื่อราว 50 – 60 ปีก่อน สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตขนบประเพณีการเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์หรืองานประเพณีปีใหม่เมืองของคนเชียงใหม่ที่ไม่สามารถพบได้ในปัจจุบันแล้ว

อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเพณีการเล่นน้ำสงกรานต์ของล้านนาจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร อย่างน้อยก็ยังมีด้านดีไว้ให้ได้ซึมซับถ่ายทอดเป็นมรดกที่ดีงามให้ลูกหลานได้ถือปฏิบัติกันอยู่บ้าง การจะเล่นน้ำสงกรานต์อย่างไร แบบไหนก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญานของแต่ละท่าน อย่างน้อยก็อย่าให้กระแสวัฒนธรรมจากข้างนอกเข้ามากลืนกระแสวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ดีงามของล้านนาก็แล้วกัน

บทความโดย
จักรพงษ์   คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น