แอ่ว “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” สระเกล้าดำหัวในวันปีใหม่

งานเทศกาลปี๋ใหม่เมือง คนเมืองเรียกว่า “ปเวณีปี๋ใหม่เมือง” หรือ “งานเทศกาลสงกรานต์” เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ที่อื่น งานประเพณีสงกรานต์ของชาวล้านนาถือได้ว่าติดอันดับหนึ่งของงานประเพณีสงกรานต์ที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก สีสันของงานสงกรานต์

ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาสัมผัสกลิ่นไอและประเพณีเมืองเหนืออยู่อย่างไม่ขาดสาย นักท่องเที่ยวสามารถเล่นน้ำสงกรานต์ได้ตลอดแนวฝั่งของคูเมือง นอกจากนั้นยังมีการประกวดนางสาวสงกรานต์ ซึ่งได้รับความสนใจไม่แพ้งานเทศกาลต่าง ๆ ของเชียงใหม่ด้วย

เทศกาลสงกรานต์ของเมืองเชียงใหม่ได้ชื่อว่า เป็นเทศกาลที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ทุกปีเมื่อถึงช่วงเวลานี้ถนนรอบคูเมืองจะคราคร่ำไปด้วยทั้งรถทั้งคนลูกเล็กเด็กแดงต่างสนุกสนานเฮฮา ภาพเช่นนี้ปรากฏออกไปยังทั่วประเทศจนชื่อเสียงของงานสงกรานต์เชียงใหม่เป็นที่ใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวที่จะต้องเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศเช่นนี้ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 12 – 15 เมษายนมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมพื้นเมืองมากมาย เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน จัดให้มีงานถนนคนเมือง เป็นการจำหน่ายอาหารพื้นเมืองของเชียงใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวงานสงกรานต์เชียงใหม่ช่วงรอยต่อระหว่างวันที่ 12 จะเข้าวันที่ 13 ถือเป็นวันสังขารล่องจะมีการจุดประทับเพื่อขับไล่สังขารในปีเก่าต้อนรับสังขารในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ตามหมู่บ้านในชนบทจะมีการแห่เครื่องดนตรีพื้นเมืองไปรอบ ๆ หมู่บ้าน ในตอนเช้าวันที่ 13 เมษายน ที่บริเวณลานเอนกประสงค์ข่วงประตูท่าแพ มีการจัดบรรยากาศย้อนยุคย้อนสมัยด้วยการแต่งกายพื้นเมือง

นอกจากนี้ยังมีจำลองกาดหมั่ว จำหน่ายอาหารพื้นเมืองเพื่อให้ชาวบ้านได้มาจับจ่ายหาซื้อข้าวของ เพื่อนำไปทำบุญที่วัดในวันพญาวัน ในงานวันที่ 13 เมษายนมีการประกวดแม่หญิงขี่รถถีบกางจ้อง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของงานสงกรานต์ไปเสียแล้ว โดยตลอดสองฟากฝั่งถนนที่ขบวนผ่านได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและคนไทยเป็นจำนวนมาก ในช่วงสาย ๆ หนุ่มสาวจะพากันออกมาเล่นสาดน้ำสงกรานต์ที่บริเวณรอบคูเมือง ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะพากันจับกลุ่มนั่งฟังธรรมอยู่ที่วัด พอถึงตอนบ่ายก็จะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ พระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ขึ้นรถบุษบกแห่แหนไปรอบ ๆ เมืองเพื่อให้ศรัทธาประชาชนไปสรงน้ำ

ซึ่งการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกมาสรงน้ำนี้ได้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติของชาวเชียงใหม่ในช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมืองไปเสียแล้ว ในวันที่ 14 ถือเป็นวันเนาว์ หรือ วันเน่า ชาวบ้านจะไม่ทำร้ายหรือด่าทอกันเพราะถือว่าถ้าคนไหนทำจะทำให้ในตลอดปีจะโชคร้าย ในตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด เป็นประเพณีที่จะต้องปฏิบัติในวันปี๋ใหม่เมืองโดยเฉพาะตามหมู่บ้านชนบทยังคงรักษารูปแบบดั่งเดิมเอาไว้

ผู้เฒ่าผู้แก่มีการแต่งกายพื้นเมืองหอบหิ้วเอาขัน หรือ สลุง พากันไปขนทรายจากท่าน้ำเพื่อมาก่อเป็นเจดีย์ทรายภายในวัด ในวันที่ 15 เมษายน เป็นวันพญาวัน ชาวบ้านจะพากันไปทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลไปหาญาติพี่น้องที่ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับมาที่บ้านเพื่อทำความสะอาดปัดกวาดบ้านเรือน ที่หลับที่นอนและนำเสื้อผ้าออกมาซัก พอถึงวันที่ 16 เมษายน ชาวบ้านเรียกว่า “วันปากปี” จะมีพิธีดาครัว นำน้ำขมิ้นส้มป่อยไปสระเกล้าดำหัว ผู้เฒ่าผู้แก่และผู้สูงอายุในหมู่บ้านที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะของงานปเวณีปี๋ใหม่ของล้านนา

ส่วนตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ จะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันไป เช่นที่จังหวัดลำปางมีการนำพระแก้วมรกตจากวัดพระธาตุลำปางหลวงออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำและมีงานประเพณีแห่สลุงหลวง ในวันที่ 12 เมษายน ที่จังหวัดลำพูนมีการนำพระรอดหลวงจากวัดมหาวันออกมาให้ศรัทธาประชาชนได้สรงน้ำในวันสงกรานต์ที่ 13 เมษายน

ด้วยความเรียบง่ายและแรงศรัทธาที่มีต่อการนับถือพระพุทธศาสนาของชาวล้านนา ถือเป็นแรงเกื้อหนุนให้งานประเพณีที่สำคัญเหล่านี้ดำรงอยู่ไม่สูญสลายไปตามกาลเวลาและการแข่งขันทางสังคมที่นับวันจะรุนแรง และน่าเป็นห่วงที่ว่า ต่อไปคนรุ่นหลังจะดำรงรักษา วัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่เช่นนี้ได้นานสักแค่ไหนหากกระแสการกลืนกินทางวัฒนธรรมยังคงไหลบ่าเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง ทว่าวิถีวัฒนธรรมของคนล้านนายังคงมีให้พบเห็นเมื่อเดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น