เมื่อความสุขไม่ได้วัดที่เงิน – กรณีศึกษาจากประเทศภูฏาน

เมื่อเรื่องนี้มันเกิดขึ้นจริงกับผู้คนใน “ประเทศภูฏาน” ประเทศเล็ก ๆ ที่มีขนาดพื้นที่เท่ากับ จังหวัดอุบลราชธานี ของประเทศไทย ที่ถูกขนานนามจากคนทั้งโลกว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก

ประเทศภูฏานมีแนวคิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ต่างจากประเทศอื่น โดยใช้แนวคิดที่เรียกว่า “ความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ GNH” ในขณะที่นานาประเทศต่างใช้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่วัดจาก GDP (มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ) ของประเทศ

แต่ทว่าหากวัดความเจริญก้าวหน้าแบบสากลอย่างตัวเลข GDP ประเทศภูฏานยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่รั้งท้าย เพราะที่นี่สอนให้ประชาชนอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมโดยที่ไม่ทำลายธรรมชาติ จำกัดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวยังภูฏาน ไม่เกินปีละ 8,000 คน เพื่อยังคงรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศเอาไว้ให้มากที่สุด

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาเล่าให้ฟังว่าแนวคิด “สุขมวลรวมประชาชาติ หรือ GNH” เป็นแบบไหนกัน แล้วทำไมประเทศเล็ก ๆ อย่างภูฏานจึงสามารถทำให้ประชาชนมีความสุขได้ โดยไม่พึงพิงจากสิ่งเร้าภายนอก และมาดูกันว่าแนวคิดใด ที่เราจะสามารถนำมาปรับใช้พัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้น่าอยู่ รวมถึงทำให้คนเชียงใหม่มีความสุขได้มากกว่าเดิมบ้าง

อ้างอิงรูปภาพจาก : www.gadventures.com

สุขมวลรวมประชาชาติ หรือ GNH เป็นแบบไหนกันล่ะ ?

จุดเริ่มต้นของแนวคิดคิดเรื่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness : GNH)” มาจาก สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเจ วังซุก อดีตกษัตตริย์ผู้เป็นพระราชบิดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน

แนวคิดแบบ GNH ทำให้ประเทศภูฏานมีระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการรักษาวัฒนธรรมและค่านิยมทางพระพุทธศาสนาของภูฏาน ในขณะที่นา ๆ ประเทศได้ไหวเวียนไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ แสดงให้เห็นว่าประเทศภูฏานมีการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้เน้นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เน้น “ความสุข”

ทั้งนี้นักวิชาการหลาย ๆ คนยังมองว่า การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวและเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของความสุข อีกทั้งยังทำให้เกิดผลเสียในหลายด้าน ทั้งความไม่เป็นธรรมในสังคม การสูญเสียความสมดุลของธรรมชาติ และมลภาวะแวดล้อมเป็นพิษ

โดยที่แนวคิดแบบ GNH มีหลักปฏิบัติสำคัญอยู่ 4 อย่าง คือ

การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน โดยการเข้ามาของระบบทุนนิยมจะเข้ามาอย่างช้า ๆ ถือเอาความสุขของประชาชนชาวภูฏานเป็นตัวตัดสิน ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นวัตถุสิ่งของ

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ประเทศภูฏานให้ความสำคัญ คือการพัฒนาใด ๆ ของประเทศต้องไม่ทำลายความสมดุลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ยกเลิกการค้าไม้กับต่างประเทศ อนุรักษ์พื้นที่ป่ากับสัตว์ป่า โดยพื้นที่กว่า 26% ของประเทศถูกจำกัดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า

อ้างอิงรูปภาพจาก : www.abercrombiekent.com

การส่งเสริมและรักษาวัฒนธรรมประเพณี รัฐบาลในประเทศภูฏานจะให้ความสำคัญกับประเพณี ศาสนา และวัฒนธรรมที่เคยถือปฏิบัติกันมา เช่นการแต่งกายตามวัฒนธรรม การสร้างบ้านเรือน หรือแม้แต่ความความเชื่อ ทางศาสนา โดยจะซึมซับความรู้ทาง ประเพณี ศาสนา และวัฒนธรรมไปกับการศึกษา ตำราเรียนทางวิชาการ

การส่งเสริมการพัฒนาธรรมาภิบาล การเน้นให้ประชาชนชาวภูฏานดำรงตนเองอยู่บนพื้นฐาน ของการช่วยพัฒนาสังคม ให้มีคุณภาพโดยยึดหลัก 6 ประการ เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นต้น

แล้วสภาพสังคมของประเทศภูฏานตอนนี้เป็นแบบไหนกันล่ะ ?

ในปัจจุบันประเทศภูฏานมีประชากรอาศัยอยู่ 750,000 คน ประชากรในประเทศส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธถึง 90% ซึ่งถ้าหากวัดดัชนีเศรษฐกิจด้วยตัวเลข GDP แล้ว ประเทศภูฎานจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความยากจนที่สุดในโลกลำดับที่ 191 จากจำนวน 226 ประเทศ โดยทางรัฐบาลของประเทศจะจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนคนละ 10 ไร่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาให้ประชาชนมีความสุขมากกว่าอย่างอื่น

อ้างอิงรูปภาพจาก : www.mountainkingdoms.com

สิ่งหนึ่งที่สำคัญจากนโยบาย GNH คือการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามายังประเทศภูฏานในแต่ละปีให้ไม่เกิน 8,000 คน และถึงแม้ว่าภูฏานจะมีรายได้หลักมาจากภาคของการท่องเที่ยวเหมือนเมืองเชียงใหม่ แต่ก็ทำด้วยความระมัดระวัง

และถึงแม้ภูฏานจะมุ่งเน้นขายวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่ยอมแปรสภาพของประเทศให้เป็นทุนเพื่อแลกกับเงินตราต่างประเทศอย่างไม่ลืมหูลืมตา ซึ่งถ้าหากคุณอยากจะเดินทางมาเที่ยวประเทศภูฏาน คุณต้องจ่ายภาษีต่อหัวถึงวันละ 200 เหรียญสหรัฐ ถือเป็นนโยบายที่จำกัดนักท่องเที่ยว มายังภูฏาน ทว่าเมื่อแลกกับธรรมชาติและวัฒนธรรมที่ได้รับการดูแลรักษาไว้อย่างดี ก็ถือว่าคุ้มค่า

พราะนโยบาย GNH ทำให้ประเทศภูฏานสามารถที่จะรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้ถึงร้อยละ 70 ของประเทศ จากการปลูกป่าทดแทนอย่าเคร่งครัด ทั้งนี้นโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ก็ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อยังคงรกษาแนวทางการพัฒนาประเทศ ที่ยึดหลักความสุขมวลรวมประชาชาติไว้

“ภูฏาน” ประเทศเดียวของโลกที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่ากับศูนย์ ตัวสะท้อนจากนโยบาย GNH ประเทศแรกและประเทศเดียวของโลก ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ สาเหตุง่าย ๆ เลยคือ ประเทศภูฏานมีพื้นที่ของป่าไม้ที่ปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมามากกว่าปริมาณคาร์บอนไดด์ออกไซด์ ที่ปล่อยออกมาปีละ 1.1 ล้านตัน

อ้างอิงรูปภาพจาก : www.travelherway.com

และถึงแม้ว่านา ๆ ประเทศไม่ได้เดินตามภูฏาน แต่ประเทศภูฏานเองก็เป็นตตัวสะท้อนที่จะทำให้ หลาย ๆ ประเทศหันมาอนุรักษณ์สิ่งแวดล้อม และหากถามว่าสิ่งใดที่สามารถทำให้ภูฏานนำเนินนโยบายนี้ได้สำดร็จ ก็มีอยู่ 2 ระดับหลัก ๆ คือ 1. นโยบายของภาครัฐที่อิงกับความยั่งยืน และ วิถีชีวิตที่อิงกับจิตวิญญาณของภูฏาน

การดำเนินนโยบายจากภาครัฐ

ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา รัฐบาลของประเทศภูฏานมีการดำเนินนโยบายที่จะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนลงอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำ โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชนอย่าง Nissan ที่ส่งเสริมให้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยรัฐลดราคาของรถพลังงานไฟฟ้า เพื่อที่ประชาชนสามารถที่จะเป็นเจ้าของได้ อีกทั้งมีการตั้งเป้าหมายที่จะเป็นรัฐบาลปลอดกระดาษในอีกไม่นาน โดยกำหนดว่าพื้นที่ป่าต้องไม่ต่ำกว่า 60% ของพื้นที่ทั้งหมด

จิตวิญญาณของชาวภูฏาน

ศาสนายังเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวภูฏานได้อย่างเหนียวแน่น และอิงกับการสร้างสังคม “ความสุขมวลรวมประชาชาติ”

มาถึงตอนนี้แล้วหลายคนคงสงสัยว่า แล้วศาสนามาอิงกับแนวคิด ความสุขมวลรวมประชาชาติ ได้ยังไง ? คำตอบอยู่ในนิยาม “นิยามความสุขมวลรวมประชาชาติ” ที่ได้สรุปไว้โดยสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเจ วังชุก ใจความสำคัญว่า

ตามหลักของพระพุทธศาสนาและปรัชญาที่มีอยู่ก่อนพุทธศาสนา เชื่อว่า ภูเขา, แม่น้ำ, ลำธาร, ก้อนหิน และดินของภูฏานมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ และหากว่ามีมลภาวะและสิ่งใด ๆ รบกวนก็ตาม จะทำให้เป็นสาเหตุของความตายและโรคภัยต่อวิญญาณเหล่านั้น และการที่ชาวพุทธเคารพต่อสรรพชีวิตต่าง ๆ จึงนำความเชื่อเหล่านี้ มาปรับใช้เป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสร้างมาจากรากฐานที่มั่นคงต่อสิ่งเหล่านี้ และเป้าหมายของพุทธศาสนาที่เชื่อว่าการทำกรรมใด ๆ ในชาตินี้ย่อมจะส่งผลกรรมดีกรรมชั่วต่อในชาติต่อไป

อ้างอิงรูปภาพจาก : www.cntraveler.com

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยความที่พระมหากษัตริย์ของภูฏานท่านทรงเป็นทั้งประมุขในทางการเมือง และผู้นำทางศาสนา “วัชรยานนิกายตรุกปะ” และปลุกจิตสำนึกด้านจิตวิญญาณในการสร้างภูฏานสีเขียว

ถ้าพูดโดยสรุปแล้ว ประเทศภูฏานแสดงให้เห็นว่า ความมั่นคงของประเทศไม่ได้วัดที่แค่ตัวเลข GDP เท่านั้น แต่หากต้องวัดที่สวัสดิภาพชีวิตของประชาชน ที่ไม่ได้ถูกคำนวนด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจ ที่ถูกฝังรากลึกลงไปจนถึง จิตวิญญาณของคนในชาติได้

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
อ้างอิงข้อมูลจาก : https://greennews.agency/?p=18755, http://www.oceansmile.com/Bhutan/Happiness.htm, https://www.scholarship.in.th

ร่วมแสดงความคิดเห็น