ขบวนแห่สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธรูปที่สำคัญในเมืองเชียงใหม่

การสรงน้ำพระพุทธรูปของชาวล้านนาแต่โบราณ จะทำกันในวัน วันสิ้นปีเก่า หรือ วันสังขานล่อง จะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป ชาวบ้านจะจัดเตรียมน้ำขมิ้นส้มป่อย โดยใช้ “ขันน้ำ” ที่เรียกว่า “สลุง” เติมน้ำแล้วนำฝักส้มป่อยปิ้งให้มีกลิ่นหอมหักใส่ลงไป พร้อมกับด้วยเกสรดอกไม้แห้งที่มีกลิ่นหอม เช่น ดอกสารภี หรือดอกคำฝอย ผสมให้เข้ากัน เพื่อรอสรงน้ำขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ผ่านหน้าบ้านที่จะเป็นสิริมงคลชัยตลอดปี


เทศกาลสงกรานต์ หรือ ปี๋ใหม่เมือง ของเชียงใหม่จะมีบรรดานักท่องเที่ยวออกมาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานตามบริเวณคูเมืองรอบ ๆ เชียงใหม่ ภาพของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่กำลังเล่นน้ำอย่างชุ่มฉ่ำจึงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป สำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะนิยมไปรับศีลฟังธรรมที่วัด พอสาย ๆ ก็จะกลับเข้าบ้านเพื่อทำความสะอาดบ้านและจัดเตรียมอาหารเพื่อนำไปถวายพระที่วัดในวันรุ่งขึ้น และที่เป็นประเพณีปฏิบัติทุกปี


การได้ร่วมสรงน้ำพระในขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นประเพณีในวันที่ 13 เมษายน และในปีนี้ก็ เช่น กันขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ จะเริ่มต้นที่บริเวณหน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ ในขบวนแห่มีพระพุทธรูปที่สำคัญๆของเชียงใหม่ เข้าร่วมขบวนมากมายในพิธี เช่น พระพุทธเสตังคมณีหรือพระแก้วขาว พระเจ้าฝนแสนห่า พระศิลา เป็นต้น ในช่วงบ่ายผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานในการกล่าวคำอาราธนาองค์พระพุทธสิหิงค์ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนออกจากหน้าสถานีรถไฟไปตามถนนเจริญเมืองผ่านสะพานนวรัฐ ถนนท่าแพแล้วเลี้ยวเข้าสู่ ถนนราชดำเนินไปสิ้นสุดที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เพื่อให้ประชาชนตลอดเส้นทางทั้งสองฝั่งได้สักการะสรงน้ำขมิ้นส้มป่อยอยู่ที่วัดนี้


ขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ จะมีรถอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัววัดต่าง ๆ ในเชียงใหม่ตามหลังรถบุษบกที่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ เพื่อให้ชาวเชียงใหม่ได้ร่วมสรงน้ำพระ ในขบวนยังมีขบวนตุง หมากสุ่ม หมากเบ็ง มีการแห่เครื่องดนตรีพื้นเมือง เช่น กลองสะบัดชัย กลองปู่แจ่ และยังมีขบวนสาวงามฟ้อนเล็บและศรัทธาจากหัววัดเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

พระพุทธเสตังคมณี พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ที่สำคัญองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่นนั้น ชาวบ้านเรียกว่า พระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะจากผลึกหินสีขาวขุ่น ขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้วสูง 6 นิ้ว ที่จะอัญเชิญเทศให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้ร่วมสรงน้ำองค์พระพุทธรูปเป็นประจำทุกปี

ด้วยความเชื่อว่าการได้สรงน้ำพระพุทธรูปอันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองในวันปีใหม่จะได้เป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว และประเพณีเหล่านี้ก็ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมานานแล้วจนมิอาจจะแยกออกจากชีวิตของคนเชียงใหม่ได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น