ประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ในวันสงกรานต์

บรรยากาศงานสงกรานต์หรือประเพณีปี๋ใหม่เมืองของจังหวัดเชียงใหม่ดูจะคึกคักเหมือนทุกปีที่ผ่านมา เพราะมีประชาชนทั้งในและต่างจังหวัดหลั่งไหลเดินทางมาเล่นน้ำสงกรานต์จนงานสงกรานต์เชียงใหม่กลายเป็นประเพณีที่รู้จักของนักท่องเที่ยวไปแล้ว

นอกจากการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ในตอนกลางวันแล้ว บรรยากาศในช่วงเช้าเราจะเห็นภาพของผู้คนทั้งหนุ่มสาวเฒ่าแก่ออกไปทำบุญที่วัดในวันปีใหม่ ด้วยเป็นเพราะเมืองเชียงใหม่และชาวล้านนานั้นมีประเพณีและวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน อีกทั้งคนเมืองเชียงใหม่เองนับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นพิธีกรรมต่าง ๆ จึงเกี่ยวข้องกับศาสนาเป็นส่วนใหญ่

สำหรับงานเทศกาลสงกรานต์ของเชียงใหม่ในปีนี้จัดขึ้นที่ข่วงประตูท่าแพ บรรยากาศโดยทั่วไปมีประชาชนให้ความสนใจ ในตอนเช้าจัดให้มีพระสงฆ์ออกรับบิณฑบาต สายหน่อยมีการประกวดแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง ซึ่งประเพณีเหล่านี้ได้ถือปฏิบัติกันมาเป็นประจำเทศกาลสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมืองของเชียงใหม่จะมีบรรดานักท่องเที่ยวออกมาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานตามบริเวณคูเมืองรอบ ๆ เชียงใหม่ ภาพของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่กำลังเล่นน้ำอย่างชุ่มฉ่ำจึงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป สำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะนิยมไปรับศีลฟังธรรมที่วัด พอสาย ๆ ก็จะกลับเข้าบ้านเพื่อทำความสะอาดบ้านและจัดเตรียมอาหารเพื่อนำไปถวายพระที่วัดในวันรุ่งขึ้น

และที่เป็นประเพณีปฏิบัติทุกปีเมื่อถึงวันสงกรานต์ก็คือ การออกไปสรงน้ำพระในขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งปฏิบัติกันเป็นประเพณีในวันที่ 13 เมษายน โดยขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์เริ่มต้นที่บริเวณหน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ ในขบวนแห่มีพระพุทธรูปที่สำคัญของเชียงใหม่ เข้าร่วมในพิธีเช่น พระพุทธเสตังคมณีหรือพระแก้วขาว พระเจ้าฝนแสนห่า พระศิลา เป็นต้น ในช่วงบ่ายผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานในการกล่าวคำอาราธนาองค์พระพุทธสิหิงค์ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนออกจากหน้าสถานีรถไฟไปตามถนนเจริญเมืองผ่านสะพานนวรัฐ ถนนท่าแพแล้วเลี้ยวเข้าสู่ถนนราชดำเนินไปสิ้นสุดที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหารเพื่อให้ประชาชนได้สักการะสรงน้ำขมิ้นส้มป่อยอยู่ที่วัดนี้

ขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์จะมีรถอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัววัดต่าง ๆ ในเชียงใหม่ตามหลังรถบุษบกที่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์เพื่อให้ชาวเชียงใหม่ได้ร่วมสรงน้ำพระ ในขบวนยังมีขบวนตุง หมากสุ่ม หมากเบ็ง มีการแห่เครื่องดนตรีพื้นเมือง เช่น กลองสะบัดชัย กลองปู่แจ่ และยังมีขบวนสาวงามฟ้อนเล็บและศรัทธาจากหัววัดเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

พระพุทธเสตังคมณี พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ที่สำคัญองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่นนั้น ชาวบ้านเรียกว่า พระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแกะจากผลึกหินสีขาวขุ่น ขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้วสูง 6 นิ้ว ตามตำนานกล่าวว่า แต่เดิมองค์พระแก้วขาวประดิษฐานอยู่ที่กรุงละโว้ ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13 เมื่อพระนางจามเทวี พระราชธิดาของพระเจ้าละโว้เสด็จขึ้นมาเป็นกษัตริย์ครองนครหริภุญไชย พระองค์ได้ทูลขอพระแก้วขาวมาประดิษฐานไว้ที่เมืองหริภุญไชยด้วย เพื่อทรงเคารพบูชาเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ ต่อมาในสมัยของพญายีบา พญามังราย ได้ยกทัพไปตีเมืองหริภุญไชยและเกิดความเลื่อมใสในพุทธานุภาพของพระแก้วขาวเป็นอันมาก จึงได้ทรงอัญเชิญพระแก้วขาวมาไว้เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ตั้งแต่นั้น และเมื่อทรงสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีแล้ว ได้ทรงนำพระแก้วขาวมาประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่นเป็นปฐมอารามจนสิ้นรัชกาล

ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย เมื่อทรงได้ปฏิสังขรณ์วัดเจดีย์หลวงกลางเวียงเชียงใหม่แล้วทรงอาราธนาพระแก้วขาวไปประดิษฐานคู่กับองค์พระแก้วมรกตในหอพระแก้ว ณ ราชกุฏาคารวัดเจดีย์หลวง กระทั่งสมัยพระยอดเชียงราย พระราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราชมีพระภิกษุนามว่าสุริยวงศ์ได้ลอบนำพระแก้วขาวลงไปกรุงศรีอยุธยาต่อเมื่อนครเชียงใหม่แต่งราชสาสน์ไปถวายและได้แต่งทัพไปตั้งที่กรุงศรีอยุธยาได้เดือนหนึ่งจึงได้พระแก้วขาวคืนมา

สมัยพระเจ้าไชยเชษฐา ซึ่งเชียงใหม่ได้เชิญเสด็จมาแต่ล้านช้าง เพื่อเถลิงราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 14 แห่งราชวงศ์มังรายเมื่อจะเสด็จกลับบ้านล้านช้างเพื่อสืบสันติวงศ์แทนพระบิดาที่สวรรคตก็ได้ทรงนำเอาพระแก้วขาวและพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองเชียงใหม่หลายองค์ อาทิ พระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ พระแทรกดำ กลับไปบูชายังเมืองล้านช้างด้วย หลังจากนั้นก็ไม่มีหลักแน่นอนที่บ่งบอกได้ว่า พระแก้วขาวได้กลับคืนมานครเชียงใหม่และปรดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่นตราบจนปัจจุบันได้อย่าไร

อย่างไรก็ตาม ทุกปีเมื่อถึงประเพณีปี๋ใหม่เมือง หรือ เทศกาลสงกรานต์ประชาชนชาวเชียงใหม่และใกล้เคียงจะพร้อมใจกันออกมาสรงน้ำองค์พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเป็นประจำทุกปี ด้วยความเชื่อว่าการได้สรงน้ำพระพุทธรูปอันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองในวันปีใหม่จะได้เป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว และประเพณีเหล่านี้ก็ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น