วัดช่างแต้ม! วัดที่สร้างโดยกลุ่มจิตรกรสมัยล้านนา

วัดช่างแต้ม ตั้งอยู่เลขที่ 95 บ้านช่างแต้ม ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 95 ตารางวา โฉนดเลขที่ 3608 อาณาเขตทิศเหนือจดหมู่บ้าน ทิศใต้จดหมู่บ้าน ตะวันออกจดถนนพระปกเกล้า ทิศตะวันตกจดที่ธรณีสงฆ์ มีที่ดินธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 2 งาน 58 ตารางวา โฉนดเลขที่ 3608

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาไปกราบไหว “เจดีย์ศิลปะล้านนา” ที่ “วัดช่างแต้ม” วัดที่มีอายุกว่า 400 ปี และสร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช

ประวัติของ วัดช่างแต้ม

ตำนานมูลศาสนา ได้กล่าวถึงการสร้างวัดในเวียงเชียงใหม่ มีความโดยย่อว่า ในปีนั้นชาวเมืองทั้งหลาย พร้อมกับปลงพระยาสามฝั่งแกน (กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ รัชกาลที่ 9 แห่ง ราศวงศ์มังราย) ให้ไปอยู่เมืองยวม (ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน) แล้วอาราธนาลูกท่านชื่อท้าวลกมากินเมืองเชียงใหม่ เดือน 8 ออก 5 ค่ำ วันอังคาร ไทยวันเต่ายี ยามตุดเช้า (ปีกุนตรีศก พ.ศ. 1974 เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน ขึ้น 5 ค่ำ วันอังคาร เวลา 07.30 น.) ลวดอุสสาราชาภิเษกได้ชื่อว่า อาทิตตราชดิลก (ชินกาลบาลีปกรณ์เรียก พระเจ้าสิริธรรมจักรพรรดิพิลก รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์มังราย)

และท่านรู้ข่าวว่า มหาญาณคัมภีร์เถระเจ้าไปเอาศาสนา (ประเทศลังกา) มารอด ท่านก็ยินดีมากนักแล พระยาอาทิตยและมหาเทวีจึงพร้อมใจให้ม้า ราชมณเฑียรหลังเก่าไปแปลงที่มหาเถระเจ้าจักอยู่ จึงแต่งพ่อเลี้ยงท่านชื่อ ท้าวเชียงราย 1 ล้าน หมื่นสามเด็ก 1 แสนน้ำผึ้ง 1 เป็นเคล้า (เก๊า) ไปอาราธนาพระมหาญาณคัมภีร์เถรเจ้าเป็นเก๊าแห่งสังฆะทั้งมวลแต่ลำพูนเข้ามาอยู่ได้ชื่อว่า “วัดราชมณเฑียร”

แต่นั้นมา พญาจึงสร้างศาสนาแถมไปมากหลาย และ ปีที่ซาวสี่สิบห้า สิบหลังผับทั้งเมืองเวียงพิงค์เชียงใหม่ทั้งมวลได้ 500 อาราม

อาคารเสนาสนะประกอบด้วย วิหารทรงล้านนาไทย จำนวน1 หลัง กุฏิ 700 ปีศรีเมืองเชียงใหม่ 1 หลัง กุฏิสงฆ์ จำนวน 2 หลัง ศาลาเอนกประสงค์ หอระฆัง หอฉันโรงครัว ศาลาพักร้อน 1 หลัง ห้องน้ำ 3 หลัง

ปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยหนักหนึ่งแสนห้าหมื่น และ พระุพุทธรูปฝนแสนห่า ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่

วัดช่างแต้มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2038 – 2069 (ประมาณ 400 กว่าปี) เดิมชื่ดวัดช่างต้อมแต้มกว้างท่าช้างพิงชัย สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช

สถานที่และสิ่งสำคัญภายใน วัดช่างแต้ม

1.พระวิหาร
สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์ หลังคาซ้อนกัน ๓ ชั้น ช่อฟ้าตกแต่ง นาคสะดุ้ง หน้าบันถูกแบ่งเป็นช่องตามโครงสร้างของอาคาร แบบที่เรียกว่าม้าต่างไหม ในแต่ละช่องมีลวดลายพรรณพฤกษาและดอกไม้ประดับไว้ ประตูทางเข้าเป็นซุ้มโขงล้านนา มีลายปูนปั้นรูปหงส์ และพญานาคสองตนเกี่ยวพันกันเป็นซุ้ม ภายในประดิษฐานหมู่พระพุทธรูปปางมารวิชัย แต่ละองค์มีพระพักตร์ที่ไม่เหมือนกัน ด้านหลังพระประธานมีลายปูนปั้นซุ้มโขง และธรรมจักรสีทองที่สวยงาม ตัดกับพื้นหลังสีแดง เบื้องหน้ามีสัตภัณฑ์ (เชิงเทียน) ที่แกะสลักจากไม้เป็นรูปพญาครุฑ และพญานาคประดับด้วยกระจกหลากสี

2.เจดีย์ศิลปะล้านนา
แต่เดิมส่วนบนเป็นศิลปะพม่าขนานแท้ เนื่องจากเชียงใหม่เคยตกอยู่ใต้อำนาจของพม่าถึง 241 ปี แต่หลังจากที่อำนาจของพม่าหมดไป เจดีย์ในวัดต่างๆ จึงพยายามเปลี่ยนให้กลับมาเป็นแบบล้านนา ฐานด้านล่างเป็นสี่เหลี่ยม แต่ละมุมมีฉัตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานย่อเก็จยกสูงรับกับชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 6 ชั้นรับกับองค์ระฆังทรงกลมหุ้มด้วยแผ่นทองจังโก ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 7 ชั้น

ที่ตั้งของ วัดช่างแต้ม

95 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

วิธีการเดินทางไปยัง วัดช่างแต้ม

1.โดยรถยนต์ส่วนตัว
ขับรถเลยวัดเจดีย์หลวงวรวิหารมาทางทิศใต้ เจอไฟแดง เลยมาอีกนิดวัดจะอยู่ทางขวามือ

2.โดยรถสาธารณะ
สามารถนั่งรถสองแถวสีแดงที่ให้บริการรอบเมืองค่าโดยสารแล้วแต่ระยะทาง

สรุป

ใครอยากไปกราบไหว้เจดีย์ที่ผสมระหว่างศิลปะพม่ากับล้านนาไว้ด้วยกัน และเป็นที่ลงตัวได้อย่างสวยงาม สามารถไปได้ที่ “วัดช่างแต้ม”

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น