วัดป้านปิง! วัดที่คุ้มครองอันตรายจากอีกฟากของแม่น้ำปิง

วัดป้านปิง เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในกำแพงเมืองเก่า พิจารณาจากศิลปะรูปทรงเจดีย์และองค์พระประธานในวิหาร มีพระพุทธรูปสิงห์หนึ่ง จึงเชื่อว่า วัดนี้สร้างขึ้นในยุคต้นของอาณาจักรล้านนา ตั้งแต่สมัยพญามังรายถึงสมัยพญาแสนเมืองมา

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาไปกราบไหว “วัดป้านปิง” วัดที่มีความหมายว่า ปกป้องภัยอันตรายจากอีกฟากฝั่งของแม่น้ำปิง

ประวัติของ วัดป้านปิง

วัดป้านปิง หมายถึง เป็นแนวขวางแม่น้ำปิง ไม่ได้หมายถึงสร้างมาเพื่อขวางแม่น้ำปิง และ วัดป้านปิง หมายถึง ภยันอันตรายจากอีกฟากฝั่งของแม่น้ำปิงไม่สามารถข้ามมาได้ ซึ่งในอดีตภัยสงครามที่จะมาเชียงใหม่ได้นั้น ในสมัยพญามังราย กองทัพจากพม่า และ กองทัพจากอยุธยา เป็นต้น

เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในกำแพงเมืองเก่า เช่นเดียวกับอีกหลายวัด ไม่ว่าจะเป็นวัดอุโมงค์น้อย วัดพันอ้น วัดเชียงมั่น วัดเจดีย์หลวง วัดพระสิงห์ แสดงว่าวัดนี้ต้องเป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของบ้านเมือง และผู้ที่สร้างวัดต้องเป็นเจ้านายที่มีอำนาจราชศักดิ์ที่สูงจนสามารถสร้างเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่นี้ได้ พิจารณาจากศิลปะรูปทรงเจดีย์ และองค์พระประธานในวิหาร

ทำให้เชื่อได้ว่าวัดนี้สร้างขึ้นในยุคต้นของอาณาจักรล้านนาตั้งแต่สมัยพญามังราย ลงมาถึงสมัยพญาแสนเมือง (ราวพ.ศ.1839-1954) เพราะหลังจากนั้นพระพุทธรูปนิยมสร้างเป็นแบบพระสิงห์สาม ต่อมาราว พ.ศ. 2121 อาณาจักรล้านนาล่มสลายวัดต่างๆจึงชำรุดทรุดโทรมลงรวมทั้งวัดป้านปิงด้วย จนกระทั่ง พ.ศ.2324 อาณาจักรล้านนาได้มีการสถาปนาขึ้นมาใหม่ และราว พ.ศ. 2326 พระเจ้ากาวิละได้เป็นมหาศรัทธาปก (บูรณะ) วัดต่างๆ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งคงจะรวมวัดป้านปิงด้วย

และจากสมุดข่อยระบุว่า วันเพ็ญเดือน 5 พ.ศ.2382 ได้สร้างและฉลองอุโบสถของวัดขึ้น แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่ได้ระบุชื่อเจ้าอาวาสไว้ ต่อมาราว พ.ศ.2399-2413 เจ้าเมืองเชียงใหม่ลำดับที่ 6 ได้สำรวจชื่อวัดในเขตเมืองเชียงใหม่นับตั้งแต่เขตกำแพงชั้นนอกเข้ามาถึงชั้นในและบันทึกเป็นตัวอักษรเมืองไว้ในกระดาษสา ระบุว่าเจ้าอาวาสวัดป้านปิดงช่วงนั้นชื่อว่า พระภิกษุธรรมปัญญา รองเจ้าอาวาสชื่อว่า ตุ๊โพธา นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกชื่อเจ้าอาวาสไว้

สำหรับชื่อป้านปิง อันเป็นชื่อวัด แปลว่า ขวาง หรือ กั้นกระแสน้ำปิงให้ไหลไปทางอื่น แต่จากชัยภูมิที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน อยู่ห่างน้ำปิงมากพอสมควร ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นการเรียกที่เพี้ยนออกไป

สถานที่และสิ่งสำคัญภายใน วัดป้านปิง

1.เจดีย์
เจดีย์เป็นแบบฐานสูงย่อมุมไม้ 28 ทรง 12 เหลี่ยม เป็นเจดีย์คู่วัดมาตั้งแต่ต้น มีฐานกว้าง 10.20 เมตร สูงประมาณ 25 เมตร เจดีย์เป็นทรงแบบล้านนาฝีมือช่างหลวง

2.พระเพชรสิงห์หนึ่ง
เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ทั้งสององค์ เป็นศิลปะแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง องค์พระประธานหน้าตักกว้าง 1.70 เมตร องค์รองด้านขวาหน้าตักกว้าง 1.30 เมตร บางทีเรียกว่า “พระเพชรสิงห์หนึ่ง” ประทับนั่งแบบสมาธิเพชรปางมารวิชัย ด้วยฝีมือช่างหลวงยุคต้นของล้านนา เป็นพระเพชรสิงห์หนึ่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเพียงองค์เดียวของภาคเหนือ นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากที่พระพุทธรูปที่ใหญ่และล้ำค่าเช่นนี้ ซ่อนเร้นอยู่ในวัดป้านปิงที่ชาวเมืองแทบจะไม่รู้จัก

3.ดินจี่ฮ่อฐานกุฏิ
ทางวัดขุดพบจากบริเวณซากฐานกุฏิโบราณเมื่อตอนจะสร้างกุฏิเจ้าอาวาสหลังใหม่เมื่อ พ.ศ. 2475 วัดที่พบอิฐเผาชนิดนี้มี วัดพวกแต้มในเขตกำแพงเมือง พบหลายสิบก้อนและพบอีกเล็กน้อยที่วัดอุโมงค์ เชิงดอยสุเทพ ความสำคัญคือช่างล้านนาโบราณจะใช้สร้างฐานโฮงหลวง (กุฏิเจ้าอาวาส) ซึ่งเป็นอิฐเผาที่เชื่อกันว่าช่างล้านนาเรียนรู้มาจากจีนฮ่อ มณฑลยูนานที่ติดต่อค้าขายกับอาณาจักรล้านนาในยุคต้นๆ จึงเรียกอิฐนี้ว่า ดินจี่ฮ่อ
เป็นอิฐดินเผาแบบจีนฮ่อ มีประมาณ 20 ก้อน ที่อยู่สภาพดี แต่ละก้อนยาว 60 ซม. กว้างและหนา 28 ซม.

ที่ตั้งของ วัดป้านปิง

ตั้งอยู่เลขที่ 194 ถนน.ราชภาคินัย ตำบล.ศรีภูมิ เขต.2 อำเภอ.เมือง จังหวัด.เชียงใหม่

วิธีการเดินทางไปยัง วัดป้านปิง

1.โดยรถยนต์ส่วนตัว
หันหลังให้กับประตูท่าแพมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตกสุ่งสี่แยกกลางเวียง ก่อนถึงจะเจอสี่แยกแรกที่มีกาแฟวาวีขายอยู่ สี่แยกตรงนั้นให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 100 เมตรจะเจอวัดอยู่ทางขวามือเรา

2.โดยรถสาธารณะ
สามารถนั่งรถสองแถวสีแดงที่ให้บริการรอบเมืองค่าโดยสารแล้วแต่ระยะทาง

สรุป

“วัดป้านปิง” ตั้งอยู่ในเขตเมืองเชียงใหม่เก่าที่มีวัดอยู่เยอะแยะมากมาย และเสน่ห์ของ “วัดป้านปิง” ยังมีอีกมากมายที่รอต้อนรับทุกๆคนที่เดินทางไปกราบไหว้กัน

เรียบเรียงโดย “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น