เงินตรา คุณค่าประวัติศาสตร์

เรามีการแลกเปลี่ยนผลิตผลระหว่างกันมานาน เช่น การนำเกลือไปแลกข้าว ต่อมาจึงมีการใช้สิ่งมีค่าเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน อาทิ เปลือกหอย เมล็ดพืช ปศุสัตว์ ลูกปัด จนมีวิวัฒนาการนำโลหะทองแดง โลหะเงิน โลหะทอง ซึ่งมีความแข็งแรงคงทน มีความหลากหลายในรูปพรรณและสัณฐาน มีความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย มีประวัติเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ

เงินตราในยุคแรกเริ่ม ที่ได้มีการขุดพบเงินตราในยุคแรกเริ่ม ในบริเวณที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้แก่ เหรียญเงินฟูนัน ทวารวดี และศรีวิชัย นอกจากนี้ยังมีเงินภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ เงินล้านนา และเงินช้าง เงินตราเหล่านี้เป็นเงินตราก่อนมีการตั้งรัฐไทย จากลักษณะของลวดลายบนเงินตรา ได้แสดงให้เห็นว่าชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ ได้รับอิทธิพลจากประเทศใกล้เคียง จีนบ้าง และอินเดียบ้าง

สมัยกรุงสุโขทัย ได้มีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นใช้ จึงถือได้ว่า “ เงินพดด้วง” เป็นเงินตราของไทยโดยแท้ โดยมีเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำแบบใคร และใช้แลกเปลี่ยนหมุนเวียนในประเทศไทยเป็นเวลายาวนานที่สุด ประมาณกว่า 600 ปี ตั้งแต่กรุงสุโขทัย อยุธยาจนถึง กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 เงินพดด้วง ผลิตด้วยมือ โดยทำจากแท่งเงินบริสุทธิ์ ทุบปลายทั้งสองข้างให้งอเข้าหากัน มีรูปร่างคล้ายลูกปืนโบราณ เงินพดด้วงใช้หมุนเวียนอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน จนถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเลิกผลิต หลังจากได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้า

เนื่องจากการค้ากับต่างประเทศรุ่งเรืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว การผลิตเงินพดด้วงด้วยมือ จึงไม่ทันกับความต้องการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริ ที่จะใช้เครื่องจักรผลิตแทน เพื่อความรวดเร็วทางการค้า ทรงขอให้คณะทูตที่กำลังจะเดินทางไปเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ที่กรุงลอนดอน ติดต่อซื้อเครื่องจักรเพื่อนำมาใช้ในการผลิตเงิน จาก บริษัทเทเลอร์และชาลเลน ( Taylor & Challen Limited , Birmingham ) และทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงงานขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพ.ศ. 2400 มีชื่อเรียกว่า “ โรงกษาปณ์สิทธิการ ”

จนได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ รูปทรงแบนตามสมัยนิยมขึ้นแทนเงินพดด้วง ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการทำเหรียญกษาปณ์ตราพระเกี้ยวออกใช้ เหรียญที่สำคัญได้แก่ เหรียญเงินตราพระแสงจักร – พระมหามงกุฎ พระเต้า ซึ่งเป็นเหรียญแบนรุ่นแรก ผลิตขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เหรียญเงินบรรณาการ ผลิตจากเครื่องจักรที่สมเด็จพระนางเจ้า วิคตอเรีย ถวายเป็นราชบรรณาการ เหรียญอัฐโสฬส ผลิตเพื่อใช้เป็นเงินปลีกแทนเบี้ยหอย เหรียญนิกเกิลผลิตออกใช้ในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากที่ได้ทรงปรับปรุงหน่วยเงินจาก ชั่ง ตำลึง บาท มาเป็น บาท และ สตางค์ เป็นต้น

จนกระทั่งถึงเหรียญกษาปณ์ ที่ใช้อยู่ในยุคปัจจุบันนี้ สรุปได้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ ทั้งชนิดที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชนิดที่เป็นเหรียญที่ระลึกออกมาใช้มากที่สุด เนื่องจากพระองค์ทรงครองราชย์นานถึง 42 ปี เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตในรัชกาลที่ 6,7 และ 8 ส่วนใหญ่ใช้สตางค์ที่รู้จักกันดีก็ คือ สตางค์มีรู ชนิด 10 สตางค์ 5 สตางค์ 1 สตางค์ และครึ่งสตางค์ และเลิกใช้สตางค์มีรูในสมัยรัชกาลที่ 8 นี้เอง

สมัยรัชกาลที่ 9 มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ ทั้งชนิดที่ใช้หมุนเวียน รวมถึงเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกต่างๆออกมามากมายหลายชนิด และสามารถนำมาใช้ชำระหนี้ได้ เช่นเดียวกับเงินหมุนเวียน เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเสด็จนิวัติ จากการเสด็จประพาสยุโรป และอเมริกา ในปี พ.ศ. 2504 และเหรียญอื่นๆอีกมากมาย บทบาทของเหรียญกษาปณ์เริ่มลดลง เมื่อการค้าขยายตัวขึ้น จนมีการริเริ่มนำเงินกระดาษมาใช้ เส้นทางการแลกเปลี่ยนการค้าขายผ่านสื่อ “เงินตรา” ที่ยังคงสะท้อนในภาพอดีตที่คงคุณค่าประวัติศาสตร์

ขอขอบคุณ / พิพิธภัณฑ์วัดหมื่นสาร บ้านวัวลาย ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทร.0-5327-5545

ร่วมแสดงความคิดเห็น