คณะพยาบาล สืบสานตำนาน ตัดตุงปี๋ใหม่เมือง

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ (ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง) จัดกิจกรรมตัดตุงปี๋ใหม่เมือง ประจำปี 2562 โดยมี ศ.ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เป็นประธาน วิทยากรรับเชิญ ได้แก่ คุณเฉลิมศรี โตน้อย บุคลากรอาวุโสของคณะฯ (อดีตหัวหน้าหน่วยสารบรรณและประชาสัมพันธ์) ได้รับความสนใจจากอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ณ ห้องพักผ่อนอาจารย์และบุคลากร อาคาร 3 คณะพยาบาลศาสตร์ เมื่อวันพุธที่ 10 เมษายน 2562

“ตุง” หรือ “จ้อ” เป็นภาษาถิ่นทางภาคเหนือ ที่ชาวล้านนาเรียกขานกันทั่วไป หมายถึง ธง ในภาษาภาคกลาง มีลักษณะตรงกับภาษาบาลีว่า ปฎากะ หรือ ธงปฎาก “ธงตะขาบ” ซึ่งเมื่อครั้งสมัยหริภุญชัยในช่วงศตวรรษที่ 17 พบว่าชาวหริภุญชัย เคยมีโรคอหิวาตกโรคระบาด ผู้คนต่างพากันหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองสะเทิง เมื่ออหิวา ตกโรคหายไปก็พากันกลับมาบ้านเมืองเดิม คาดว่าคงได้มีการรับวัฒนธรรมการถวายธงหรือตุง ที่มีเสาหงส์มาจากชาวมอญมาด้วย พบว่าหงส์ล้านนานี้ เป็นสิ่งสำคัญมากของชาวรามัญนั้น ได้ปรากฏว่าเป็นส่วนประกอบอยู่กับตุงในล้านนาคือ “ตุงกระด้าง” มีลักษณะรูปทรงเหมือนกัน และมีลักษณะของธงตะขาบของชาวรามัญก็คล้ายคลึงกับ “ตุงไชย” ของล้านนาด้วยเช่นกัน

“ตุง” ทำด้วยวัสดุต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เช่น ไม้ โลหะ กระดาษ ผ้า ใบลานพลาสติก เป็นต้น มีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุ ส่วนปลายแขวนติดกับเสา หรือผูกติดกับปลายไม้ เป็นแผ่นยาวลงมา “ตุง” มีหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีรูปแบบ ขนาด และรายละเอียดวัสดุที่ใช้ในการตกแต่งแตกต่างกันไปตามความเชื่อ และพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนความนิยมของท้องถิ่นและการใช้งาน

สำหรับตุงไส้หมู มีลักษณะเป็นพวงประดิษฐ์ รูปร่างคล้ายจอมแหหรือปรางค์ ทำจากกระดาษสีหรือกระดาษแก้วสีต่างๆ อย่างน้อยแผ่นละสี มาวางซ้อนกันแล้วพับทะแยงมุมหลาย ๆ ทบ ใช้กรรไกรตัดสลับกันเป็นลายฟันปลาจนถึงส่วนปลายสุด เมื่อคลี่ออกและจับหงายขึ้น จะเห็นเป็นพวงกระดาษที่สวยงาม ศิลปะการตัดกระดาษให้เป็น ตุงไส้หมู เป็นองค์ความรู้ที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งชาวล้านนาจะใช้ในพิธีทางศาสนา หรือกิจกรรมทางประเพณีของชาวล้านนา โดยเฉพาะชนกลุ่มไท ได้แก่ ไทยวน ไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง ไทใหญ่ เป็นต้น นั่นคือ ประเพณีปี๋ใหม่ (สงกรานต์) ในพิธีกรรม หรือประเพณีดังกล่าว ชาวล้านนาจะจัดเตรียมข้าวของต่างๆ สำหรับใช้ในพิธีใน “วันแต่งดา” คือวันสุกดิบ หรือวันเตรียมข้าวของ ซึ่งจะจัดทำก่อนหน้างานประมาณ 1 วัน

“ตุงไส้หมู” เป็นชื่อที่นิยมใช้กันในจังหวัดเชียงใหม่ ในถิ่นอื่นอาจเรียกแตกต่างกันไป เช่น ลำปาง เรียกช่อพญายอ จังหวัดเชียงรายและลำพูนเรียกว่า ตุงไส้ช้าง ภาคกลางเรียก พวงมโหตร (พวง-มะ-โหด) คำที่หลายคนไม่ทราบความหมาย ไม่เคยได้ยิน ทั้งที่อาจจะเคยผ่านตามาแล้วก็ตาม ลักษณะตุงไส้หมูมีรูปทรงเหมือนเจดีย์ ทำจากกระดาษว่าวหลากสี ใช้กับบนกองเจดีย์ทรายคู่กับตุง 12 ราศี เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี และพระธาตุประจำปีเกิด ในจังหวัดพะเยาและเชียงราย ใช้ตุงไส้หมูสีขาวและสีดำ ประดับรอบปราสาทศพ เชื่อว่าให้ผู้ตายไปสวรรค์ จึงเห็นได้ว่าตุงไส้หมูนั้น เป็นได้ทั้งตุงมงคลและอวมงคล ทั้งนี้แล้วแต่ว่าในแต่ละพื้นที่จะมีการใช้งานไปอย่างไร แต่จุดประสงค์หลักก็ยังเป็นการบูชาพระพุทธศาสนานั่นเอง

คุณเฉลิมศรี โตน้อย วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวอธิบายขั้นตอนการตัดตุงไส้หมูว่า “วัสดุและอุปกรณ์ ประกอบด้วย กระดาษว่าวสี 2 สี และ กรรไกร วิธีการทําอย่างง่ายเริ่มจาก เลือกกระดาษมาสองสีสีอะไรก็ได้แล้วแต่ชอบ นํากระดาษทั้งสองแผ่นมาวางทับกัน พับกระดาษให้เป็นรูปสามเหลี่ยม โดยตัดส่วนที่เหลือออก พับครึ่งให้เป็นรูปสามเหลี่ยม พับครึ่งด้านที่หนึ่ง และ พับครึ่งด้านที่สอง เพื่อให้เป็นรูปสามเหลี่ยมจะได้กระดาษเป็นรูปสามเหลี่ยม พับกระดาษอีกด้านให้เป็นรูปเหมือนจรวด ตัดขอบด้านทะแยงให้เป็นรูปหยักหรือลวดลายตามแต่ถนัด หลังจากนั้นตัดขอบอีกด้าน ตัดส่วนสามเหลี่ยมด้านบน โดยตัดสลับคลี่กระดาษที่พับออกมา ให้เป็นลักษณะสี่เหลี่ยม ตัดกระดาษแผ่นเล็กและสอยด้าย เพื่อนําไปผูกมัดกับกิ่งไม้จะได้เป็นตุงไส้หมู สุดท้ายยังเชิญชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตลอดจนผู้ที่สนใจในศิลปวัฒนธรรมล้านนา ร่วมกันดำรงรักษาสิ่งดี ๆ ที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น อันเป็นความภาคภูมิใจของเราทุกคน ให้ยั่งยืนแก่ลูกหลานต่อไป”

ร่วมแสดงความคิดเห็น