ประเพณีแห่สลุงหลวง เมืองลำปาง

คำว่า “สลุง” เป็นภาษาพื้นเมืองเหนือ หมายถึง ภาชนะสำหรับใส่น้ำ มีลักษณะเช่นเดียวกับขันน้ำส่วนใหญ่จะทำด้วยโลหะเงินมีขนาดต่างกัน ซึ่งมีทั้งแบบเกลี้ยงและตีให้นูนแล้วสลักลวดลายดอกไม้หรือลายสิบสองราศีตามแบบฉบับศิลปะล้านนาโบราณ

เมื่อเอ่ยถึงสลุงหลวงหรือสลุงที่มีขนาดใหญ่ เรามักจะนึกถึงสลุงหลวงของจังหวัดลำปาง พอถึงเทศกาลสงกรานต์ทีไรก็จะมีการนำเอาสลุงหลวงใส่น้ำขมิ้นส้มป่อยแห่ไปรอบเมืองเพื่อนำไปสรงน้ำพระแก้วมรกตดอนเต้าพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลำปาง

ปี 2530 เมื่อชมรมเทิดมรดกเขลางค์นคร โดยกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมจังหวัดลำปาง ได้จัดขบวนแห่สลุงหลวงขึ้นเป็นครั้งแรก ในโอกาสงานเทศกาลปี๋ใหม่เมือง หรือ งานสงกรานต์ วันที่ 12 เมษายน เพื่อรับน้ำขมิ้นส้มป่อย น้ำอบน้ำหอมจากประชาชนไปสรงน้ำองค์พระแก้วมรกตดอนเต้า นอกจากนั้นยังเป็นการรักษาประเพณีของคนล้านนา ที่จะทำพิธีสรงน้ำพระเมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ หรือ วันสงกรานต์

ในอดีตเมื่อถึงวันขึ้นปีใหม่ คนล้านนาจะมีการประกอบพิธีสรงน้ำพระโดยนำน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่ในสลุงไปสรงน้ำพระที่วัดใกล้บ้าน ถือเป็นการแสดงความเคารพศรัทธาต่อพระพุทธรูปที่พวกเขาเชื่อว่าให้ความร่มเย็นเป็นสุขมาโดยตลอด ปัจจุบันชาวบ้านที่อยู่แถบชนบทยังคงยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบทอดกันต่อมา ดังนั้นสลุงจึงเป็นสื่อที่นำน้ำขมิ้นส้มป่อยไปสรงน้ำพระที่วัดและยังเป็นสิ่งที่เตือนให้ระลึกถึงประเพณีสรงน้ำพระที่มีมาแต่โบราณ

สลุงหลวง ที่นำมาแห่ในขบวนแห่สลุงหลวงเป็นครั้งแรก เป็นสลุงที่ทำด้วยเงิน หนัก 300 บาท ซึ่งเป็นของเจ้าตระกูล ณ ลำปาง กระทั่งในปี 2533 ชมรมเทิดมรดกเขลางค์นครได้ดำเนินการจัดสร้างสลุงหลวง โดยได้รับเงินบริจาคจำนวน 433,198 บาท ทำสลุงหลวงขึ้นมาใหม่ด้วยโลหะเงินหนัก 2,533 บาท มี ขนาดกว้าง 89 เซนติเมตร สูง 49 เซนติเมตร ลักษณะเป็นสลุงทรงเกลี้ยง จัดสร้างด้วยการตีแบบพื้นเมืองโบราณ โดยไม่ใช้วิธีการหล่อแบบ ภายในสลุงสลักรายชื่อผู้บริจาคเงิน ส่วนรอบ ๆ ขอบบนภายนอกของสลุงจารึกเป็นภาษาพื้นเมืองเหนือว่า

“สลุงเงินหลวงใบนี้ ช่างเมืองลำปางจัดทำถวายไว้ใส่น้ำอบน้ำหอม ขมิ้นส้มป่อย เพื่อสรงน้ำพระเจ้าแก้วดอนเต้าแห่งเวียงละกอน ในวันปีใหม่เมือง เพื่อค้ำจุนพระศาสนาจวบจนห้าพันพรรษา”

ปี 2534 ชมรมเทิดมรดกเขลางค์นครได้ดำเนินการจัดสร้างฐานสลุงหลวง โดยได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวน 125,207 บาท ฐานของสลุงหลวงมีลักษณะเป็นแท่งทรงสูงหกเหลี่ยม หมายถึงสวรรค์ 6 ชั้น สูง 94 เซนติเมตร ด้านบนฐานสลุงหลวงกว้าง 70 เซนติเมตร ด้านล่าง

ของฐานสลุงกว้าง 80 เซนติเมตร มีเทวดา 6 องค์จากสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นรักษาและประคองสลุงหลวง ซึ่งได้แบบอย่างมาจากแท่นสรงน้ำองค์พระแก้งมรกตดอนเต้า ภายในฐานสลุงหลวงและเทวดาทำด้วยไม้สักห่อหุ้มด้วยโลหะเงิน หนัก 1,508 บาท สลักรายนามผู้บริจาคเงินในการก่อสร้าง

สลุงหลวงและฐานสลุงหลวงปัจจุบันประดิษฐานไว้เคียงคู่องค์พระแก้วมรกตดอนเต้าที่วัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นวัดที่มีศิลปะพื้นเมืองอันวิจิตรและล้ำค่าของจังหวัดลำปาง สลุงหลวงและฐานสลุงหลวงจะนำออกมาแห่ในขบวนที่จัดขึ้นตามแบบโบราณทุกวันที่ 12 เมษายน เพื่อรับน้ำขมิ้นส้มป่อย น้ำอบน้ำหอมจากประชาชนสำหรับสรงน้ำพระแก้วมรกตดอนเต้า

การจัดขบวนแห่สลุงหลวงนั้นเปรียบเสมือนเป็นการย้อนเข้าไปสู่ยุคอดีตด้วยรูปขบวนพื้นเมืองโบราณ ตลอดผู้ร่วมในขบวนแห่แต่งกายแบบพื้นเมือง เป็นการผสมผสานประเพณีเก่าแก่ให้เข้ากับยุคสมัย นอกจากนั้นยังเป็นการสืบทอดประเพณีอันดีให้คงอยู่ต่อไป

การสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีของชาวเขลางค์นครแต่โบราณที่มีแบบอย่างอันดีงามมาจนถึงปัจจุบัน คือมรดกอันล้ำค่าของชาวลำปาง สลุงหลวงก็คือมรดกของชาวลำปางที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้ร่วมใจสร้างขึ้นเพื่อจรรโลงศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น
ให้ดำรงคงอยู่จากคนรุ่นหลัง

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น