จากใบไม้มากลายเป็นพระคัมภีร์

ใบลาน ถือว่าเป็นอีกวัสดุหนึ่งที่คนไทยโบราณนำมาทำหนังสือ แต่ต่างกันตรงที่ใบลานนิยมใช้บันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนามากกว่าเรื่องอื่น จึงมักเรียกกันทั่วไปว่า “คัมภีร์ใบลาน” ใช้เวลาเทศน์ เหตุที่เลือกใช้ใบลานเป็นวัสดุก็เพราะใบจากต้นลาน มีคุณสมบัติพิเศษที่มีน้ำหนักเบา และบาง สามารถเก็บรักษา หรือเคลื่อนย้ายได้สะดวก ที่สำคัญ คือ คงทนถาวรมาก คัมภีร์โบราณที่เก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่งของไทยคือ “ติงสนิบาตกุสราชชาดก” ซึ่งเป็นหนังสือธรรมล้านนา สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2014 มีอายุ 500 กว่าปี ก็ทำด้วยใบลาน

ในการบันทึกลงบนหนังสือโบราณประเภทนี้ใช้เทคนิควิธี “จาร” ก็คือ ใช้เหล็กแหลมขีดเป็นลายลักษณ์อักษรบนใบลาน จากนั้นช่างจะทาเขม่าไฟ สีดำของเขม่าจะฝังอยู่ตามร่องที่จารไว้ ทำให้มองเห็นตัวหนังสือเด่นชัด จากนั้นร้อยใบลานแต่ละใบด้วยเชือก มัดรวมเป็นเล่มๆ เรียกว่า “ผูก” หลายๆ ผูกรวมกันเป็นหนึ่งคัมภีร์

ปัจจุบันใบลานยังคงใช้ทำพระธรรมคัมภีร์ แต่มีการพัฒนาเทคนิคในการเขียน โดยเปลี่ยนจากการจารไปใช้วิธีพิมพ์แทน ขณะที่ช่างพื้นบ้านโดยเฉพาะช่างล้านนายังคงใช้วิธีดั่งเดิม เพราะถือว่าการได้บุญเป็นการสร้างพระธรรมคัมภีร์จากความเพียรจะได้อานิสงส์แรงเกล้า

จากใบไม้มาเป็นคัมภีร์ “ลาน” เป็นไม้ยืนต้น ลักษณะคล้ายต้นตาล ขึ้นอยู่ทั่วไป สมัยแต่ก่อนมักนิยมปลูกกันไว้ตามวัด เพื่อสะดวกในการนำใบของต้นมาทำพระธรรมคัมภีร์ ซึ่งมีขั้นตอนการทำคราวๆอยู่ 6 ขั้นตอน

1. คัดเลือกใบลานคุณภาพดีที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ตากแดดทิ้งไว้ราว 3 วัน
2.ตัดใบลานให้ได้ขนาดที่ต้องการ โดยทั่วไปมีขนาดยาว 50- 70 ซม. กว้าง 4-8 ซม.
3.ต้มใบลาน แล้วตากให้แห้ง เพื่อให้เนื้อลานเหนียว นิ่ม และมีสีขาวขึ้น
4.นำใบลานมาเรียงซ้อนกัน แล้วตัดขอบให้เสมอ จากนั้นแทงใบลานให้เป็นรูสำหรับร้อยเชือก
5.นำเข้าเตาอบเพื่อป้องกันรา
6. ทำความสะอาด และขัดผิวใบลานให้เรียบด้วยลูกประคบ แล้วนำไปจาร

ปัจจุบันการเขียนหรือจารใบลานจะเหลือน้อยลงไปแล้ว แต่ยังพอมีภาพพ่ออุ้ยที่นั่งจารด้วยเหล็กแหลมตามวัดในอำเภอรอบนอก ทำให้เราได้เห็นได้ภูมิใจในภูมิปัญญาที่ควรสืบสานไว้
ข้อมูล/ www.th.rivermk.com,www.bl.msu.ac.th
ขอขอบคุณ/ พิพิธภัณฑ์วัดหมื่นสาร บ้านวัวลาย 13 ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100 โทร.0-5327-5545

ร่วมแสดงความคิดเห็น