ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ วัดพระธาตุศรีจอมทอง

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรืองานประเพณีปี๋ใหม่เมืองของคนล้านนามีพิธีกรรมความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับงานดังกล่าวมากมายหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายนเรื่อยไปจนถึงวันที่ 15 เมษายนชาวล้านนาซึ่งถือเป็นวันผญาวันหรือวันเริ่มต้นของปีใหม่นั่นเอง

ระหว่างวันที่ 12 – 15 เมษายนนี้เกือบทุกหมู่บ้านหรือทุก ๆ ที่ของภาคเหนือจะมีการจัดกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ แตกต่างกันไปซึ่งประเพณีเก่าแก่เหล่านี้ได้ยึดถือปฏิบัติมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ก็มีขบวนแห่สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดลำปางก็มีขบวนแห่สลุงหลวง ที่จังหวัดลำพูนก็มีการอัญเชิญพระรอดหลวงพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสำคัญแห่ไปรอบเมืองให้ศรัทธาประชาชนได้สรงน้ำเนื่องในวันสงกรานต์ นอกจากนั้นยังมีประเพณีต่าง ๆ อีกมากมาย ที่สำคัญและโดดเด่นได้แก่ ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของอำเภอจอมทอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานประเพณีที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้สนใจมาร่วมงานเป็นจำนวนมากและทุก ๆ ปีก็จะมีการจัดประเพณีแห่ไม้ต้ำโพธิ์อย่างยิ่งใหญ่

ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์จอมทอง เป็นประเพณีสำคัญของชาวจอมทองที่ได้กระทำสืบต่อกันมานานและยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นเอกของชาวอำเภอจอมทองอีกด้วย ชาวจอมทองมีความเชื่อว่า ไม้ค้ำเป็นส่วนหนึ่งในพิธีสืบชะตาราศีเป็นการค้ำชีวิตของตนเองให้ยั่งยืนนาน ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขและยังเป็นการค้ำจุลพระบวรพุทธศาสนา สำหรับประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์นั้นเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณกว่า 100 ปีมาแล้ว ชาวจอมทองมีความเชื่อว่าในเทศกาลสงกรานต์หรือประเพณีปี๋ใหม่เมือง ทุกคนจะต้องทำบุญสืบชะตาราศีของตน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่ตนเองได้มีชีวิตอย่างสงบสุข ผ่านพ้นไปอีกหนึ่งปี

อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีสืบชะตาราศีก็คือ ไม้ที่มีง่ามขนาดต่าง ๆ หลังจากที่นำเข้าในพิธีสืบชะตาของตนแล้วก็จะนำไปค้ำต้นโพธิ์ที่อยู่ในวัดใกล้บ้าน สำหรับที่อำเภอจอมทองจะนิยมนำไม้ค้ำไปค้ำต้นโพธิ์ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ซึ่งการนำเอาไม้ค้ำที่มีง่ามไปค้ำต้นโพธิ์นั้นมีความ เชื่อทางปุคลาธฐานว่า เป็นการค้ำชีวิตของตนเองให้ยืนยาว มีความร่มเย็นเป็นสุขเหมือนกับต้นโพธิ์ที่แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมไปทั่ว นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการค้ำจุลพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้าและอยู่คู่กับโลกต่อไปให้นานแสนนาน ก่อนที่ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์จะกลายมาเป็นประเพณีสำคัญและมีชื่อเสียงของอำเภอจอมทองนั้น เริ่มต้นจากที่ชาวบ้านแต่ละบ้านได้นำเอาไม้ค้ำมาทำะพิธีสืบชะตาของตนแล้วจึงนำไปค้ำต้นโพธิ์ที่วัด ต่อมาเมื่อได้กระทำเป็นประจำทุกปี นาน ๆ เข้าพอถึงช่วงเดือนเมษายน ชาวบ้านก็ได้ร่วมกันเป็นหมวด ๆ หาไม้ที่มีลักษณะดังกล่าวมาเลื่อยแกะสลักเป็นลวดลายขนาดใหญ่ และเมื่อถึงวันที่ 15 เมษายนก็จะตกแต่งให้สวยงามแล้วนำไม้ค้ำขึ้นสู่ล้อเกวียนแล้วแห่ไปถวายและค้ำที่ต้นโพธิ์วัดพระธาตุศรีจอมทอง ในขบวนแห่จะมีผู้เฒ่า ผู้แก่ หนุ่มสาว แต่งตัวตามประเพณีพื้นเมือง ร่วมขบวนแห่ร้องรำทำเพลงเป็นที่สนุกสนาน และเนื่องจากประเพณีดังกล่าวอยู่ในช่วงปี๋ใหม่เมือง ตลอดสองข้างทางที่ขบวนแห่ผ่านไปจะมีการรดน้ำดำหัวอวยชัยให้พรไปด้วยกระทั่งเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมานี้ ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ก็มีการพัฒนาไปตามยุคสมัยโดยเฉพาะในด้านการตกแต่งประดับประดาก็มีการนำเอาลูกเล่นต่าง ๆ เข้ามาใส่ในขบวนแห่สร้างสีสันให้กับงานประเพณีนี้ไปไม่น้อย นอกจากการตกแต่งไม้ค้ำโพธิ์แล้ว พาหนะที่ใช้บรรทุกไม้ค้ำก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย จากเมื่อก่อนที่เคยใช้ล้อเกวียนบรรทุกปัจจุบันได้มีการนำรถยนต์กระบะ รถพ่วง เข้ามาใช้บรรทุกแทนมีการประดับตกแต่งเป็นรูปภาพ รูปวิวมีทั้งความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ ในขบวนแห่ก็จะประกอบด้วยกลุ่มแม่บ้าน ขบวนฟ้อนพื้นเมือง ขบวนดนตรีพื้นเมืองและขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ ซึ่งจะมีการแห่อย่างพร้อมกันเป็นจำนวนนับหลายสิบอันจากหมู่บ้านต่าง ๆ มุ่งหน้าไปยังวัดพระธาตุศรีจอมทอง หลังจากที่ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของอำเภอจอมทองได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมากแล้วนั้น ทางเทศบาลตำบลจอมทองได้มองเห็นความสำคัญของประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่ของท้องถิ่นในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงได้เชิญชวนหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามาร่วมสนับสนุนส่งเสริมโดยมอบเงินเป็นค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มต่าง ๆ ไปดำเนินการประดับตกแต่งขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ให้สวยงาม นอกจากนั้นก็ได้มีการจัดประกวดและมอบรางวัลขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์เพื่อเป็นการให้กำลังแก่ชาวบ้านที่ยึดถือสืบทอดประเพณีนี้อีกด้วย

ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของชาวจอมทองนับว่าเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอจอมทอง เพราะจะมีที่อำเภอจอมทองแห่งเดียวเท่านั้นและจะจัดขึ้นในช่วงงานสงกรานต์ จึงอาจกล่าวได้ว่าประเพณีสำคัญเช่นนี้จะจัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น เมื่อถึงงานดังกล่าวพี่น้องประชาชน
ชาวอำเภอจอมทองที่ไปทำงานที่อื่นก็จะทยอยกลับบ้านเพื่อร่วมงานประเพณีสำคัญเป็นประจำทุกปี นอกจากนั้นแล้วยังถือโอกาสนี้รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถืออีกด้วย.

บทความโดย : จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น