ประเพณีดำหัวเจ้าพ่อกู่ช้างลำพูน

ประเพณีสำคัญที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชนชาวลำพูน นอกจากงานสรงน้ำพระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัยแล้ว ก็มีพิธีสักการะศาลเจ้าพ่อกู่ช้างนี่แหละที่พี่น้องชาวลำพูนจำนวนมากหลั่งไหลเดินทางมาร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง

จุดมุ่งหมายหลักของการสักการะศาลเจ้าพ่อกู่ช้างจึงมิได้อยู่ที่การได้เดินทางมาคารวะสถานศักดิ์สิทธิ์เฉกเช่นทั่วไป หากแต่ทำหน้าที่เชื่อมสายใยและผูกสัมพันธ์คนเมืองในโลกนี้และ
โลกหน้าให้เป็นหนึ่งเดียว

กลิ่นควันธูปที่ชาวบ้านนำมาจุดบูชาเพื่อสักการะศาลเจ้าพ่อกู่ช้างอบอวลไปทั่วบริเวณงาน เสียงดนตรีปี่พาทย์โหมโรงตั้งแต่เช้าด้วยวันนี้จะมีพิธีบวงสรวงสักการะศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง สถานศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวลำพูน โต๊ะเก้าอี้กว่าร้อยตัวถูกนำมาจัดวางพร้อมกับเครื่องเซ่นไหว้ตั้งแต่เช้ามืด หลังจากอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าไม่นานศรัทธาประชาชนที่ทราบข่าวต่างทยอยเดินทางมาร่วมงาน ในมือของแต่ละคนถือตะกร้าที่บรรจุธุปเทียนและเครื่องไหว้เช่นสุรา อาหารเป็นต้น

ศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ห่างจากวัดไก่แก้วไปทางทิศตะวันออกประมาณ 200 เมตร ลักษณะของกู่ช้างเป็นสถูปที่มีรูปทรงแปลกแตกต่างไปจากสถูปที่พบเห็นโดยทั่วไป ในภาคเหนือ เพราะเป็นสถูปทรงกลมตั้งอยู่บนฐาน 3 ชั้น องค์สถูปมีลักษณะเป็นทรงกระบอกปลายมน เหนือสถูปขึ้นไปมีแท่นคล้ายบังลังก์ของเจดีย์ ตามประวัติและความเป็นมากล่าวว่า เมื่อสมัยของพระนางจามเทวีพระองค์ทรงมีช้างคู่บารมีชื่อ ผู้ก่ำงาเขียว เป็นช้างที่มีฤทธิเดชมาก

เมื่อช้างเชือกนี้หันหน้าไปทางศัตรูก็จะทำให้ศัตรูอ่อนกำลังลงทันที จนกระทั่งช้างเชือกนี้ล้มลงซึ่งตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 เหนือ เจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศจึงได้นำสรีระของช้างใส่ลงไปในแพไหลล่องไปตามลำน้ำกวง แต่พระองค์ก็ได้ทรงเปลี่ยนพระทัยที่จะนำสรีระของช้างกลับขึ้นมาฝังบนฝั่งเพราะว่าช้างเชือกนี้เป็นช้างศักดิ์สิทธิ์คู่บุญบารมีของพระนางจามเทวี หากว่าปล่อยให้ล่องลงไปกับแพแล้ว จะทำให้ประชาชนที่อยู่ทางทิศใต้ลงไปได้รับความเดือดร้อน

จึงได้อัญเชิญร่างของช้างลากกลับขึ้นมายังบริเวณท่าน้ำวัดไก่แก้ว แล้วลากมาฝังไว้ที่บริเวณกู่ช้างในปัจจุบัน หลังจากนั้นจึงได้ลงมือสร้างสถูปเป็นเวลาถึง 8 เดือนจึงแล้วเสร็จ ในการฝังช้างผู้ก่ำงาเขียวจะให้ซากของช้างหันหน้าขึ้นไปบนฟ้า ส่วนงาทั้งสองข้างของช้างถูกนำไปบรรจุไว้ในสถูปที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระนางจามเทวีภายในสุวรรณจังโกฏหรือกู่กุด ทุกปีเมื่อถึงวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 ประชาชนที่เคารพนับถือเจ้าพ่อกู่ช้างจะจัดงานรดน้ำดำหัวและบวงสรวงเพื่อขอสูมาลาโทษและขอให้เจ้าพ่อกู่ช้างได้ปกป้องคุ้มครองรักษา ปราศจากโรคภัยและภยันตรายใด ๆ

พิธีบวงสรวงในวันนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนเช้า ด้านหน้าศาลเจ้าพ่อกู่ช้างมีการตั้งประรำเครื่องเซ่นไหว้ ส่วนภายในหอชัยก็จัดให้มีการสืบชะตาหลวง เมื่อถึงเวลาเก้านาฬิกาเก้านาที พ่อชัยยุทธ นวลจิตร์ ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่กล่าวคำบวงสรวงขอสูมาและกล่าวคำสรรเสริญได้เข้าไปในประรำพิธีซึ่งสร้างขึ้นแบบง่าย ๆ มีรั้วไม้ไผ่รอบปักด้วยราชวัตรฉัตรา บริเวณหน้าพิธีมีการตั้งเครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วยหัวหมู ไก่ เหล้าขาว อย่างละ 9 ชุด นอกจากนั้นยังมีขันสูมา ขันดอกไม้ธูปเทียนเพื่อสักการะดวงวิญญาณของเจ้าพ่อกู่ช้าง

บริเวณด้านหน้าสุดของศาลจะมีการตั้งโต๊ะเพื่อให้ประชาชนได้ชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อน ประกอบด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ใกล้ ๆ กันเป็นที่ตั้งของสะเปาคำ หรือ สำเภาทอง ตกแต่งเป็นรูปเรือภายในบรรจุเครื่องปัจจัยไทยทาน ประกอบด้วย หมอน ตาลปัตร บาตร จีวร และเครื่องใช้ต่าง ๆ ถวายแด่พระสงฆ์ ด้านข้างของเรือมีข้อความเขียนไว้ ถวายให้เจ้าแม่หม่อนจามเทวี เจ้าพระยาอนันตยศ เจ้าพระยามหันตยศและเจ้าพระยาขุนจงคงกระพัน (เจ้าพ่อกู่ช้าง)

ในรอบหนึ่งปีจะทำพิธีรดน้ำดำหัวและบวงสรวงศาลเจ้าพ่อกู่ช้างอยู่เพียงครั้งเดียวคือในวันที่ 17 เมษายน ดังนั้นพิธีในวันนี้จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวลำพูนเดินทางมาร่วมงานมากมายให้สมกับที่พวกเขารอคอยมาเกือบตลอดหนึ่งปีเต็ม และด้วยแรงเคารพนับถือที่ยึดมั่นต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นี่จึงเป็นนัยยะแห่งศรัทธาที่สามารถเชื่อมต่อโลกของปัจจุบันกับโลกของวิญญาณได้เป็นอย่างดี

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น