จ.น่าน ร่วมงานประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลีศรีมหาโพธิ์ เทศกาลปี๋ใหม่เมือง ตามความเชื่อไม้ค้ำยันค้ำชูพระพุทธศาสนา

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 เวลา 15.00 น.ที่วัดศรีพันต้น ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ร่วมกับเทศบาลเมืองน่าน นำพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาแต่ละชุมชน / หมู่บ้าน ในพื้นที่จังหวัดน่าน ร่วมงานประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลีศรีมหาโพธิ์ ในประเพณีปี๋ใหม่เมือง ประจำปี 2562 โดยแต่ละชุมชนประกอบด้วย ชุมชนบ้านศรีพันต้น ชุมชนบ้านศรีมหาโพธิ์ ชุมชนบ้านพวงพยอม ชุมชนบ้านพญาวัด ชาวบ้านบ้านปางค่า ชุมชนตำบลถืมตอง เครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สสส.) คณะสายบุญครูบาธรรมชัย ศิษย์เอกหลวงปู่ขันธ์ วัดศรีพันต้น

นำรถไม้ค้ำสะหลีฯ เข้าร่วมคลื่อนขบวนแห่ออกจากวัดศรีพันต้น ไปตามถนนในเขตเทศบาลเมืองน่าน และกลับสู่จุดเริ่มต้น โดยมีดนตรีแห่ไม้ค้ำสะหลี ที่มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ 2 – 5 เมตร แห่ไปตามถนนเขตเทศบาลเมืองน่าน สร้างความคึกคักเป็นอย่างมาก ทำให้คนที่มาเห็นครั้งแรกรู้สึกได้ความสนุกสนานและความสามัคคีของคนในชุมชน ทั้งเด็กวัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้เฒ่าผู้แก่จะมาร่วมขบวนแห่ ฟ้อนรำอย่างสนุกสนานตามจังหวะเสียงดนตรี ท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด โดยมีรถน้ำเทศบาลเมืองน่าน ฉีดพ่นละอองน้ำสร้างความชุ่มชื้น เมื่อถึงวัดศรีพันต้น ทุกคนจะร่วมกันถวายไม้ค้ำสะหลี ค้ำต้นโพธิ์ให้มั่นคงแข็งแรง อีกทั้งทางวัด ได้จัดตั้งพระพุทธรูปไว้เพื่อให้ประชาชนร่วมสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย

พระครูสุชัยธรรมนันท์ ประธานสงฆ์ สำนักสงฆ์ธรรมชัย เจ้าอาวาสวัดศรีพันต้น ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน กล่าวว่า ทางวัดศรีพันต้น ได้จัดประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลี เป็นประเพณีเก่าแก่มาแต่โบราณ อีกทั้งให้ชาวชุมชนได้ถ่ายทอดเรื่องราว สืบทอดสู่เยาวชนรุ่นลูกหลานมิให้สูญหาย เพื่อนำมาถวายทาน ไม้ค้ำโพธิ์-ไม้ค้ำสะหลี ตามความเชื่อของชาวพุทธ ต้นไม้ใหญ่มักมีเทวดาอารักษ์สิงสถิตอยู่ โดยเฉพาะต้นโพธิ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ส่วนมากจะปลูกไว้ในวัดแล้ว ยังเป็นต้นไม้ในพุทธประวัติ โดยพระพุทธเจ้าได้ประทับใต้ต้นโพธิ์เมื่อตรัสรู้อีกด้วย ต้นโพธิ์เมื่อเจริญเติบโตจะมีกิ่งก้านสาขาทอดยาว บางกิ่งโน้มเอียงจนเกรงว่าจะหักโค่นยามลมพัดแรง จึงมีคนนำไม้ง่ามมาค้ำยันกิ่งไว้ ไม้ง่ามนั้นเรียกว่า “ไม้ค้ำโพธิ์” หรือ “ไม้ค้ำสะหลี”

ซึ่งนอกจากจะเป็นการค้ำยันกิ่งไม่ให้ล้มแล้ว ยังมีความหมายไปถึงการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบต่อไป อีกทั้งเชื่อกันว่า กุศลในการถวายไม้ค้ำโพธิ์จะช่วยคุ้มครองดวงชะตาให้เจริญขึ้น ไม่ตกต่ำ มีคนช่วยเหลือค้ำชูไปตลอด ความเชื่อดังกล่าวเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือโดยทั่วไปในกลุ่มชาวล้านนาทางภาคเหนือของไทย วัดต่างๆ ในภาคเหนือหากมีต้นโพธิ์ใหญ่ก็มักจะมีผู้นำไม้ค้ำสะหลี ไปค้ำยันไว้ และในภาคกลางหรือในกรุงเทพฯ ก็ยังพบเห็นภาพความเชื่อดังกล่าวด้วยเช่นกัน

นายพิเชษฐ ไชยวงศ์หวั่นท๊อก หัวหน้าบ้านศรีพันต้น กล่าวว่าได้ร่วมกับชุมชนต่างๆ ช่วยฟื้นฟูประเพณี การแห่ไม้ค้ำสะหลี หรือ การแห่ไม้ค้ำต้นโพธิ์ไม้ค้ำดังกล่าวอาจได้มาจาก ไม้ง่ามที่ใช้ในพิธีสืบชาตาหรือไม้ค้ำที่จัดหา ขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องในการถวายทานในเทศกาลสงกรานต์ การที่ได้นำเอาไม้ค้ำไปค้ำที่ต้นโพธิ์นี้ แต่ในบางท้องถิ่นแล้ว แทนที่แต่ละคนจะนำเอาไม้ค้ำไปค้ำต้นโพธิ์ตามประสงค์ของแต่ละคนนั้น เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ก็จะนัดหมายให้ชาวบ้านร่วมกันไปหาไม้ค้ำซึ่งจะมีขนาดใหญ่แล้วตกแต่งให้งาม จากนั้นจึงทำพิธีแห่ไม้ค้ำนั้นร่วมขบวนกันเพื่อไปถวายวัดและนำไปค้ำต้นโพธิ์ ดังจะเห็นได้จากศรัทธาชาวบ้านหมู่บ้านต่างในจังหวัดน่าน เพื่อดำรงรักษาไว้ประเพณีสืบต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น