ความทรงจำที่ “สาละวิน” แม่น้ำสายสำคัญที่ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดมาจากดินแดนหลังคาโลก

แม่น้ำสาละวิน เป็นแม่น้ำสายสำคัญอีกสายหนึ่งที่ว่ากันว่ามีต้นกำเนิดมาจากดินแดนหลังคาโลก สืบเนื่องมาจากยามฤดูร้อนหิมะที่ปกคลุมอยู่บนเทือกเขคุนหลุนจะละลายกลายเป็นสายน้ำไหลลงมาทางใต้ ก่อนจะพักที่ทะเลสาบใหญ่แอมโดโซนัก แล้วไหลผ่านเมือง เมนดอส เมืองการ์เท็งและเมืองซาแตง จากนั้นจึงไหลเข้าไปในประเทศจีนบางช่วงของแม่น้ำสาละวินจะเคียงคู่กับแม่น้ำโขง แต่มาแยกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เข้าสู่ประเทศพม่า เลียบแนวชายแดนไทยทางทิศตะวันตกในเขตตำบลกองก๋อย ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง ไปสิ้นสุดชายแดนไทยที่บ้านสบเมยก่อนที่จะไหลย้อนกลับเข้าไปในพม่าไหลลงสู่อ่าวมะตะบันในทะเลอันดามันที่เมืองมะละแหม่ง รวมการเดินทางของสายน้ำสาละวินตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปากอ่าวเป็นระยะทางประมาณ 3,151 กิโลเมตร

แม่น้ำสาละวินนี้ คนโบราณล้านนาเรียกว่า แม่น้ำคง ตลอดแนวสองฟากฝั่งของแม่น้ำสาละวินมีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ บริเวณที่ราบลุ่มของพม่าตอนบนระหว่างลุ่มสาละวินกับอิระวดี เป็นถิ่นที่อยู่ของพวกไทใหญ่ หรือ ชาวไต สมัยโบราณมี “รัฐ 9 เจ้าฟ้า” หมายถึงพวกเจ้าฟ้าไต จัดการปกครองเป็นแบบสหพันธ์รัฐ จากเอกสารล้านนาโบราณชื่อ ตำนานสิงหนวติกุมาร ตอนหนึ่งได้เล่าเรื่องเจ้าชายสิงหนวติ ซึ่งถือกำเนิดในดินแดนแถบนี้ว่าเป็นโอรสของกษัตริย์ที่ปกครองนครไทยเทศ แถบลุ่มแม่น้ำมาง (รัฐเมืองมางอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างจีน กับพม่า) ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินที่ไหลไปทางทิศตะวันตก เจ้าชายสิงหนวติ ได้เดินทางไปแสวงหาที่ทำมาหากินใหม่โดยได้ออกเดินทางจากลุ่มแม่น้ำมาง ไปทางลุ่มแม่น้ำสาละวิน แล้วข้ามฝั่งแม่น้ำสาละวินทางไปตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงบริเวณที่เคยเป็นแคว้นสุวรรณโคมคำ ก็ได้หยุดสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ที่นั่น ในที่สุดก็มีการพัฒนามาเป็นบ้านเมืองใหญ่แถบลุ่มแม่น้ำกก-แม่ลาว คือเมืองเชียงแสน ต่อเนื่องไปจนถึงลุ่มแม่น้ำอิงคือเมืองพะเยา

แม่น้ำสาละวินในช่วงที่ไหลผ่านบริเวณบ้านแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจุดที่ได้รับความสนใจจากบรรดานักท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะถือไว่าเป็นจุดรวมของกลุ่มชนหลายเผ่า มีการนำสินค้าทั้งจากฝั่งไทยและพม่ามาขายกันในบริเวณนี้ บ้านแม่สามแลบเป็นหมู่บ้านใหญ่ที่สุดในบรรดาหมู่บ้านทั้งหลายที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน และที่นี่เองเป็นจุดศูนย์กลางของการล่องเรือ จะล่องขึ้นไปบ้านแม่กองคา อุทยานแห่งชาติสาละวินหรือล่องลงไปที่บ้านสบเมย บริเวณที่แม่น้ำสาละวินกับแม่น้ำเมยไหลมาบรรจบกันนอกจากจะเป็นจุดล่องเรือแล้ว ที่นี่ยังมีตลาดจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง พืชผักผลไม้ที่นำมาจากฝั่งพม่า สินค้าที่ขึ้นชื่อของตลาดริมเมยนี้ได้แก่เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ทั้งที่เป็นโต๊ะตู้ เก้าอี้มีให้เลือกสรรอย่างมากมายในราคาที่ไม่แพงนัก ที่สำคัญตลาดแห่งนี้จะเปิดบริการเแพาะในหน้าแล้งเท่านั้น เพราะเมื่อถึงหน้าฝน น้ำในแม่น้ำสาละวินจะสูงท่วมหาดบริเวณที่ตั้งของตลาด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตลาดแห่งนี้มีชื่อว่า ตลาดปีเดียวล่องใต้ลงมาจากบ้านแม่สามแลบไม่ไกลนักเป็นสถานที่ๆนักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก นั่นก็คือ สบเมย ที่นี่มีบริการบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ สนนราคาไม่แพงเพียงคืนละ 100 – 150 บาท สบเมยเคยได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ๆมีการต่อสู้ระหว่างกลุ่มกะเหรี่ยงที่อยู่ฝั่งไทยกับกลุ่มกะเหรี่ยงฝั่งพม่า เรียกได้ว่าการต่อสู้ในดินแดนแห่งนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่การสู้รบจะมีเป็นช่วงๆคือในเฉพาะฤดูร้อนประมาณเดือนเมษายน

สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับการสู้รบริมฝั่งแม่น้ำสาละวินก็คือการตัดไม้ มีการทำกันเป็นอาชีพแม้ว่ารัฐบาลพม่าจะมีการรณรงค์ให้ปลูกป่าทดแทนแล้ว ทว่ายังมีการลักลอบตัดไม้อยู่ในอนาคตไม่แน่ว่าป่าไม้ในพม่าอาจมีสภาพไม่ต่างจากป่าไม้ในประเทศไทยก็ได้ กระทั่งเคยมีข่าวอยู่พักหนึ่งถึงการที่พม่าแอบลักลอบเข้ามาตัดไม้ในประเทศไทยแล้วนำกลับไปตีตราในพม่าแล้วข้ามฝั่งมาขายให้กับคนไทย เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าป่าไม้ในพม่ากำลังอยู่ในภาวะน่าวิตก บางครั้งมีการพบว่าพ่อค้าบางรายมักจะนำเอาไม้ที่ตัดแล้วมาแลกกับอาวุธในฝั่งไทยก็มีแม่น้ำสาละวินในวันนี้จึงเป็นสายน้ำแห่งสงครามที่กำลังพลิกผันสู่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ให้ความสงบ งดงามแก่จิตใจ แต่ส่วนหนึ่งก็ให้แง่คิดในเรื่องธรรมะของธรรมชาติ เพราะไฟแห่งสงครามอาจคุกรุนขึ้นมาให้ท่ามกลางธรรมชาติเมื่อใดก็ไม่มีใครรู้ ก็ได้แต่หวังว่าสักวันสันติภาพและความสงบสุขคงได้มาเยือนที่แห่งนี้…แม่น้ำสาละวิน

บทความโดย : จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น