กรมอนามัย แนะช่วงหน้าร้อน เลือกซื้อ เลือกกินอาหารทะเลปลอดภัย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนเลือกซื้ออาหารทะเล จากแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่เชื่อถือและได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ เพื่อความสะอาด ปลอดภัย

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า อาหารทะเลเป็นอาหารสดที่เน่าเสียได้ง่าย ทำให้ผู้ประกอบการบางรายใช้วิธีการที่ผิด เพื่อรักษาความสดและชะลอการเน่าเสียของอาหารทะเล ด้วยการนำมาแช่สารฟอร์มาลีน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะสารฟอร์มาลีนเป็นสารที่ห้ามนำมาใส่อาหาร หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลีนไปในปริมาณ 60-90 มิลลิกรัม จะทำให้เป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้เสียชีวิต เพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว

“การเลือกซื้ออาหารทะเล ต้องเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย ซึ่งจะมีการตรวจการปนเปื้อนจากฟอร์มาลีนอยู่สม่ำเสมอ และควรสังเกตอาหารที่จะซื้อด้วย เช่น ซื้อปลาต้องเลือกปลาที่เนื้อแน่น กดไม่บุ๋ม ไม่มีกลิ่นผิดธรรมชาติ เกล็ดไม่มีรอยแยกหรือแตกออก เพราะอาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนในเนื้อปลาได้ง่าย การเลือกซื้อปู ตาต้องใสและขาต้องติดตัวปูครบทุกขา การเลือกซื้อกุ้ง หัวกุ้งต้องใส หัวกับตัวจะยังติดกันแน่น เพราะกุ้งที่ไม่สด หัวหรือส่วนที่เป็นเปลือกส่วนหัวจะไม่ติดกับตัว

นอกจากนี้ ผู้ที่นิยมบริโภคแมงดาและแมงกะพรุน ต้องระวังในการเลือกซื้อ เนื่องจากแมงดาทะเลมี 2 ชนิด คือ แมงดาจานที่ไม่มีพิษ ส่วนแมงดาถ้วยหรือแมงดาไฟหรือเหรา เป็นแมงดาที่มีพิษ ผู้บริโภคต้องสังเกตให้ดีว่าเป็นแมงดาที่กินได้หรือไม่ได้ หากแยกไม่ออก ไม่ควรกิน อาจเสี่ยงได้รับพิษ

ส่วนแมงกะพรุนที่กินได้ มี 2 ชนิด คือ แมงกะพรุนหนังและแมงกะพรุนจาน แต่ผู้บริโภคควรระวังแมงกะพรุนไฟเพราะเป็นแมงกะพรุนมีพิษ ทั้งนี้ อาหารทะเลที่นำมาจำหน่ายควรแช่เย็น หรือแช่น้ำแข็งที่สะอาดและต้องทำความสะอาดภาชนะที่ผสมน้ำคลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรค ที่สำคัญต้องปรุงให้สุกด้วยความร้อน หากไม่กินทันทีควรเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อชะลอการเน่าเสีย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น