ตู้ไม้โบราณที่บ้านถวาย

บ้านถวายเป็นแหล่งผลิตงานหัตถกรรมแกะสลักไม้พื้นบ้านที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตแหล่งแกะสลักไม้จะอยู่เฉพาะในตัวเมือง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2505 มีคนจากบ้านถวายไปศึกษาและเรียนการแกะสลักไม้ที่ร้านน้อมศิลป์ แถบถนนวัวลายประตูเชียงใหม่ แล้วกลับมาสร้างงานแกะสลักไม้ที่บ้านของตนจนมีชื่อเสียงโด่งดัง โดยเฉพาะการแกะสลักพระยืนที่เลียนแบบพม่าถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของแกะสลักไม้บ้านถวายเลยทีเดียว

นอกจากนั้นที่บ้านถวายยังมีการแกะสลักลงบนครกไม้เก่า แกะลายลงบนโต๊ะ เก้าอี้ ตู้เตียง กรอบรูป รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆด้วย เมื่อเวลาเราเดินทางเข้าไปที่บ้านถวายจะเห็นร้านค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณอยู่ตลอดสองข้างทาง ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณเหล่านี้เป็นที่นิยมของนักสะสมและผู้ที่รักของเก่า สำหรับเป็นเฟอร์นิเจอร์ใช้ในการตกแต่งบ้าน

ปัจจุบันเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณแทบจะดูหาชมได้ยาก เพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรวมถึงการรับเอาวัฒนธรรมของชาวตะวันตกเข้ามาจึงทำให้วัฒนธรรมอันดั่งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์ของเราต้องลดน้อยลงไม่ได้รับความนิยมเหมือนแต่ก่อน เช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณประเภท ตู้ เตียง ชุดรับแขกสมัยพ่อยังหนุ่มที่ทำจากไม้ด้วยรูปแบบที่แสนจะคลาสสิคก็มีอันถูกบดบังด้วยเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ในรูปแบบโมเดิร์นสไตล์

แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญของศิลปะอันงดงามของเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณ ด้วยการส่งเสริมและอนุรักษ์รักษางานศิลปะของช่างพื้นเมืองในอดีตให้ได้รับการสืบทอด เช่นเดียวกับภูมิชาย ศรีภูมินทร์ ที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ แม้ว่าตนเองจะสำเร็จการศึกษาระดับสูงจากประเทศออสเตรเลียมาแต่ด้วยพื้นเพที่ได้เห็นผู้เป็นบิดาทำเฟอร์นิเจอร์มาตั้งแต่เด็ก ผนวกกับแม่เป็นคนที่เก็บสะสมของเก่าจึงทำให้เขาหันเหชีวิตจากหนุ่มนักเรียนนอกมาทำเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณ

จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการทำเฟอร์นิเจอร์กว่า 20 ปี ทำให้วันนี้เขามีโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ถึง 2 โรงด้วยกันรวมถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณที่ทำสำเร็จแล้วอีกกว่า 200 ชิ้น เฟอร์นิเจอร์ที่ทำส่งขายมีตั้งแต่ชุดรับแขก โต๊ะ ตู้ เตียง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเฟอร์นิเจอร์เก่าที่มีอายุระหว่าง 50 – 60 ปีขึ้นไป แต่ก็มีบางส่วนที่ทำขึ้นใหม่ให้ดูเป็นของเก่าโดยมีรูปแบบที่นิยมได้แก่ โคโรเนียนสไตล์

เฟอร์นิเจอร์ที่ทำขึ้นนั้นส่วนใหญ่จะเป็นงานฝีมือที่ทำเพียงชิ้นเดียว โดยจะศึกษาแบบจากเดิมที่ซื้อมาจากชายแดนพม่า สำหรับตัวไหนที่ซื้อมาในสภาพชำรุดก็จะทำการซ่อมโดยศึกษาจากรูปแบบที่เหลืออยู่ นอกจากนั้นก็จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมดแต่ออกมาแล้วให้ดูเป็นของเก่า

เฟอร์นิเจอร์ที่ทำขึ้นเพื่อเลียนแบบของเก่าจะต้องใช้ความละเอียดอ่อนพิถีพิถัน เพื่อให้ได้รูปแบบและลวดลายใกล้เคียงกับของเก่ามากที่สุด ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มาซื้อจะเป็นชาวต่างประเทศและมีคนไทยที่มีฐานะก็จะมาหาซื้อด้วยเป็นบางส่วนเพราะเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ใช้เวลาในการทำนานมีการตกแต่งลวดลายอย่างละเอียดจึงทำให้เฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณบางชิ้นมีราคาแพง

เฟอร์นิเจอร์เก่าแทบจะหายากแล้ว จึงต้องส่งซื้อจากประเทศพม่า ทางเมืองเมียวดีติดชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งถูกลำเลียงส่งมาจากเมืองย่างกุ้งอีกทีหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณนั้นหายาก มีราคาแพงและเป็นที่ต้องการของนักสะสมของเก่า

ปัจจุบันการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณมีทำกันไม่ค่อยมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะปัจจัยเรื่องวัตถุดิบก็คือไม้ ที่มีราคาแพงและลดจำนวนลด อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะว่าเฟอร์นิเจอร์ในปัจจุบันได้มีรูปแบบสมัยใหม่ออกมาวางขายมากยิ่งขึ้น ตลาดของเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณจึงถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มเฉพาะผู้ที่สนใจของเก่าเท่านั้น แต่ที่บ้านถวาย อำเภอหางดงก็ยังคงมีการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้กันแทบทุกบ้าน นอกจากนั้นสินค้าที่ขึ้นของบ้านถวายก็คือการแกะสลักไม้เป็นรูปตุ๊กตา รูปสัตว์ต่างๆ ยังเป็นสินค้าส่งออกที่ขึ้นชื่อ และยังคงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก กระทั่งทุกๆปีทางองค์การบริหารส่วนตำบลขุนคงได้จัดให้มีงานมหกรรมไม้แกะสลักบ้านถวายขึ้นติดต่อกันเป็นประจำทุกปี

ทิศทางของงานอนุรักษ์การทำเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณคงจะเป็นเพียงอาชีพหนึ่งเพื่อการค้าของชาวบ้านถวายเท่านั้น หากแต่คนรุ่นหลังไร้จิตสำนึกในการมองเห็นคุณค่าของงานศิลปะที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่สำคัญยังเป็นการปลูกฝังขนบธรรมเนียมและสร้างสำนึกให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและหวนกลับมาอนุรักษ์ของเก่ามากยิ่งขึ้นด้วย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น