ประตูผาลำปาง แหล่งภาพเขียนยุคก่อนประวัติศาสตร์

เทือกเขาสูงตระหง่านกั้นดินแดนพื้นที่ระหว่างอำเภอเมืองและอำเภองาวจังหวัดลำปาง ทอดตัวเป็นแนวยาวคล้ายกับเป็นเสมือนกำแพงขนาดมหึมาที่ปิดงำปริศนาความลับไว้เนินนานหลายร้อยปี

ชื่อเสียงและความศักดิ์สิทธิ์ของประตูผายังคงแผ่กระจายออกไปด้วยในฐานะที่ดินแดนแห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่สร้างวีรกรรมของเจ้าพ่อประตูผาหรือพญามือเหล็ก ยอดขุนพลเมืองเขลางค์นครในการพลีชีพขับไล่ศัตรูพม่าที่รุกรานแผ่นดิน ในตำนานเรื่องเล่าได้

กล่าวถึงความกล้าหาญของเจ้าพ่อประตูผาว่า ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2251 – 2275 ได้มีชายผู้หนึ่งซึ่งเป็นชาวบ้านต้า ชุมชนหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับประตูผา ชายผู้นี้ได้เล่าเรียนวิชาอาคมอยู่กับเจ้าอาวาสวัดนายาง จนมีความสามารถใช้แขนเป็นกำบังแทนโล่ห์ได้ ชาวบ้านต่าง ๆ ในหมู่บ้านขนานนามท่านว่า หนานข้อมือเหล็ก ต่อมาท่านได้เป็นทหารเอกของท้าวลิ้นก่าน เจ้าเมืองผู้ครองนครเขลางค์

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แคว้นล้านนาไทยกับนครเขลางค์ถูกทัพพม่าโจมตี ท้าวลิ้นก่านมีกำลังน้อยกว่าจึงสู้ไม่ได้และได้หนีมาตั้งหลักอยู่ที่ดอยประตูผา และมอบหมายให้ขุนนางทั้งสี่คือ แสนเทพ,แสนหนังสือ,แสนบุญเรือนและจเรน้อย ทำหน้าที่ดูแลบ้านเมืองแทน

แต่ขุนนางเหล่านั้นกลับไม่ได้ดูแลบ้านเมืองคอยเฝ้าแต่จะแย่งกันเป็นใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนั้นเจ้าอธิการวัดนายาง จึงได้เกณฑ์ไพล่พลชาวบ้านออกมาต่อสู้กับพม่าเพื่อกอบกู้เขลางค์นคร แต่ไม่สำเร็จพม่าจึงได้ฆ่าขุนนางเหลือแต่จเรน้อยที่หนีรอดไปสมทบกับกำลังของท้าวลิ้นก่านที่ดอย

ประตูผา ทหารพม่าได้ไล่ติดตามมาทัน พญามือเหล็กจึงได้ให้จเรน้อยนำท้าวลิ้นก่านไปหลบอยู่ในถ้ำ ส่วนตนเองถือดาบขวางเส้นทางเอาไว้และได้ต่อสู้กับทหารพม่าจนดาบหัก ในที่สุดพญามือเหล็กได้อ่อนแรงลงจึงเอนกายพิงหน้าผาขณะที่ในมือสองข้างยังถือดาบอย่างสง่าและสิ้นใจตายในที่สุด

วีรกรรมความหาญกล้าดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการตั้งศาลเจ้าพ่อประตูผาขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณความดีของวีรบุรุษนักรบผู้พลีชีพเพื่อปกป้องบ้านเมืองและยังเป็นที่สักการะกราบไหว้ของลูกหลานชาวลำปางและผู้ที่เดินทางผ่านไปมาในบริเวณนี้

หากลองย้อนกลับในไปในอดีตเมื่อราว 5,000 กว่าปีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และเห็นได้ว่าในบริเวณประตูผาแห่งนี้เคยมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาก่อนแล้ว สังเกตได้จากการค้นพบภาพเขียนของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในแผ่นผาด้านหลังของดอยประตูผาเมื่อปี

พ.ศ.2531 โดยขณะที่กองพันรบพิเศษที่ 3 ค่ายประตูผานำโดย ร.อ.ชูเกียรติ มีโฉม ได้นำกำลังทหารฝึกปฏิบัติการไต่เชือกในบริเวณหน้าผา กระทั่งต่อมาในปี พ.ศ.2541 กรมศิลปากรโดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ร่วมกับกองพันรบพิเศษที่ 3

ค่ายประตูผาได้ดำเนินการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีและคัดลอกภาพเขียนสีพบโครงกระดูกมนุษย์กับวัตถุโบราณยืนยันว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นแหล่งฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในภาคเหนือ สันนิษฐานได้ว่ามีอายุอยู่ในราว 4,000 – 5,000 ปีมาแล้ว

ภาพเขียนสีที่แหล่งโบราณคดีประตูผา จำแนกออกได้เป็น 7 กลุ่มตามลักษณะการเว้าของหน้าผา โดยมีความยาวของภาพเขียนทั้งสิ้นประมาณ 300 เมตร ภาพบางส่วนมีร่องรอยถูกเขียนทับซ้อนกันไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ทำให้พื้นที่เขียนภาพมีลักษณะเป็นปื้นสีแดงหนา นอกจากนั้นยังมีภาพบางส่วนเลอะเลือนเนื่องจากการผุกร่อนตามกาลเวลาและจากการทำลายทั้งโดยธรรมชาติและน้ำมือของมนุษย์

อย่างไรก็ตามทางกรมศิลปากรสามารถคัดลอกภาพได้ถึง 1,872 ภาพซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพมือที่ทำด้วยเทคนิคต่าง ๆ ภาพบุคคลทั้งหญิงและชายที่แสดงกิริยาท่าทางต่างกัน นอกจากนี้ยังพบภาพของสัตว์ต่าง ๆ เช่น วัว ม้า ลิง นกยูง เต่า เก้ง ผีเสื้อ กระต่ายและกระจง เป็นต้น และยังพบภาพของพิธีกรรมอีกด้วย

ภาพทั้ง 7 กลุ่มที่พบมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ภาพกลุ่มที่ 1 “ผาเลียงผา” บริเวณนี้จะพบภาพมือภาพสัตว์คล้ายเต่า เก้งหรือเลียงผา ภาพภาชนะคล้ายชาม ภาพหน่อไม้ กลุ่มที่ 2 “ผานกยูง” จะพบภาพสัตว์คล้ายนกยูง เป็นภาพเด่นของกลุ่มและยังมีภาพตะกวด กระรอก บ่าง พังพอน ภาพบุคคล กลุ่มที่ 3 “ผาวัว” พบภาพวัวและกลุ่มคนแสดงท่าทางคล้ายกำลังประกอบพิธีกรรมอยู่ด้านหน้าของภาพสัตว์ขนาดใหญ่ กลุ่มที่ 4 “ผาเต้นระบำ” พบภาพเล่าเรื่องของกลุ่มบุคคลทั้งหญิงและชาย โดยบุคคลผู้หญิงในภาพคนหนึ่งแสดงการเคลื่อนไหว
คล้ายเต้นระบำ นอกจากนี้ยังพบภาพของคนกำลังวิ่งไล่จับวัว กลุ่มที่ 5 “ผาหินตั้ง” พบภาพสัตว์คล้ายวัว ภาพสัญลักษณ์และภาพการประกอบพิธีกรรมการฝังศพในวัฒนธรรมหินตั้ง กลุ่มที่ 6 “ผางนางกางแขน” จะพบภาพมือ ภาพสัตว์คล้ายตัวตะกวด วัว ผีเสื้อและนก

นอกจากนั้นยังพบภาพผู้หญิงกำลังยกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศรีษะ กลุ่มที่ 7 “ผาล่าสัตว์และผากระจง” พบภาพมือ ภาพสัตว์คล้ายกับกระจงและภาพผู้ชายสองคนกำลังถือบ่วงแสดงการจับสัตว์ จากการศึกษาพบว่าภาพนี้ถูกเขียนขึ้นหลังจากการฝนหรือจารพื้นผนังหินเป็นร่องลึก

สันนิษฐานได้ว่าชุมชนกลุ่มนี้อาจรู้จักการใช้โลหะและนำมาเป็นเครื่องมือในการขุดผนังหินแล้ว ซึ่งภาพเขียนสีทั้งหมดที่พบในบริเวณนี้เขียนขึ้นด้วยสีแดงที่ได้มาจากแร่เหล็กสีแดง (Hematite) ซึ่งพบแทรกอยู่ในหินปูนและหินดินดาน สันนิษฐานว่านำมาจากดอยผาแดง ซึ่งเป็นเทือก

เขาหินปูนขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างออกไปจากแหล่งโบราณคดีประตูผาทางตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ประตูผาจังหวัดลำปาง ถือได้ว่าเป็นแหล่งพบภาพเขียนสีจำนวนมากและยาวต่อเนื่องที่สุดในภาคเหนือ รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ของจังหวัดลำปางอีกด้วย

การเดินทางใช้เส้นทางหลวงจากตัวเมืองลำปาง – อำเภองาว ประมาณ 60 กิโลเมตรจะถึงศาลเจ้าพ่อประตูผา จากนั้นเดินเท้าขึ้นไปตามบันไดอีกประมาณ 300 เมตร ติดต่อสอบถามที่ได้ กองพันฝึกรบพิเศษ ค่ายประตูผา โทร. 0 – 5421 – 7019 ต่อ 3387.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น