“พระราชชายา เจ้าดารารัศมี” ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ขอหยิบยกเรื่องราวของ “พระราชชายา เจ้าดารารัศมี” ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ และ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงเป็นพระธิดาองค์ที่ ๑๑ (องค์สุดท้าย) ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ฯ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๗ ประสูติจากแม่เจ้าทิพเกสร เมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ เหนือ (เดือน ๘ ใต้) ขึ้น ๘ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ เวลา ๐๐.๓๐ น. เศษ ที่คุ้มหลวงกลางเมืองนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในปัจจุบัน

ในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๙ นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรงและ สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมีได้โดยเสด็จพระบิดาลงมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วยและ ได้รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เลยประทับอยู่ ณ กรุงเทพพระมหานครนับแต่นั้นมา ในระหว่างที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทรงดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย มิได้สนพระทัยต่อการถูกมองพระองค์ว่าเป็น “เจ้าหญิงเมืองลาว” แต่ประการใด ทรงให้ข้าหลวงในตำหนักแต่งกายด้วยผ้าซิ่นแบบล้านนา เหมือนเมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่ ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ทุกประการ รวมทั้งโปรดให้ให้ศึกษาศิลปะดนตรีไทย ดนตรีสากล การขับร้องและ การฟ้อนรำ

ฉลองพระองค์ด้วยผ้าซิ่นแบบล้านนาไว้ผมมวย

จนกระทั่งปี ๒๔๕๑ ที่เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยือนนครเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ขึ้นเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง ดำรงพระอิสริยยศ “พระราชชายา” และดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้านายในราชวงศ์จักรีนับแต่นั้น ถึงแม้จะทรงศักดิ์เป็นพระมเหสีในตำแหน่งพระราชชายา แต่กระบวนเสด็จพระดำเนินสู่นครเชียงใหม่ครั้งนั้น รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชทานอย่างเต็มตามโบราณราชประเพณีเสมอด้วยทรงครองพระอิสริยยศพระมเหสีในตำแหน่ง “พระอัครชายาเธอ” เลยทีเดียว

เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ “เจ้าจอมมารดาดารารัศมี” ขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี มีตำแหน่งเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่งออกพระนามว่า “เจ้าดารารัศมี พระราชชายา” นับเป็นพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงนับได้ว่า “เจ้าดารารัศมี พระราชชายา” เป็นพระมเหสีลำดับที่ ๕ ในเวลานั้น

หลังจากเสด็จนิวัติพระนคร พระราชชายาฯ ได้ทรงประทับอยู่ในพระราชวังดุสิต อย่างสำราญพระทัยที่ได้ทรงกลับมารับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบรมราชสวามีได้เพียง ๑๐ เดือน ก็ต้องทรงประสบกับเหตุวิปโยคคราใหญ่ในพระชนม์ชีพอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นับรวมเวลาที่ พระราชชายาฯ ได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท เป็นเวลา ๒๓ ปีเศษ

นับแต่สิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาฯ ยังทรงประทับในพระราชวังดุสิตมาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมทูลลา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เพื่อเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่เป็นการถาวร เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็เสด็จพระดำเนินสู่นครเชียงใหม่ โดยเสด็จออกเดินทางเมื่อ วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ และเสด็จพระดำเนินถึงยังนครเชียงใหม่ในวันที่ ๒๒ เดือนเดียวกัน ได้เข้าประทับยังคุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง ตั้งแต่นั้น

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม อันเป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทานเป็นที่ประทับ โดยแวดล้อมด้วยพระประยูรญาติและข้าหลวงในพระองค์เป็นเวลานานถึง ๒๐ ปี จนกระทั่ง วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ พระองค์เริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคพระปัปผาสะพิการ (ปอดพิการ) แพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้พยายามถวายการรักษาอย่างเต็มที่ แต่พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด เจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา จึงเชิญเสด็จมาประทับ ณ คุ้มรินแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่  เพื่อให้สะดวกในการที่พระประยูรญาติจะได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการและเป็นการง่ายที่แพทย์จะถวายการรักษา

เจ้าแก้วนวรัฐ พระประยูรญาติ และข้าราชบริพาร ยังได้จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ชนิดย้ายที่ได้จากประเทศอินโดนีเซียเพื่อฉายดูพระปัปผาสะ เป็นการช่วยแพทย์แผนปัจจุบัน แต่พระอาการก็มิได้ทุเลาลงแต่อย่างใด

พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เมื่อเวลา ๑๕.๑๔ น. ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชันษา ๖๐ ปี ๓ เดือน ๑๓ วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศกุดั่นน้อยและเครื่องสูง ๑ สำรับ และให้ข้าราชบริพารไว้ทุกข์มีกำหนด ๗ วัน เป็นเกียรติยศ

กู่พระอัฐในวัดสวนดอก

พระกรณียกิจสำคัญ พระราชชายาฯ มีพระกรณียกิจที่ทรงคุณเอนกอนันต์ต่อล้านนาและสยาม พอสังเขป ดังนี้

-ทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องดนตรีพื้นเมืองและ ศิลปะการแสดงพื้นเมืองนั้น ด้วยมีพระนิสัยโปรดเล่นดนตรีไทย ตั้งแต่ครั้งประทับอยู่ใน พระบรมมหาราชวัง ซึ่ง วงดนตรีไทยประจำพระตำหนักของพระราชชายา นั้น มีกิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วฝ่ายใน เมื่อเสด็จมาประทับนครเชียงใหม่ โปรดให้รื้อฟื้นศิลปะการฟ้อนรำ การดนตรีพื้นเมืองทั้งหมด โปรดให้รวบรวมศิลปินล้านนาเก่าแก่มาเป็นบรมครูผู้ประสาทวิชาเพื่อสนับสนุนให้ความรู้แก่พระญาติและ ประชาชน รวมทั้งโปรดให้จัดการฝึกสอนขึ้นในพระตำหนัก พระญาติของพระองค์ต่อมาได้มีบทบาทในการสานต่อพระปณิธานดังกล่าว อาทิเช่น เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ ซึ่งต่อมาเป็นศิลปินแห่งชาติและ เจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ ผู้สืบทอดการผลิตเครื่องดนตรีและ การเล่นดนตรีพื้นเมืองและ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพโปรดให้ครูช่างฟ้อนเมืองทุกแบบและ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาในวังมาสอนนักเรียนด้วยเพื่อเป็นการสืบทอดมรดกทางนาฏศิลป์

-ทรงฟื้นฟูและ ส่งเสริมกิจการทอผ้าซึ่งเคยมีชื่อเสียงมาช้านานในล้านนา ได้ทรงรวบรวมผู้ชำนาญการทอผ้ายก ผ้าซิ่นตีนจก และฝึกสอนช่างทอ โดยสร้างโรงทอผ้าที่หลังตำหนักของพระองค์ มีกี่ทอผ้าประมาณ ๒๐ หลัง ภายหลังพระญาติจากนครลำพูนได้มาศึกษาการทอผ้าซิ่นยกดอกและ นำไปฝึกหัดคนในคุ้มหลวงที่ลำพูนจนมีความชำนาญและ ได้สืบทอดต่อกันมาจวบจนปัจจุบัน กิจการด้านการทอผ้าได้แพร่หลายไปสู่หมู่ประชาชน จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของเชียงใหม่และ ลำพูนมาตราบจนปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น