ลำพูนเคยมีแนวกำแพงและประตูเมือง

จังหวัดลำพูนเป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 มีการวางผังเมืองตามคติโบราณ โดยมีปราการอันได้แก่คูเมืองและ กำแพงเมืองเป็นแนวป้องกันการบุกรุกของข้าศึกศัตรูสัณฐานของตัวเมืองที่มองจากภาพถ่ายทางอากาศเหมือนกับรูปเปลือกหอย ตรงกับข้อความที่ปรากฏอยู่ในตำนานมูลศาสนาซึ่งกล่าวถึงการสร้างเมืองหริภุญชัยโดยพระฤาษีวาสุเทพ และ พระสุกกทันตะฤาษีไว้ดังนี้

“ฝ่ายว่านกหัสดีลิงค์ตัวนั้น เมื่อได้ยินยังถ้อยคำแห่งเจ้าฤาษีกล่าว ดังนั้นก็บินไปสู่มหาสมุทรนำเอามายังเกล็ดหอย แล้วก็นำไปส่ง แก่วาสุเทวฤาษีและ สุกกทันตฤษี ตามคำสั่งของอนุสิสสฤษีครั้นไปถึงจึงไปจับอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง ริมแม่น้ำระมิงค์หนตะวันตก ตรงที่พระศาสดาทรงประดิษฐานพยากรณ์ครั้งนั้น แล้วทิ้งลงมาซึ่งเกล็ดหอยอันนั้น ณ ที่นั้น ขณะนั้นวาสุเทวฤษีครั้นได้แล้วซึ่ง เกล็ดหอย จึงเอาไม้เท้าขีดยังพื้นดินในสถานที่นั้นให้รอบเสมอดังเกล็ดหอยอันนั้น ทันใดนั้นเดชอำนาจแห่งฤทธิพระฤษีแผ่นดิน อันหนาก็ยุบลง เป็นคูรอบพระนครตามรอยปลายไม้เท้าอันพระฤษีขีดไว้นั้น หอทิ้งท่านท้าวปราการทั้งมวลก็พุ่งขึ้นมาพร้อมบริบูรณ์ เหตุดังนั้น เมืองนี้จึงได้ชื่อว่าลพุนนั้นแล”

แนวกำแพงเมืองหริภุญชัยเดิมคงจะได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง แต่การบูรณะครั้งใหญ่เกิดขึ้นในสมัยของพระเมืองแก้วในราวพุทธศตวรรษที่ 21 แต่ก็ยังเห็นได้ชัดเจนว่าคงยึดถือตามคติเดิมตามที่กล่าวไว้ในตำนานการสร้างเมือง คือคงมีสัญฐานคล้ายกับเปลือกหอยนั่นเอง

หลักฐานการบูรณะกำแพงเมืองในสมัยพระเมืองแก้วปรากฏอยู่ในตำนาน วัดพระธาตุหริภุญชัยซึ่งเรียบเรียงโดย อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย กล่าวว่าการสร้าง แนวกำแพงเมืองใหม่นั้นได้ถือเอาฤกษ์แรกสร้างในวัน 5 (วันพฤหัสบดี) ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 2 (เดือนยี่) ปีรวายไจ้ (ปีชวด) ศักราชได้ 878 ยามคลาด (บ่าย) 20 น้ำ พระอาทิตย์ พระพุทธ พระเสาร์ อยู่อาศีประจิตร พระศุกร์อยู่ราศีดุลย์ พระพฤหัสบดีอยู่ราศีสิงห์ลัคณาอยู่ราศีกรกฏ พระอังคารอยู่ราศีเมษ พระจันทร์อยู่ราศีมังกร ฤกษ์ที่ 23

กำแพงเมืองที่สร้างใหม่นี้มีปริมณฑลโดยรอบได้ 1,596 วา 2 ศอก ประตูขัว (ท่าสิงห์) ถึงท่าข้าม (ท่าขาม) มี 182 วา ประตูท่าข้าม ถึงประตูลี้มี 250 วา 3 ศอก ประตูลี้ ถึงประตูมหาวันมี 249 วา ประตูมหาวันถึงประตูช้างสีหัวเวียงมี 345 วา ประตูหัวเวียงถึงประตูท่านางมี 175 วา ประตูท่านางถึงประตูเวียงเรือถึงหัวขัวมี 162 วา 1 ศอก ใช้หินแลงก่อทั้งสิ้น 56,780 ก้อนใช้อิฐก่อทั้งสิ้น 6,315,000 ก้อน ในการก่อสร้างกำแพงเมืองนี้พระเมืองแก้วโปรดให้ พันหยาหน้อยเป็นหัวหน้าผู้ควบคุมการก่อสร้าง

ลักษณะของกำแพงเมืองลำพูนดังกล่าว เป็นกำแพงที่ก่อด้วยอิฐสอปูน มีแนวของ คูเมืองอยู่ด้านนอกขนานไปกับตัวกำแพง เป็นแนวยาวเกือบตลอดทั้ง 4 ด้านยกเว้นด้านตะวันออกที่มีแม่น้ำกวงไหลผ่านเป็นปราการทางธรรมชาติ ตัวกำแพงแบ่งออกเป็น สองส่วน คือส่วนฐานมีความสูงประมาณ 3 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง ด้านบนก่ออิฐทำเป็นรูปใบเสมา

ประตูเมืองโดยรอบนั้นเดิมมีทั้งหมด 6 แห่ง คือ “ประตูท่าขาม” ซึ่งเป็นประตู ใหญ่ด้านหน้าเมือง หันออกสู่แม่น้ำกวงซึ่งเป็นแม่น้ำ สายสำคัญที่หล่อเลี้ยง ชาวลำพูนมาแต่โบราณ ถัดขึ้นไปทางทิศเหนือเป็นประตูเล็ก ๆ อยู่ด้านวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร คือ “ประตูท่าสิงห์” ถัดจากประตูท่าสิงห์ ขึ้นไปทางทิศเหนือคือ “ประตูท่านาง” แต่เดิมตรงประตูนี้มีสะพานไม้ขนาดเล็ก ทอดไปยังฝั่งตรงกันข้าม ซึ่งเป็นหมู่บ้านเวียงยองตรงกับด้านหลังของ วัดหัวขัว หมายถึงวัด ที่อยู่ตรงหัวสะพานนั่นเอง ด้านเหนือของ ตัวเมืองมี “ประตูช้างสี” เพียงประตูเดียว

ประตูแห่งนี้มีตำนานกล่าวถึงความเป็นมาของชื่อ ประตูเมืองคือ เมื่อครั้งที่พระเจ้ามหันตยศและ พระเจ้าอนันตยศพระราชโอรสของพระนางเจ้าจามเทวีได้ช้างสำคัญคู่พระบารมีชื่อ “ผู้ก่ำงาเขียว” มาจากดอยอ่างสรงแล้วทรงนำช้าง เข้าเมืองทางประตูด้านทิศเหนือของพระนคร

ขณะที่ช้างเดินผ่านประตูเข้าไป ช้างได้เอาสีข้างสีกับประตูเมืองจึงเป็นเหตุให้ประตูนี้ได้ชื่อว่า ประตูช้างสี มาตราบเท่าทุกวันนี้ ก่อนที่ประตูช้างสีจะถูกรื้อลงนั้น ประตูช้างสีเป็นประตูแคบ ๆ มีความกว้างประมาณ 3 เมตรเท่านั้น ผนังทั้งสองข้างของประตูช้างสีทำเป็นซุ้มโค้งภายในมีรูปปั้น ของช้างโผล่มาแค่ขาคู่หน้าภายหลังเมื่อมีการขยายประตูเมืองในปี 2482 โดยขยายความกว้างของประตูเมืองออกข้างละ 6 เมตรทำให้รูปปั้นของช้างถูกรื้อออกไปด้วย คงเหลือเพียงแค่ขาคู่หน้าเท่านั้น

ต่อมาในปี 2491 ทางเทศบาลเมืองลำพูนได้รื้อ แนวกำแพงเมืองลำพูนลงจนเกือบหมด คงเหลือเพียงประตูช้างสีกับประตูมหาวันเท่านั้น ด้านประตูช้างสีนั้นได้มีการตัดทอนส่วนสูง ลงมาพร้อมกับการขยายช่องประตูให้กว้างออกไปและมีการลบมุมของช่องประตูด้านในให้โค้ง กับเส้นทางจราจรในส่วนนั้นซึ่งเป็น ทางแยกดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนทางด้านตะวันตกมีประตูชื่อว่า “ประตูมหาวัน” ซึ่งในปัจจุบันนี้คงเหลือเพียงแนวประตูด้านเหนือเป็นบางส่วนเท่านั้น คือส่วนฐานที่ก่อด้วยศิลาแลง ส่วนของประตูด้านใต้เหลือให้เห็นเพียงกองอิฐดินเตี้ย ๆ เท่านั้น ทางด้านทิศใต้ของตัวเมือง มี “ประตูลี้” เพียงประตู เดียว ปัจจุบันไม่หลงเหลือสภาพของประตูเมืองให้เห็นแล้ว กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนกำแพงเมือง ลำพูนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2478

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น