ย้อนตำนานวัดล้านนา ที่วัดพระสิงห์ วัดประจำของคนปีมะโรง

วัดพระสิงห์ ตั้งอยู่บน ถนนสิงหราชจรด กับ ถนนราชดำเนิน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร และยังเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงาม
วัดพระสิงห์ ตั้งอยู่บน ถนนสิงหราชจรด กับ ถนนราชดำเนิน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร และยังเป็นสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงาม ซึ่งเป็ที่รู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ตามคติล้านนา คนเกิดปีมะโรงต้องมาไหว้พระสิงห์ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ กล่าวว่า พญาผายู โปรดให้สร้างเจดีย์ สูง 23 วา เพื่อบรรจุอัฐิพญาคำฟู พระบิดาของพระองค์ เมื่อปี พ.ศ.1888 ต่อ มาในปี พ.ศ.1890 จึงโปรดให้สร้างบริเวณนี้ขึ้นเป็นวัด และนิมนต์พระเถระอภัยจุฬาพร้อมภิกษุสงฆ์มาจำพรรษา แต่เนื่องจากหน้าวัดเป็นสถานที่ชุมนุม ซื้อ ขายแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวเมือง วัดนี้จึงให้อีกชื่อว่า “วัดลีเชียง” (ลี แปลว่า ตลาด ) แต่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “กาดลี”
ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระสิงห์สกุล ช่างเชียงแสน ศิลปะล้านนา ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเชียงราย ขณะนั้นเชียงรายกับเชียงใหม่ เกิดการรบพุ่งกันขึ้น เชียงใหม่เป็นฝ่ายชนะ พระเจ้าแสนเมืองมา (พญาแสนเมือง พ.ศ.1931-1954 ) เสด็จกลับนครเมืองเชียงใหม่ จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธ สิหิงค์มายังเมืองเชียงใหม่โดยล่องเรือมาตามลำน้ำปิง
เรืออัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาเทียบท่าฝั่งนครเชียงใหม่ ที่ท่าวังสิงห์คำ ขณะเชิญขึ้นประดิษฐานบนบุษบกปรากฎรัศมีจากองค์พระเรืองรองเป็นลำไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไกลถึง 2,000 วา ต่อมาจึงได้มีการสร้างวัดขึ้น ณ ที่นั่นได้ชื่อตามเหตุอัศจรรย์ในครั้งนั้นว่า “วัดฟ้าฮ่าม” ซึ่งหมายถึงฟ้าอร่าม นั่นเอง แต่เดิมนั้นพระเจ้าแสนเมืองตั้งพระทัยจะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานยังวัดบุปฝาราม (วัดสวนดอก) ซึ่งตั้งอยู่นอกเวียงออกไปทางทิศตะวัน ตก แต่เมื่อชักลากบุษบกไปถึงวัดลีเชียงพระก็มีอันติดขัดไม่อาจลากต่อไปได้ พระเจ้าแสนเมืองมาถือเป็นศุภมิตรจึงโปรดให้สร้างมณฑปขึ้นวัดลีเชียงและ ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ ณ วัดนั้น
ต่อมาชาวบ้านต่างพร้อมใจกันนิยมเรียกวัดนี้ว่า “วัดพระสิงห์” ตามนามของพระพุทธรูป กระทั่ง พ.ศ.2483 (1940) จึงได้รับการสถาปนานายกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร และได้รับนามใหม่ว่าวัดพระสิงห์วรมหาวิหารมาจนถึงปัจจุบัน โดยกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญระดับชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 และประกาศกำหนดขอบเขตในกราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2522 และในเทศกาลสงกานต์ของทุกปีจะมีการอัญเชิญพระสิงห์สิหิงค์ประดิษฐานบนบุษบกแห่รอบเมืองเชียงใหม่ให้ประชาชนสรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นประจำทุกปี ภายในวัดพระสิงห์มีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่ หอไตร สร้างเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ ที่ตัวผนังตึกด้านนอกประดับด้วยทวยเทพปูนปั้นแต่งองค์ทรงเครื่องสวยงาม ทำเป็นรูปเทพพนมยืน บ้างก็เหาะ ประดับอยู่โดยรอบ เป็นฝีมือช่างสมัยพระเมืองแก้วต่อมาในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐได้มีการซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ ประมาณ พ.ศ.2467 ที่ฐานหอไตรปั้นเป็นลายลูก ฟักลดบัวภายในประดับด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ เช่น นางเงือกมีปีก คชสีห์มีปีก และกิเลน เป็นต้น โดยประจำยามที่มีลักษณะละม้ายลายสมัยราชวงค์เหม็งของจีน
โบสถ์ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขโถงทั้งทั้งด้านหน้าด้านหลัง ด้านข้างแลเห็นหน้าต่างขนาดใหญ่ตีเป็นช่องแบบไม้ระแนง แต่ภายในเป็นหน้าต่างจริง มีลายปูนปั้นบริเวณซุ้มประตูทางเข้า หน้าบันมีลักษณะวงโค้งสองอันเหนือทางเข้าประกบกัน เรียกว่า คิ้วโก่ง เหนือคิ้วโก่งเป็นวงกลมสองวงคล้ายดวงตา ที่เสาและส่วนอื่น ๆ มีปูนปั้นนูน มีรักปั้นปิดทอง ถือเป็นลักษณะอาคารและการตกแต่งเป็นแบบศิลปะล้านนาที่วิจิตรสวยงามโดยแท้
วิหารลายคำ เป็นวิหารทรงพื้นเมืองล้านนาขนาดเล็ก ภายในประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” ขนาดหน้าตักกว้าง 31 นิ้ว สูงจากขอบฐานถึงยอดพระเมาลีบัวตูม 51 นิ้ว บนผนังด้านหลังพระประธานมีรูปปราสาทแวดล้อมด้วยมังกรและหงส์ มีความงดงามน่าชมยิ่ง มีเสาหลวง (เสากลม) เสาระเบียง (เสาสี่ เหลี่ยม) ที่ผนังวิหารมีภาพจิตรกรรมโดยรอบ ด้านเหนือเขียนเป็นเรื่องสังข์ทอง ด้านใต้เป็นเรื่องสุวรรณหงส์โดยเฉพาะเรื่องสังข์ทองพบเพียงที่นี่แห่งเดียว อีก ทั้งเป็นวิหารลายคำที่พบที่นี่ได้แห่งเดียวเท่านั้น และลักษณะเด่นของภาพจิตรกรรมที่พบในล้านนา ซึ่ง ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ประติมากร ชาวอิตาเลียน บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ได้สรุปไว้ว่า “จิตรกรรมในภาคเหนือนิยมเขียนภาพชีวิตประจำวันเป็นภาพเหมือนชีวิตจริง ถ้ามองดูภาพที่งดงามเรื่องสังข์ทองในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เราจะรู้สึกคล้ายกับว่า เราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นจริงตามความเป็นอยู่เมื่อ 100 ปีก่อน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น