พระเจ้าไม้ พระพุทธรูปแห่งดินแดนเมืองล้านนา

พระเจ้าไม้ หรือ พระไม้ ในดินแดนแห่งล้านนา หมายถึง รูปองค์พระปฎิมากร ที่ได้สลักเสลาจากไม้จนเป็นพระพุทธรูปซึ่งพระพุทธรูป มีหลากหลายพุทธลักษณะ และมีขนาดแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ขนาดเล็กประมาณ 1 นิ้ว ถึงขนาดใหญ่ๆหลายศอกก็มี แต่ส่วนมากมีขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 2-5 นิ้ว แกะสลักจากไม้ท่อนเดียว และบ้างก็ประกอบขึ้นด้วยไม้หลายชิ้น นิยมสร้างให้มีฐานสูงเพื่อให้มีเนื้อที่จารึกข้อความได้บางองค์ฐานกับองค์พระเป็นคนละชิ้นกัน และบางองค์เจาะรูที่ฐาน นอกจากนี้ยังพบว่าบางองค์มีการปิดทองล่องชาดด้วย
พระเจ้าไม้ในล้านนา แต่เดิมจะประดิษฐานอยู่ตามฐานชุกชีในพระวิหารในวัด ถือเป็นของสูงที่ผู้คนให้ความเคารพนบไหว้ ทว่าในปัจจุบันพระเจ้าไม้ดังกล่าวกลับปรากฏอยู่ตามร้านจำหน่ายวัตถุโบราณ หรืออยู่ตามบ้านเรือนของบุคคลที่เป็นนักสะสมของโบราณ อีกทั้งเคยพบในอาคารบางแห่ง เช่น โรงแรม หรือเรือนรับรอง จัดเป็นเครื่องประดับตกแต่งภายใน และมักจะประดิษฐานอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมไม่ควรตามขนบนิยมของคนในล้านนา
พระเจ้าไม้ ไม่ว่าขนาดใดก็ตาม เท่าที่พบนิยมสร้างจากไม้สักเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้นอกจากชื่อไม้สักจะเป็นไม้มงคลแล้ว ยังเป็นไม้ที่แกะง่าย ทนมอด ทนปลวก พระเจ้าไม้องค์ขนาดใหญ่ เช่น พระพุทธนเรศร์สักชัยไพรีพินาศ ที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระประธานในพระวิหาร วัดสุวรรณประดิษฐ์ (ช่างคำน้อย) และวัดท้าวคำวังที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พระเจ้าพร้าโต้ทั้ง 3 องค์ (ที่วัดศรีดอนคำ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ที่พิพิธภัณฑ์ไร่แม่ฟ้าหลวง เมืองแพร่)
ไม้ที่นำมาแกะสลักพระไม้มี ไม้เสรี (อ่าน “สะหลี”) หรือ ไม้ศรี หรือไม้โพ คือต้นโพธิ์ ถือว่าเป็นไม้โพธิ์พฤกษ์ของพระพุทธเจ้า จึงนิยมนำมาแกะเป็นพระพุทธ ไม้สะเหลียม หรือ ไม้สะเดา เพราะเชื่อว่าเป็นไม้โพธิ์ของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน และเป็นไม้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคตมะได้เคยมาจำพรรษาอยู่ในพรรษาที่ 12 ไม้แก่นจันทน์ หรือไม้จันทน์หอม พระเจ้าไม้แก่นจันทน์หรือไม้จันทน์หอมนี้พบน้อยมาก ถ้าใครมีหรือวัดใดมีจะถือเป็นของสุดรักสุดหวง ไม้ไผ่ หมายถึงพระพุทธรูปที่สร้างจากไม้ไผ่ การสร้างพระเจ้าจากไม้ไผ่มีวิธีทำเช่นเดียวกับการทำเครื่องเขิน ไม้แก้ว (พิกุล) ไม้จำปา ไม้จำปี ไม้เดื่อปล่อง ไม้เดื่อเกลี้ยง ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้ซ้อ เป็นต้น ไม้ที่นำมาสร้างพระเจ้าคงไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ด้วยว่ามีไม้อยู่หลากหลายชนิด และไม้เหล่านั้นก็เป็นไม้มงคลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนามมงคล หรือมงคลตรงที่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างเหมาะสม
คนเฒ่าคนแก่ หลายท่านได้กล่าวว่า จะใช้ไม้อะไรก็ได้เหมือนกัน ขอให้แกะง่ายเท่านั้น พระเจ้าบางองค์ไม่สามารถบอกได้ว่าสร้างจากไม้อะไร ส่วนในอานิสงส์การสร้างพระเจ้าที่ปรากฏในเอกสารคัมภีร์ใบลานได้กล่าวถึงไม้ที่สร้างไว้อย่างกว้างๆ ว่าเป็นลำไม้และที่เจาะจงชื่อก็มีอยู่เพียงไม่กี่ชนิด จึงอาจกล่าวได้ว่าไม้ที่ใช้สร้างพระเจ้านั้น เป็นไม้อะไรก็ได้ ขอให้เป็นไม้มงคลและสามารถสลักเป็นสารูปพระเจ้าได้ง่ายก็พอ เพราะถ้าจุดประสงค์การสร้างดี ทุกอย่างก็เป็นมงคลทั้งสิ้น
ขอขอบคุณ/พระไม้ พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
ข้อมูล/วิลักษณ์ ศรีป่าซาง, “พระเจ้าไม้,” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 8

ร่วมแสดงความคิดเห็น