หมอกควันไฟป่าใน จ.แม่ฮ่องสอน กลับมาหนักอีกครั้ง ค่าฝุ่นพิษ 2.5ไมครอนพุ่งพรวด

หมอกควันไฟป่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กลับมาหนักอีกครั้ง ค่าฝุ่นพิษ 2.5ไมครอนพุ่งพรวดไปที่ 98 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หลังที่ลดลงสู่ภาวะปกติได้เพียง 3 วันเท่านั้น พบมีการเผาป่าในพื้นที่บนดอยสูง พื้นที่ ต.ห้วยปูลิงหลายจุด

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 เวลา 08.00 น. กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานคุณภาพอากาศบริเวณ ต.จองคำ อ.เมือง จ. แม่ฮ่องสอน พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่า 94 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าปริมาณฝุ่นดังกล่าว ได้เริ่มสูงเกินค่ามาตรฐานตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาแล้ว 3 วัน
นายสุนทร กันทะมาลา นักอุตุนิยมวิทยาปฏิบัติการ สถานีอุตุนิยมวิทยา จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ค่าทัศนวิสัยในการมองเห็นเช้าวันนี้ ( 25 ) วัดได้ 2,000 เมตร สาเหตุมาจากหมอกควันไฟป่าที่หนาทึบ ขณะที่อุณหภูมิสูงสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา วัดได้ 42.6 องศาเซลเซียส และสูงที่สุดของภาคเหนือ

นายกัมปนาท ประจงพิมพ์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าแม่ฮ่องสอน สบอ.16 สาขาแม่สะเรียง เปิดเผยว่าเมื่อเย็นวานที่ผ่านมา( 24 เม.ย.62 ) สถานการณ์ไฟป่ายังคงเกิดขึ้น ซึ่งทางสถานีควบคุมไฟป่าแม่ฮ่อง สอน ได้จัดกำลังร่วมกับ ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่าพิษณุโลก,นครราชสีมา,เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ มส.2 ม่อนตะแลง ดับไฟป่า จำนวน 2 ครั้ง 23 ไร่ บริเวณทิศตะวันออกบ้านใหม่ ม.5 ต.ปางหมู อ.เมือง และ บริเวณทิศเหนือบ้านพะโข่โหล่ ม.10 ต.ปางหมู อ.เมือง  ซึ่งการดับไฟป่าของชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่าพิษณุโลก , นครราชสีมา ที่เดินทางมาสมทบหน่วยดับไฟป่าของแม่ฮ่องสอน ในการดับไฟป่าวันสุดท้าย ( 24 ) ก่อนที่จะเดินทางกลับที่ตั้งปกติของแต่ละหน่วย

แหล่งข่าวในหน่วยดับไฟป่าแห่งหนึ่งระบุว่า ในช่วงปัจจุบัน เป็นวิถีชีวิตของชาวเขาที่จะต้องเตรียมพื้นที่เพาะปลูกข้าวไร่ ซึ่งจะต้องมีการเผาวัชพืชในแปลงปลูกข้าว ซึ่งเรื่องดังกล่าว เป็นวิถีชีวิตของชาวเขา ที่มีมาแต่บรรพบุรุษ หากไม่ปลูกข้าวก็จะไม่มีข้าวกิน การห้ามไม่ให้เผาจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนคนบนดอยอย่างหนัก และจะทำให้เกิดความขัดแย้ง และต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นมาได้ ทั้งนี้ในห้วงห้ามเผาป่าที่ผ่านมา การออกกฎต่าง ๆ เพื่อบีบราษฎรในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเผาป่า ห้ามเข้าเก็บหาของป่า ส่งผลให้เกิดไฟป่ามากกว่าปกติ และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ ส่งผลให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ในการแก้ปัญหาด้วยการดับไฟป่าเป็นอย่างมาก

ร่วมแสดงความคิดเห็น