ก้าวย่างจาก “เมืองน่านน่าอยู่” สู่ “น่าน นครแห่งความสุขเมืองเก่าที่มีชีวิต”

นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองน่านใช้นโยบายเทศบาลเมืองน่าน “ห้องรับแขกของจังหวัดน่าน” การสร้างเมืองให้สะอาด เราคงไม่สามารถจ้างคนมากวาดถนนทุกชั่วโมง ปัจจุบันมีจิตสาธารณะพิทักษ์ความสะอาดในชุมชน อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก กว่า 200 คน ดูแลความสะอาดในตรอก ซอกซอย บางชุมชนร่วมกันทำให้ถนนปลอดถังขยะ การเก็บขยะของรถขยะก็ต้องเป็นเวลาที่ตรงกันทุกครั้ง ชาวบ้านก็จะเอาถุงขยะมาวาง ก่อนเวลาที่รถขยะจะมาเก็บ การปรับภูมิทัศน์เมือง ทั้งรั้วเตี้ยแบบปล่องไข่ ทำให้เห็นความงดงามของสถาปัตยกรรมก็ดี การสนับสนุนการนำสายไฟสายสื่อสาร ลงใต้ดินของจังหวัดก็ดี ทำให้ทัศนอุจาดทางสายตาหมดไป ความร่วมมือจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ในการปรับแต่งหน้าร้าน ให้เป็นภาพลักษณ์ เมืองเก่าตามนโยบาย “เมืองเก่าที่มีชีวิต” ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
มิติที่ 2 เมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี การจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม การแยกขยะ โดยชุมชน มีตู้ขยะอันตราย การแยกขยะกิ่งไม้ใบไม้ ขยะอินทรีย์ ออกจากขยะทั่วไป ซึ่งหมายถึงการแยกขนด้วย ห้องอาหารขนาดใหญ่ ที่ข่วงเมืองน่าน มีกระบวนการเข้มข้นขึ้น ถึงระดับให้ผู้ใช้บริการแยกขยะด้วยตนเอง ก่อนทิ้ง การจัดการน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ การรณรงค์การใช้จักรยาน เพื่อลดมลภาวะทางอากาศก็เริ่มได้ผลดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ได้รับรางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (ASEAN ESC Award)
มิติที่ 3 เมืองปลอดภัย การรับรองจากองค์การอนามัยโลก WHO รับรองเขตเทศบาลเมืองน่าน เมื่อปี 2556 ให้เป็นชุมชนปลอดภัย (A Safe Community) ลำดับที่ 316 ของโลก จนเมื่อปี 2558 WHO มาขอจัดการประชุมนานาชาติ และใช้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองน่าน เป็นพื้นที่ศึกษาดูงาน ว่าด้วยชุมชนปลอดภัยที่น่าน มีการดำเนินหลากหลายโครงการ ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยเมืองมาอย่างต่อเนื่อง
มิติที่ 4 ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เป็นองค์ประกอบที่สมบูรณ์ ของนโยบายเมืองเก่าที่มีชีวิต ถูกสร้างความภาคภูมิใจจนเกิดกระแส ในการปกป้องอัตลักษณ์น่าน อย่างกว้างขวาง ที่ให้เกิดการสืบค้นศิลปวัฒนธรรมประเพณี วิถีเมืองเก่า นำมาเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมของเมืองเก่าน่าน
มิติที่ 5 “เมืองสังคมคุณภาพธรรมาภิบาล” เมืองที่ประชาชนมีความรู้สึกว่า อยู่แล้วมีความสุข มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเมือง มีความรู้สึกรักผูกพัน และเป็นเจ้าของ มีความสงบ ชาวบ้านแบ่งปัน เอื้ออาทร ช่วยเหลือกันและกัน มีความรู้สึกว่าได้รับการบริการสาธารณะที่ดี อย่างเท่าเทียมกัน ยึดมั่นในศีลธรรมและธรรมาภิบาล
มิติที่ 6 “สุขใดไหนจะเท่า ล้วงกระเป๋าแล้วมีตังค์” เมืองที่มีโอกาสในการประกอบสัมมาอาชีพ พื้นที่เทศบาลเมืองน่าน มีต้นทุนการท่องเที่ยวมากมาย มีการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอย่างทะนุถนอมถูกวิธี อาศัยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน
นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ก่อนหน้านี้ตลอด 10 ปี เราพยายามทำเมืองของเราให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทุกมิติ ปรากฏว่ามีผู้มาศึกษาดูงานมากมาย เรารู้สึกว่า ความรู้ที่ได้มาจากการทำงาน ควรแบ่งปันท้องถิ่นต่างๆ ล้วนเป็นกัลยาณมิตรกันและกัน ไม่ควรลองผิดลองถูกเหมือนเรา นับ 1 – 2 – 3 เขาควรเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากเรา เรียนลัดไปเลย จึงเกิดการแบ่งปัน องค์ความรู้ ซึ่งกันและกันมีการช่วยเหลือ การเผชิญเหตุภัยพิบัติด้วยกัน เท่าที่กฎหมายระเบียบจะเอื้อต่อการบริการนอกเขตการท่องเที่ยวต่อเนื่อง แบ่งปันในการสร้างรายได้ การรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ทั้งขยะ พื้นที่สีเขียว น้ำเสีย ความร่วมมือโดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงไร้เขตแดน จึงเป็นที่มาของคำว่า “น่าน …นครแห่งความสุข เมืองเก่าที่มีชีวิต” Nan The City of Happiness : A Lively Old Town “เราจะต้องยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกคนจะมีตังค์ในกระเป๋าเพิ่มขึ้น โดยความสุขไม่ลดน้อยลง

ร่วมแสดงความคิดเห็น