“มวยวัด” มหรสพพื้นบ้านล้านนา

ในอดีตตามหมู่บ้านในชนบททางภาคเหนือ หลังจากที่สิ้ดสุดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในไร่นาแล้วชาวบ้านมักจะสรรหากิจกรรมความบันเทิงรื่นเริงมาให้กับตนเองและผู้คนในหมู่บ้าน ทั้งนี้เพื่อเป็นการผ่อนคลายหลังจากที่ต้องช่วยกันเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานมานานกว่าหลายเดือน บางหมู่บ้านอาจจะจัดให้มีงานเฉลิมฉลองขึ้นภายในวัด และสีสันหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความสนุกสนานให้กับงานนอกจาก ลิเก รำวง และการละเล่นของชาวบ้านแล้ว “มวยวัด” ก็นับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทุกคนในหมู่บ้านต่างเฝ้ารอคอย เพียงเพราะว่าวันนี้ลูกหลานซึ่งเป็นตัวแทนของหมู่บ้านจะได้ขึ้นเวทีชกมวย ดังนั้นหนุ่มสาวเฒ่าแก่ที่เป็นญาติพี่น้องและคนรู้จักก็จะต้องออกมาให้กำลังแก่ลูกหลานของตน
การจัดมวยวัดในสมัยก่อนนิยมจัดขึ้นเพื่อความสนุกสนานของคนในหมู่บ้านนั้น บางทีก็ถือเป็นการละเล่นอย่างหนึ่ง ชายหนุ่มหญิงสาวในหมู่บ้านจึงถือโอกาสนี้พบปะพูดคุยเกี้ยวพาราสีกัน ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมวยวัดมักจะใช้เด็กวัดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขะยม” นำมาต่อยมวยกัน ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในบริเวณวัดหรือลานกว้างประจำหมู่บ้านเป็นต้น ชาวบ้านที่ว่างจากงานก็จะเข้ามาเชียร์ลูกหลานของตน พ่อค้าแม่ขายก็จะข้าวปลาอาหารออกมาวางขาย ลูกเล็กเด็กแดงพากันออกมาวิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน
ปัจจุบันเมื่อสังคมมีความเจริญมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่โทรทัศน์ วิทยุเข้ามามีบทบาทแทนการต่อยมวยวัดจึงเริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ๆ ไม่นิยมสนใจและไม่เคยรู้ว่า มหรสพของงานบุญนอกจากลิเก รำวงแล้วยังมีมวย
วัดนี่แหละที่คอยสร้างสีสันและความสนุกสนานให้กับผู้คนในสมัยก่อนอีกด้วย ตามงานวัดต่าง ๆ นิยมนำการแสดงพื้นบ้านประเภทลิเก รำวงมาจัดให้ชาวบ้านได้ดูอยู่เป็นประจำน้อยมากที่จะมีการจัดมวยวัดควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการจัดมวยแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณและการป่าวประกาศไปตามหมู่บ้านใกล้เคียงต่าง ๆ ให้จัดส่งนัก
มวยเข้ามาเปรียบ อีกทั้งปัจจุบันเด็ก ๆ รุ่นใหม่ไม่สนใจกีฬามวยหันไปเล่นกีฬาประเภทอื่น สมัยก่อนเด็กที่เป็นขะยมวัดทุกคนจะต้องได้รับการฝึกหัดชกมวย เพื่อเป็นศิลปะการป้องกันตัวอีกนัยหนึ่งก็เพื่อแสดงความเป็นลูกผู้ชายที่แข็งแกร่งกล้าหาญ
สีสันของมวยวัดอยู่ที่กองเชียร์ชาวบ้านที่เดินทางตามนักมวยจากหมู่บ้านของตน ก่อนการต่อยมวยแต่ละครั้งจะต้องนำนักมวยมาทำการหาคู่ชกก่อน ภาษามวยเรียกว่า “เปรียบมวย” ลักษณะพิเศษของการเปรียบมวยจะมีการถามความพอใจของนักมวยว่าต้องการจะชกกับใคร แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำการเปรียบกับน้ำหนักและรูปร่างของคู่ชก เมื่อถึงเวลาเปรียบมวยชาวบ้านที่มาด้วยก็จะถือโอกาสนี้วางเดิมพันให้กับนักมวยของตนไปด้วย เรียกว่าเป็นการให้กำลังใจนักมวย เพราะกว่าจะถึงวันชกนักมวยจะมีเวลาซ้อมและเตรียมตัวอีกหลายวัน
เครื่องลางของขลังสำหรับนักมวยก่อนการชกทุกครั้งนักมวยจะต้องใส่มงคลที่ศีรษะและพันผ้าประเจียดที่ต้นแขนทั้งสองข้าง ทั้งนี้เพื่อต้องการให้นักมวยระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้สั่งสอนเชิงมวยให้ และเวลาที่จะถอดมงคลออกจากหัวจะต้องให้หัวหน้าคณะเป็นคนถอดเท่านั้น บางคนมีความเชื่อว่าเครื่องลางของขลังเหล่านี้สามารถทำให้อยู่ยงคงกระพันได้
ปัจจุบันการทำค่ายมวยแต่ละครั้งมีความยากลำบากและต้องใช้ทุนทรัพย์สูงพอสมควร ที่สำคัญจะต้องมีนักมวยฝีมือดีอยู่ในค่ายมวยด้วย เพราะจะทำให้ชื่อเสียงของค่ายมวยเป็นที่รู้จักของเซียนมวย เช่น ค่ายมวยผาด่านยิม ค่ายมวย ก.ศักดิ์ลำพูน เป็นต้น
ในการชกมวยของนักมวยแต่ละครั้งจะได้ค่าตัวไม่เท่ากันแล้วแต่ว่าเป็นรุ่นเล็กหรือรุ่นใหญ่ สำหรับค่าตัวนักมวยประเภทโนเนมแต่มีฝีมือดีก็จะเริ่มต้นตั้งแต่ 300,500,700 เรื่อยไปจนถึงหลักพันหลักหมื่น แต่ถ้ามีฝีมือดีเคยต่อยในเวทีใหญ่ระดับประเทศก็จะได้ค่าตัวหลายหมื่นบาทต่อครั้ง เช่น เด่นนากลาง ศ.วีระพันธุ์ ที่เคยผ่านสังเวียนระดับประเทศมาแล้วมากมายไม่ว่าจะเป็น เวทีราชดำเนิน เวทีลุมพินี ล่าสุดเคยต่อยในรายการ “ศึกวันทรงชัย” ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ก็จะได้ค่าตัวเกือบหนึ่งแสนบาทต่อครั้งและยังไม่นับของรางวัลที่ได้อีกมากมาย
บรรยากาศของมวยวัดตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในชนบทยังคงกลิ่นอายวิถีชีวิตของชาวบ้านเอาไว้ แม้ว่าปัจจุบันมวยงัดอาจจะกลายเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีรายได้ดี แต่ลึกลงไปกว่านั้น “มวยวัด” ยังคงเป็นศิลปะการแสดงฝีมือในเชิงมวยของนักสู้ที่ออกมาจิตวิญญาณอย่างแท้จริง.
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น