อากาศร้อนจัด ดื่มน้ำให้มากขึ้น ระวังโรคลมแดดหรือฮีสโตรก เลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์

นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ช่วงนี้สภาพอากาศร้อนจัด แดดแรง ประชาชนอาจได้รับความร้อนมากเกินไป มีภาวะขาดน้ำ เสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดดหรือฮีสโตรก /โรคเพลียแดด/โรคตะคริวแดด นอกจากนี้ รังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวีในแสงแดด ซึ่งมีความสำคัญในการสังเคราะห์วิตามินดีที่ผิวหนัง และการสร้างเสริมเนื้อเยื่อกระดูก แต่ก็อาจทำให้ผิวหนังไหม้แดด รวมทั้งเกิดอันตรายต่อดวงตาได้หากไม่มีการป้องกัน
ขอแนะนำประชาชนดูแลตนเองในสภาพอากาศร้อนจัด แดดแรง โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว คนอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00 น.-14.00 น. ซึ่งอากาศจะร้อนจัด แดดแรง มีปริมาณรังสียูวีเข้มข้น และจะเข้มข้นมากที่สุดในช่วงเที่ยงวัน ควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตร สวมใส่เสื้อผ้ามีสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี สวมแว่นกันแดด สวมหมวก กางร่ม ทาโลชั่นกันแดด หากจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งหรือกลางแดด ขอให้ดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้าน และดื่มน้ำเย็น 2 – 4 แก้วทุกชั่วโมง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดให้เหมาะกับสภาพผิว คนที่มีผิวค่อนข้างมัน หรือเป็นสิว ควรเลือกใช้ชนิดที่เป็นโลชั่น หรือเจล เพราะไม่ทำให้เหนียวเหนอะหนะ ส่วนคนที่มีผิวแห้งควรเลือกใช้ชนิดครีมช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้น ไม่ควรใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น และการเลือกผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดให้ดูค่า SPF ที่แสดงถึงความสามารถในการป้องกันการไหม้แดงของผิวหนังจากรังสียูวีบี ซึ่งควรมีค่า 30 ขึ้นไป และค่า PA แสดงถึงความสามารถในการป้องกันการดำคล้ำของผิวหนังจากรังสียูวีเอ ให้มีค่า PA ++ ถึง PA+++ เลือกครีมกันแดดที่มีความทนน้ำทนเหงื่อได้ โดยทาก่อนออกแดด 30 นาที และต้องทาซ้ำทุก 1-2 ชั่วโมงในขณะที่ยังอยู่กลางแจ้ง หรือทาซ้ำทันทีหลังจากที่เหงื่อออกหรือขึ้นจากสระว่ายน้ำ

ร่วมแสดงความคิดเห็น