มช. เดินหน้านำองค์ความรู้จากงานวิจัย มุ่งแก้ปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำองค์ความรู้มุ่งแก้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ สร้างนวัตกรรม ในการเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์หมอกควัน ตลอดจนพัฒนาสิ่งประดิษฐ์แก้ไขปัญหา พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันในอนาคต

ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือเกิดจากสาเหตุหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหมอกควันข้ามแดนและการเผาในพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน สภาวะเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคเหนือและธุรกิจท่องเที่ยว โดยศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สำรวจรวบรวมข้อมูลสถานการณ์มลพิษทางอากาศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบน โดยมีฐานข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมระบบ ระบบ Visible Infrared Imaging Radiometer Suite (VIIRS) พบจุดความร้อน (hotspots) จำนวนมาก
จากปัญหาดังกล่าว นักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนืออันได้แก่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน ลำพูน และน่าน ลงพื้นที่ร่วมแก้ไขปัญหาหมอกควัน จากงานต้นน้ำ งานกลางน้ำ และงานปลายน้ำ ซึ่งอยู่ในกระบวนการทำงาน จำนวนไม่น้อยกว่า 50 โครงการ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควัน อาทิ โครงการวิจัยเครือข่ายประเทศไร้หมอกควันสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน (Haze Free Country Network in Upper ASEAN) ภายใต้แผนวิจัยประเทศไทยไร้หมอกควัน (Haze Free Thailand) ร่วมด้วยความร่วมมือระหว่างเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) นำทีมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประสานความร่วมมือกับ 4 ประเทศคือ กัมพูชา เวียดนาม พม่า และลาว ผลักดันให้เกิดเครือข่ายการแก้ไขและป้องกันปัญหาหมอกควันข้ามแดน

ในส่วนของการสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น หลายคณะหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันระดมความคิดพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ การเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์หมอกควัน รวมถึงการลดการเกิดหมอกควัน อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์นำองค์ความรู้สร้างห้องหลบฝุ่นชุมชนให้ทางจังหวัดเชียงใหม่ มอบเครื่องกรองอากาศให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตลอดจนแนะนำการประดิษฐ์เครื่องกรองอากาศอย่างง่าย อีกทั้งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพแนะนำการประดิษฐ์ระบบกรองอากาศที่บ้าน ได้แก่ พัดลม DIY เครื่องแอร์ DIY โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายและราคาถูก พร้อมแนะนำวิธีการใช้งานให้ได้ผลดีที่สุด นอกจากนี้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพยังได้ร่วมมือภาครัฐติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ใช้เซนเซอร์ขนาดเล็ก ซึ่งพัฒนาโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM10, PM2.5 และ PM1.0 แบบ real time รวม 205 ตำบลในเชียงใหม่ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงสุขภาพของนักศึกษาและบุคลากรจึงได้มีการจัดพื้นที่ปลอดภัย มากกว่า 30 แห่งและแจกหน้ากากอนามัยเพื่อสุขภาพมากกว่า 40,000 ชิ้น

ไม่เพียงแต่การลงพื้นที่เพื่อการนำองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนเท่านั้น นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังได้พัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันตรวจสอบคุณภาพอากาศแบบ real time ติดตามสถานการณ์หมอกควันอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ www.shiru-cmu.org โดยหน่วยวิจัยบูรณาการด้านหมอกควัน ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์, www.cmuccdc.org โดย ศูนย์ข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงอากาศ, www.cmaqhi.org โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ และ http://gist.soc.cmu.ac.th และ Facebook : GISTNORTH โดยศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ ด้วยข้อมูลภาคดาวเทียมแบบ Near Real Time

นอกจากนี้ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสนอแนะว่า การแก้ไขหมอกควันและไฟป่าในอนาคตนั้นควรมีฐานข้อมูลที่มีคุณภาพครบถ้วนรอบด้าน มีความทันสมัยสามารถนำมาวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้ทันที มีการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์หมอกควัน โดยมีการทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน ตามแนวคิด Public-Private-Partnership (PPP) นอกจากนั้นควรมีการปรับโครงสร้างการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยใช้ระบบ Single Command ทั้งนี้มีจุดมุ่งเน้นทางแผนยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ประกอบไปด้วย 1) ยุทธศาสตร์ด้าน “คน” คือ รู้ปัญหา รู้รักษา รู้หาทางออก 2) ยุทธศาสตร์ด้าน “เมือง” คือ เมืองฉลาด (Smart City) เมืองสะอาด (Clean City) เมืองสีเขียว (Green City) 3) ยุทธศาสตร์ด้าน “ป่า” คือ รักษาป่าเดิมและเพิ่มเติมป่าใหม่ และ 4) ยุทธศาสตร์ด้าน “อาชีพ” คือ อากาศดีหนี้ลด อาชีพใหม่รายได้สูง อุตสาหกรรมสร้างอาชีพ

การผนึกกำลังของชาว มช. นำองค์ความรู้ งานวิจัยแก้ไขปัญหาหมอกควันของทุกฝ่าย เป็นการร่วมรับผิดชอบต่อสังคมต่อสิ่งแวดล้อมที่เราทุกคนต้องช่วยกันดูแล เพื่อให้อากาศรอบๆ ตัวในพื้นที่ภาคเหนือ กลับมาบริสุทธิ์ สดชื่น สดใส และหายใจได้อย่างเต็มปอดอีกครั้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น