เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ องค์สุดท้าย

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ขอหยิบยกเรื่องราวของ “เจ้าแก้วนวรัฐ” เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักรและ องค์สุดท้ายแห่งนครเชียงใหม่

เจ้าแก้วนวรัฐ มีพระนามเดิมว่า “เจ้าแก้ว” ประสูติที่คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๕ เป็นพระโอรสในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองเชียงใหม่องค์ที่ ๗ กับ แม่เจ้าเขียวเทวี ประสูติ ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ (บริเวณโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในปัจจุบัน)  เจ้าแก้วนวรัฐ เริ่มเข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ ขณะมีพระชันษาได้ ๑๕ ปี ในสมัยที่พระบิดาของท่าน คือ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ ซึ่งมีสิทธิ์ในการปกครองอย่างเจ้าประเทศราชที่ต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองเป็นเครื่องราชบรรณาการทุก ๓ ปี

ในวันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๔๗ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น เจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่ ครั้นเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์สุรคตเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงทราบความที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ถวายบังคมลาไปประทับที่นครเชียงใหม่ก่อนแล้ว จึงมีพระราชดำรัสกับเจ้าดารารัศมีให้เลือกผู้แทนเจ้าอินทวโรรส ที่ว่า “ในการเลือกเจ้านครเชียงใหม่แทนเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ตามกฎต้องให้ทายาทผู้สืบตระกูลรับตำแหน่งนี้ ซึ่งควรจะต้องได้แก่เจ้าราชบุตร(เลาแก้ว) ทายาทแต่ผู้เดียว แต่ในตำแหน่งนี้จะต้องเป็นพระอภิบาลเจ้าดารารัศมี พระราชยายาในรัชกาลที่ ๕ ด้วย ในขณะนี้เจ้าราชบุตรยังอายุน้อยอยู่ ฉะนั้น พระราชชายา เจ้าดารารัศมี จึงขอเลือกเจ้าอุปราชแก้ว รับหน้าที่นี้ก่อน”

ดังนั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอุปราช (เจ้าแก้ว) ว่าที่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ต่อมาในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๔ จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้านครเชียงใหม่ มีราชทินนามว่า “เจ้าแก้วนวรัฐ ประพัทธ์อินทนันทพงษ์ ดำรงนพิสีนครเขตร ทศลักษณเกษตรอุดม บรมราชสวามิภักดิ์ บริรักษ์ปัจฉิมานุทิศ สุจริตธรรมธาดา มหาโยนางคราชวงษาธิบดี” ถึง พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นนายพลตรี ราชองครักษ์พิเศษและ นายทหารพิเศษประจำกองทัพบกไทย

บั้นปลายชีวิต เจ้าแก้วนวรัฐ เริ่มประชวรตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๑ แม้ว่าจะมีพระอาการประชวรแต่ก็ยังเสด็จไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อครั้งเสด็จนิวัติพระนคร ต่อมาปรากฏว่าอาการพระวักกะและพระยกนะอักเสบที่ประชวรอยู่ยังไม่ทันจะหายดี ก็พบอาการพระปัปผาสะบวมขึ้นอีก จนสุรคต เมื่อเวลา ๒๑.๔๐น. ของวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร ๒๘ ปี สิริพระชนมายุ ๗๖ พรรษา

 

กู่เจ้าแก้วนวรัฐ
คุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ

พระกรณียกิจที่สำคัญ

– พ.ศ. ๒๔๒๐ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ โปรดให้คุมราษฎรจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน ประมาณ ๓๐๐ ครัวเรือน ขึ้นไปตั้งภูมิลำเนาที่เมืองเชียงแสนซึ่งเป็นเมืองร้าง

– พ.ศ. ๒๔๓๓ ปราบกบฏพญาผาบ นายแคว้นสันทรายที่ก่อกบฏขึ้น โดยรวบรวมชาวบ้านติดอาวุธโดยว่าจะเข้ามาฆ่านายอากรชาวจีนและ ข้าราชการชาวไทย อันเนื่องมาจากไม่พอใจที่ราษฏรถูกขูดรีดเรื่องภาษีจนถึงขั้นทำร้ายราษฏร

– พ.ศ. ๒๔๔๕ ทรงนำกำลังจับกุมผู้ร้ายปล้นที่ว่าการอำเภอหางดงและ ระงับเหตุเงี้ยวเมืองฝางก่อจลาจล

– พ.ศ. ๒๔๕๓ รั้งตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และ ได้เดินทางไปร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิธีทูลพระขวัญรับเสด็จ ร.๗ ประพาสเมืองเชียงใหม่

– พ.ศ. ๒๔๖๙ เจ้าแก้วนวรัฐ ทรงนำเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ครั้งเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ

– พ.ศ. ๒๔๖๔ ดำริให้มีการขุดบ่อกักเก็บน้ำมันที่อำเภอฝางและ เป็นจุดเริ่มต้นของการถือกำเนิดบ่อน้ำมันฝาง

– พ.ศ. ๒๔๗๒ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ให้เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น

– พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นนายกองสร้างถนนหลายสาย เพื่อเชื่อมการคมนาคมอำเภอรอบนอกกับในเมือง ถนนสายสำคัญที่ท่านมีส่วนร่วม ได้แก่ ถนนสายสันทราย-ดอยสะเก็ด ปัจจุบันเรียก ถนนแก้วนวรัฐ ถนนสายขึ้นดอยสุเทพร่วมกับครูบาศรีวิชัย ซึ่งท่านเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ และเป็นผู้ขุดเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗

– พ.ศ. ๒๔๖๔ ทรงสร้างสะพานนวรัฐ ขึ้นเป็นสะพานไม้เพื่อเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำปิง

เจ้าแก้วนวรัฐ นั่งบนเสลี่ยงคานหามเลียบเมือง

 

เรียบเรียงโดย “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น