จรัล มโนเพ็ชร “ราชาโฟล์คซองคำเมือง”

หากจะพูดถึงเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนา อย่างเพลงคำเมือง ก็คงไม่มีใครไม่นึกถึงศิลปินท่านนี้ ที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ราชาโฟล์คซองคำเมือง” ที่มีผลงานเพลงอันโด่งดังมากมาย

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกท่านมารู้จักกับศิลปินผู้เป็นตำนานโฟล์คซองคำเมือง “จรัล มโนเพ็ชร ”


จรัล มโนเพ็ชร เกิดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2498 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในย่านที่เรียกว่าประตูเชียงใหม่ มีพี่น้องชายหญิงรวมทั้งหมด 7 คน โดยจรัลเป็นลูกคนที่สอง มีพ่อชื่อนายสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร เป็นข้าราชการแขวงการทางจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนแม่ชื่อนาง เจ้าต่อมคำ (ณ เชียงใหม่) มโนเพ็ชร สืบเชื้อสายมาจากราชตระกูล ณ เชียงใหม่ ครอบครัวเป็นชนชั้นกลาง มีชีวิตเรียบง่ายสมถะตามแบบวิถีชีวิตชาวเหนือทั่วไป ด้วยครอบครัวมโนเพ็ชรเป็นครอบครัวใหญ่ พ่อของจรัลจึงต้องหารายได้พิเศษ ความที่เป็นคนมีฝีมือในด้านงานศิลปะหัตถกรรมท้องถิ่นที่สืบทอดตกมาจากบรรพบุรุษชาวเหนือ ทั้งการเขียนรูปและ การแกะสลักไม้ พ่อของจรัลจึงมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว จรัลเองในเวลานั้นแม้จะอยู่ในวัยเด็ก แต่บางครั้งเมื่อพ่อมีงานพิเศษล้นมือจรัลจะเป็นผู้ช่วยพ่อของเขา ทั้งงานเขียนรูปและงานแกะสลักไม้

จรัลเข้าเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนพุทธิโสภณ แล้วจึงย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนเมตตาศึกษา จากนั้นจึงสอบเข้าเรียนในขั้นอุดมศึกษาที่วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ จรัลฝึกเล่นกีตาร์มาตั้งแต่เด็กเพราะความชอบในดนตรี ทั้งจากที่เขาได้ฟังทางสถานีวิทยุในเชียงใหม่และ จากพวกมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในภาคเหนือ ระหว่างที่เรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ จรัลช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวด้วยการทำงานเพื่อหารายได้พิเศษโดยไม่ต้องรบกวนเงินทองจากทางบ้าน เขาเริ่มต้นด้วยการรับจ้างร้องเพลงและเล่นกีตาร์ตามร้านอาหารหรือ ตามคลับตามบาร์ในเชียงใหม่ ซึ่งในเวลานั้นยังมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง แนวดนตรีที่เขาชอบเป็นพิเศษคือดนตรีโฟล์ค คันทรี และบลูส์ ที่ต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลอย่างยิ่งในการแต่งเพลงของเขา

จรัล มโนเพ็ชร เป็นผู้ที่มีความสามารถ หลายอย่าง เช่น การเแสดงละครทางโทรทัศน์และภาพยนตร์ ด้านการ ประพันธ์เพลง ด้านการร้องเพลง ด้านการเล่นดนตรี ทั้ง ดนตรีสากลและ ดนตรีพื้นบ้าน ดังนี้คือ

  • งานเพลง เริ่มปี 2530 งานเพลงชุดแรก “โฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ” โดยแต่งคำร้อง ทำนอง เรียบเรียงเสียงประสาน ขับร้อง เล่นดนตรีเอง และควบคุมการผลิตเอง ปัจจุบันเพลงชุดนี้ยังได้รับความนิยม และยังมีจำหน่ายอยู่ในตลาด ตลอดระยะเวลามากกว่า 25 ปี
  • งานแสดง เริ่มปี 2521 แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก “ดอกไม้ร่วงที่แม่ริม” เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง ที่ได้รับความนิยม จนทำให้ผู้อำนวยการสร้างได้สร้างหนังอีกเรื่องหนึ่ง ภายในปีเดียวกัน “เสียงซึงที่สันทราย”และประสบความสำเร็จอย่างสูงเช่นกัน
  • งานเพลงสารคดี/ภาพยนตร์ ปี 2522 ทำเพลงประกอบสารคดีขององค์การยูนิเซฟ เรื่องหนึ่งเพื่อการรณรงค์ ต่อต้านการประกอบอาชีพโสเภณีของสาวเหนือ ปี 2531 ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง บุญชูผู้น่ารัก งานประพันธ์เพลง จรัล มโนเพ็ชร แต่งเพลงประมาณ 300 เพลง งานเพลงชุดสุดท้ายคือ “ล้านนาชิมโฟนี” และ “หวังเอย หวังว่า”

เกียรติคุณที่เคยได้รับ

• สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา พระราชทาน “บุคคลดีเด่นทางด้านการใช้ภาษา” เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2537
• ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขา ศิลปการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) ประจำปี 2540 ประกาศเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2541
• สมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย มอบโล่ขอบคุณการแสดง “จรัล มโนเพ็ชร โชว์” โรงละครแห่งชาติ วันที่ 21 สิงหาคม 2524
• รางวันศิลปินสันติภาพ ขององค์การยูนิเซฟ มอบให้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2524 โล่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสช่วยงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” วันที่ 24 พฤศจิกายน 2525
• รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ แสดงนำชายภาพยนตร์ “ด้วยเกล้า” เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2530
• รางวัลตุ๊กตาทองเพลงประกอบภาพยนตร์ “บุญชูผู้น่ารัก” “บุญชูสองน้องใหม่” “วิถีคนกล้า”
• รางวัลของ สยช. เพลงดีเด่น 3 รางวัล ปี 2524, 2525, 2536
• รางวัลของชมรมวิจารณ์แห่งประเทศไทยเพลงประกอบภาพยนตร์ “วิถีคนกล้า”
• เพลง “ศิลปินป่า” ได้รับ 6 รางวัล

จรัล มโนเพ็ชร เสียชีวิตเมื่อเช้ามืด ของวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2544 ในวัย 46 ปี แม้ จรัล มโนเพ็ชร จะจากไปหลายปีแล้ว แต่ยังมีคนรุ่นหลัง นำบทเพลงของเขามาขับร้องจนถึงปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น