คนจนภาคเหนือ “แม่ฮ่องสอน” สอยแชมป์ตั้งแต่ปี 49

รายงานการวิเคราะห์ การจัดสรรงบจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประจำปีล่าสุด ของสำนักงบประมาณ รัฐสภา ระบุข้อมูลจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรังช่วงปี 2543-56 ใน 10 อันดับ พบว่า ตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมาจังหวัดที่ติดลำดับ1 ทุกปีคือ “แม่ฮ่องสอน” หลังจากปี 43 รั้งอันดับ 8 แล้วขยับมาที่ 5 ในปี 45 และเป็นที่ 2 ในปี 47 ทั้งนี้รายงานดัชนีความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ในไทยจะสำรวจทุกๆ 2 ปี และปรับมาเป็นทุกรอบปีตั้งแต่ปี 49

หากวิเคราะห์ตัวเลขประชากร ปี 60 ที่มี 279,088 คนจะพบว่า แม่ฮ่องสอน ได้รับการจัดสรรงบฯ 360 ล้านบาท เฉลี่ยต่อหัว 1,315 คนสูงเป็นที่ 1 ของไทยด้วยจำนวนประชากรทั้งจังหวัดมีน้อย ในขณะที่ จังหวัดที่มีประชากรรายได้ต่ำแม่ฮ่องสอนที่3 ด้วยจำนวน 15,119 บาท/เดือน ( ที่ 1เชียงราย เฉลี่ย 13,497 บาท/เดือน ส่วนเชียงใหม่ 14,950 บาท/เดือน ) มีความน่าสนใจว่า รายได้จากภาคการท่องเที่ยว ในเมืองรอง “แม่ฮ่องสอน”ติดอันดับเมืองที่มีอัตราก้าวหน้าตามเป้า10 % ก.ท่องเที่ยวฯ ระบุตัวเลขปี 2560มีนักท่องเที่ยวมาเยือนแม่ฮ่องสอน 971,586 คน เฉลี่ยพัก 2-3 วัน ใช้จ่ายต่อหัว 2,177 บาท/คน/วัน รายได้จากการท่งเที่ยวทั้งปี 4,662.95 ล้านบาท แยกเป็นคนไทย 2,818.24 ล้านบาท
ประมาณการกันว่า ปี 62 จะอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท ซึ่งในกลุ่มจังหวัดเหนือตอนบน 1 นั้น เป็นรองเพียงเชียงใหม่ ที่ตัวเลขจะแตะ 1 แสนล้านบาทกับจำนวนนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน
ปัญหาเชิงพื้นที่ ในแผนพัฒนาจังหวัดรอบปี61-64 ฉบับทบทวนปีนี้ระบุว่าการจะนำพาแม่ฮ่องสอน จังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับ3ของภาคเหนือ ที่8ของไทย หลุดจากที่1 แชมป์คนยากจนได้นั้น ต้องสร้างโอกาส เติมคุณภาพเข้าไป เช่น โครงสร้างพื้นฐานระบบบริการสุขภาพ ที่แม่ฮ่องสอนมีสัดส่วนแพทย์ 1 ต่อ 4,284 คน ด้านระบบไฟฟ้ามีแหล่งผลิตในพื้นที่ไม่เพียงพอ ต้องรับกระแสไฟฟ้าจากเชียงใหม่ (สถานีจอมทอง,ฮอด,แม่แตง) ความต้องการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การลงทุน ค้าชายแดนมีอุปสรรคปัญหาการพัฒนาพื้นที่เพราะติดปัญหาเขตป่าอนุรักษ์ เขตอุทยานฯ เป็นต้น
ทำให้แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีไม่มีด่านถาวร แต่มีหน่วยงานศุลกากรในพื้นที่ คอยอำนวยการค้าจุดผ่อนปรน 5 จุดทั้งๆที่มูลค่าการค้าชายแดนขยายตัวสูงถึงปีละกว่า1,212 ล้านบาท จากการส่งออกเบียร์,วิสกี้,รถแทรกเตอร์ใช้แล้ว,ผงชูรส,อาหารสำเร็จรูป และนำเข้า โค- กระบือ, แร่พลวง ,สินค้าอุปโภค บริโภค
ปัญหาความยากจน ถือเป็นปัญหาใหญ่ของแม่ฮ่องสอน ด้วยจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. 38,000 บาท/คน/ปี รายได้วันละ 100 บาทยังมีอยู่มากกว่า 6,133 ครัวเรือน โดยมิติความยากจน 6 มิติจะประกอบด้วยมิติการศึกษา, การดำรงชีพ ,การทำงาน ,มิติสวัสดิการ ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และด้านสุขภาพ แม่ฮ่องสอนมีค่ากลางต่ำทุกด้าน

แนวทางแก้ปัญหาเชิงรุกคือมุ่งพัฒนา ส่งเสริมแม่ฮ่องสอน ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ วิถีชุมชน วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธ์ จัดการโครงสร้างพื้นฐานด้วยสัดส่วนงบประมาณที่เพียงพอเหมาะสม ไม่ทำลายความเป็นพหุสังคม พัฒนาคนผ่านโอกาสทางการศึกษา ที่แม่ฮ่องสอน ยังขาดแคลนสถานศึกษาคุณภาพในระบบ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา เพราะนอกจาก ม.ราชภัฎฯ,วิทยาลัยการอาชีพแล้ว จ.แม่ฮ่องสอน ไม่มีการขยายโอกาสทางการศึกษา เพื่อท้องถิ่น ตรงตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่ทั้งด้านเทคนิค สารพัดช่าง,การสาธารณสุข,พยาบาล ตลอดจน วิทยาการความรู้อื่นๆที่จำเป็นสำหรับพัฒนาเมือง ดังนั้นการจะทำให้ แม่ฮ่องสอน ก้าวพ้นจากวังวน”ความยากจน” ซ้ำๆซาก ต้องเริ่มวางรากฐาน การพัฒนา การสร้างคนคุณภาพ ด้านต่างๆออกมามีส่วนร่วม บริหารจัดการบ้านเมือง ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนควบคู่กับกลยุทธ์เชิงรุกที่กำหนดไว้ ในแผนพัฒนาจ.แม่ฮ่องสอนทุกๆด้าน

ร่วมแสดงความคิดเห็น