600 ปี วัดกุฏีคำ

วัดธาตุคำ หรือ วัดกุฏีคำ เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ เมื่อก่อนนี้ยังไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่ในปัจจุบันบ้านเมืองได้เจริญรุ่งเรืองขึ้น วัดวาอารามต่าง ๆ จึงเป็นที่สนใจของบรรดานักประวัติศาสตร์รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเมื่อมาเที่ยวชมวัดนี้ต่างก็ถามหาประวัติของวัด แต่ก็ไม่หลักฐานปรากฏแน่ชัด คงมีเพียงตำนานที่บอกเล่าสืบต่อกันมาเพียงนิดหน่อยไม่สามารถปะติดปะต่อเป็นเรื่องราวโดยสมบูรณ์

จารึกในโครงนิราศหริภุญชัยบทที่ 30 ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงวัดนี้ว่า “..เรียงนั้นอาวาสแก้ว กุฏีคำ ทุกข์ตำงมเรียมจำ เจตน์ไหว้ เทพาพิทักษ์ทำ พุทธศาสน์ เอ่ จำเจตน์นงน้องไท้ รีบร้า เดินดล..”
จากจารึกดังกล่าวทำให้ทราบว่า วัดธาตุ เดิมชื่อวัดกุฏีคำ ชาวบ้านสมัยก่อนจะเรียกว่า “วัดใหม่” วัดนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างกำแพงเมืองชั้นในกับกำแพงเมืองชั้นนอก (กำแพงดิน) แต่เดิมวัดนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก แต่เมื่อมีการตัดถนนสุริยวงศ์ จากประตูเชียงใหม่ไปประตูก้อมทำให้เนื้อที่ของวัดทางด้านทิศตะวันออกส่วนหนึ่งกลายเป็นที่ของเอกชน
วัดธาตุคำ เดิมเป็นวัดใหญ่ สันนิษฐานว่าคงเป็นวัดที่กษัตริย์สร้างขึ้น โดยสังเกตจากพระพุทธรูปประธานในวิหารซึ่งเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ สวยงามตามศิลปะเชียงแสน หากเป็นชาวบ้านทั่วไปคงไม่สามารถสร้างพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ได้ใหญ่โตขนาดนี้ เพราะจะต้องอาศัยกำลังทรัพย์เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นพระพุทธรูปประธานของวัดธาตุคำยังเป็นพระที่ทำจากสัมฤทธิ์เพียงวัดเดียวในตำบลหายยา ส่วนวัดอื่น ๆ นั้นเป็นพระพุทธรูปที่ก่อจากอิฐถือปูน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีจารึกที่ฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด ขณะเดียวกันนัก

ประวัติศาสตร์ล้านนาต่างลงความเห็นว่า “วัดกุฏีคำ” หรือ “วัดธาตุคำ” อาจเป็นพระอารามหลวงของเมืองเชียงใหม่ที่พระมหากษัตริย์สร้างขึ้นและคงเป็นวัดสำคัญเพราะมีลักษณะแปลกกว่าทุกวัดคือ การก่อสร้างวิหารและพระธาตุนั้นได้พูนดินขึ้นสูงประมาณ 3 เมตร ทำให้เป็นเขตพุทธาวาสที่มีขนาดกว้าง 60 เมตร ยาวเกือบ 100 เมตร ซึ่งในเมืองเชียงใหม่พบว่าการสร้างวิหารและพระธาตุบนเนินดินนั้นมีเพียง 2 วัด คือ วัดบ้านปิง ต.ศรีภูมิและวัดธาตุคำเท่านั้น
นอกจากนั้นในตำนานมูลศาสนายังปรากฏชื่อของ “มหาติปิฏกสังฆราช” ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดกุฏีคำ เมื่อครั้งที่พระเจ้าติโลกราช กษัตรย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 10 ได้นิมนต์จากวัดกูฏีคำไปเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนดอก โดยได้จารึกด้วยอักษรล้านนา ความว่า “..มหาญาณรังษีรักษาวัดสวนดอกได้ 70 วัสสา ก็สิ้นอายุในปีกดสง้า (จุล) ศักราชได้ 802 ตัว (พ.ศ.1988) ท้าวล้านนาก็นำเอาติปิฏกสังฆราชวัดกุฏีคำมาไว้แทนในปีนั้นแล..” ทำให้ทราบว่าวัดกุฏีคำนั้นก่อสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มังราย มีอายุนานกว่า 600 ปี
ภายหลังจากที่เมืองเชียงใหม่ถูกพม่าปกครอง (พ.ศ.2101 – 2325) วัดกุฏีคำถูกทิ้งให้รกร้าง กระทั่งพระเจ้ากาวิละได้อพยพเอาชาวไทลื้อ ไทเขิน จากสิบสองปันนาและเชียงตุงมาอยู่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2347 เจ้าสารัมพยภูมินนรินทราเขมาธิปติราชา เจ้าผู้ครองนครเชียงตุงได้อพยพเข้ามาอยู่เชียงใหม่พร้อมไพล่ฟ้าประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก ทางเชียงใหม่จึงได้จัดให้อยู่ในกำแพงเมืองชั้นในด้านทิศใต้ บริเวณวัดนันทาราม วัดยางกวงและวัดกุฏีคำ ซึ่งขณะนั้นเหลือแต่เนินวิหารและองค์เจดีย์ เมื่อมาอยู่เชียงใหม่ท่านจึงได้เริ่มบูรณะวัดนันทารามและวัดยางกวงก่อน เมื่อประชาชนพลเมืองเพิ่มมากขึ้น มีเจ้านายและลูกหลานสายเจ้าแสนเมืองซึ่งเป็นน้องชายของเจ้าสารัมพยะ ได้อพยพเข้ามาพร้อมกับตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างวัดกุฏีคำ จึงได้ช่วยกันบูรณะวัดร้างขึ้น เรียกกันทั่วไปว่า “วัดใหม่” เพราะบูรณะทีหลังวัดนันทารามและวัดยางกวง

วัดกุฏีคำ เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดธาตุคำ” เพราะเหตุผลว่าภายในวัดไม่มีกุฏีคำปรากฏแล้ว เหลือแต่เพียงองค์พระธาตุอยู่จึงให้ชื่อใหม่ว่าวัดธาตุคำ ทั้งนี้เพราะพระธาตุองค์เดิมบุด้วยทองจังโก กระทั้งปี พ.ศ.2477 แผ่นทองได้ปลิวหายไปเป็นจำนวนมาก ทางเจ้าอาวาสจึงได้เก็บรวบรวมทองที่เหลือแล้วนำไปฝังไว้ จากนั้นจึงได้ซ่อมแซมบูรณะองค์พระธาตุ โดยได้นำทองมาปิดไว้ให้เหมือนกับเมื่อครั้งในอดีต
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น