เส้นทางธรรม จากวัดผาลาดถึงพระธาตุดอยสุเทพ

วัดผาลาด เป็นวัดโบราณเก่าแก่ เท่าที่สืบค้นหลักฐานและพูดคุยกับผู้รู้ทำให้ทราบว่า วัดนี้เดิมชื่อ “วัดสกิทาคามี” สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้ากือนา กษัตริย์ปกครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ใน พ.ศ.1898 – 1928 พระเจ้ากือนาเป็นกษัตริย์ที่ทรงมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เป็นอย่างมาก พระองค์ได้ส่งทูตไปทูลขอให้พระมหาสุมณเถระจากเมืองสุโขทัยมาเผยแพร่พุทธศาสนาในเมืองเชียงใหม่

พระสุมณเถระได้อัญเชิญพระบรมธาตุที่ขุดพบในเจดีย์เก่าแห่งเมืองศรีสัชนาลัยมาถวายพระเจ้ากือนา จากนั้นได้สถาปนาพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานไว้ที่วัดสวนดอก นับเป็นพระมหาธาตุเจดีย์ที่สำคัญแห่งแรกของเชียงใหม่ นอกจากนั้นได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุส่วนหนึ่งอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานบนพระธาตุดอยสุเทพ อันเป็นความเชื่อว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นสิ่งสำคัญเป็นของสูง จึงต้องประดิษฐานไว้บนภูเขาซึ่งถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อโบราณของผู้คน มีความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์ จูงใจให้เกิดความศรัทธาต่อพุทธศาสนา
หลังจากที่พระเจ้ากือนาได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอดดอยสุเทพแล้ว พระองค์ยังได้สร้างวัดต่าง ๆ ระหว่างทางขึ้นดอยสุเทพ ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นทางแห่งการบรรลุธรรม 4 ระดับ ได้แก่ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์
ถือได้ว่าพระเจ้ากือนา มีส่วนสำคัญกับการสร้างพระธาตุดอยสุเทพเป็นอย่างมาก เพราะเป็นพระราโชบายของท่านที่ต้องการนำพระพุทธศาสนาเข้าไปผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมคือ การนับถือผี นับเป็นจุดเริ่มต้นให้คนหันมานับถือศาสนาพุทธมากยิ่งขึ้น
ด้วยความร่มครึ้มของพันธุ์ไม้ป่า ทำให้วัดลาผาด เป็นสถานที่แห่งความเพียรของพระภิกษุรูปหนึ่ง ในประวัติวัดอุโมงค์เถระจันทน์ กล่าวว่า พระมหาเถระอภัยสาระทะได้จาริกธุดงค์มาปฏิบัติกัมฎฐานอยู่ที่วัดร้างแห่งหนึ่งบริเวณเชิงดอยสุเทพ (สันนิษฐานว่าคือบริเวณวัดผาลาดในปัจจุบัน) จนสำเร็จอรหันต์เป็นสังฆราชองค์แรกของล้านนา ก็มีมูลเหตุมาจากความเพียรของท่านเช่นเดียวกับสมัยหลังเมื่อล้านนากลายเป็นดินแดนหอมหวานแห่งการค้าไม้ ทำให้มีพ่อค้าไม้จากพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก ก่อนที่คนจีนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการค้าของเชียงใหม่เมื่อราวร้อยกว่าปีที่ผ่านมา พ่อค้าชาวพม่าเหล่านั้นเป็นคนที่เคร่งครัดศรัทธาต่อพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เมื่อร่ำรวยจากการค้าไม้ก็มักหาเวลามาสร้างวัด ทำนุบำรุงศาสนา ดังนั้นเราจึงพบเห็นศิลปกรรมของพม่าเกลือนกราดอยู่ตามวัดทั่วไปในเชียงใหม่ เช่นเดียวกับศาลาวัดผาลาด ก็เป็นผลพวงจากแรงศรัทธาที่พ่อค้าชาวพม่าได้สร้างไว้

แต่น่าเสียดายที่คุณค่าทางสถาปัตยกรรมได้ผุพังไปตามกาลเวลา ในสมัยก่อนที่ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาจะสร้างทางรถยนต์ขึ้นไปดอยสุเทพนั้น ผู้ที่ต้องการจะขึ้นไปเที่ยวหรือไปนมัสการองค์พระธาตุดอยสุเทพ จะใช้วิธีเดินเท้าจากเชิงดอยด้านถนนสุเทพขึ้นไป ว่ากันว่าใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ปีนป่ายไปตามทางลาดชันลัดเลาะไปตามน้ำตกห้วยแก้ว คนที่มีเงินก็อาจนั่งแคร่หรือเสลี่ยงหาบกันขึ้นไป ระหว่างทางจะต้องผ่านหอพระพุทธรูปที่ศาลาผาลาด ปัจจุบันยังคงมีเส้นทางเดินและสะพานอิฐโบราณเหลือให้เห็นอยู่
ปี พ.ศ.2477 หลังจากที่ครูบาศรีวิชัยได้ทำพิธีลงจอบแรกสร้างถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพอันมีพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้ายเป็นประธาน ใช้เวลาในการก่อสร้าง 5 เดือนกับ 22 วัน เป็นการย่นระยะเวลาในการเดินทางขึ้นไปสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพได้ไม่เกินครึ่งชั่วโมง ความสำคัญของวัดผาลาดจากที่เคยเป็นเส้นทางเดินผ่านไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพก็ค่อยลดบทบาทลง
วัดผาลาด ผ่านวันเวลาแห่งการเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในการมุ่งหาแสวงธรรมของพระภิกษุและผู้คนมารุ่นแล้วรุ่นเล่า การได้มีโอกาสมาประทับความทรงจำและนึกย้อนถึงเรื่องราวในอดีต ทำให้ผมมองเห็นคุณค่าแห่งศรัทธาและความเพียรที่คนในอดีตสร้างเอาไว้ นึกในใจว่าวันข้างหน้าถ้ามีเวลา แค่ขับรถขึ้นมาจากเชิงดอยสุเทพเพียงอึดใจ มาชื่นชมความร่มรื่นของผืนป่าและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สักครึ่งค่อนวันแล้วกลับ ก็นับว่าคุ้มค่า แถมได้กราบพระพุทธรูปในโบสถ์ไม้และเดินเที่ยวชมหอพระพุทธรูปผาลาด อันเป็นที่เดียวกับที่พระมหาเถระอภัยสาระทะเคยมาปฏิบัติกัมฎฐานจนสำเร็จเป็นอรหันต์

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น