จากนางวิสาขามหาอุบาสิกาถึงพระนางจามเทวี ผู้สืบสานพระพุทธศาสนา

ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องนางวิสาขาเป็นยอดอุบาสิกา ที่เดิมนางนับถือศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมจากพระพุทธองค์ จึงได้หันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง นอกจากนางจะเสียสละทรัพย์ทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุเป็นประจำแล้ว นางยังได้ชักชวนสามี ลูกและบริวารให้หันมานับถือศาสนาของพระสมณะโคดม
นอกจากนั้นในพระไตรปิฏก ยังได้กล่าวถึงนางวิสาขาว่าได้สร้างวัดบุปผารามถวายเพื่อเป็นสมบัติของพระภิกษุสงฆ์ ในวันที่นางวิสาขาได้ทักษิณาทานวัดบุปผารามแก่พระพุทธองค์นั้น หลังที่ได้ฟังโอวาทจากพระพุทธองค์แล้ว นางเกิดปิติในบุญนำลูกหลานฟ้อนรอบพระวิหาร ซึ่งผู้รู้หลายท่านให้ความเห็นว่าเป็นที่มาของการเลียนแบบทำบุญเฉลิมฉลองสร้างถาวรวัตถุแก่พระศาสนา ซึ่งก็คืองานทำบุญปอยหลวงของบ้านเรานี่เอง
นางวิสาขาจึงเป็นผู้มีส่วนสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธเจ้าในการเผยแผ่ศาสนาเป็นอย่างมากคนหนึ่ง จนท้ายสุดนางบำเพ็ญเพียรจนสามารถบรรลุธรรมขั้นโสดาบัน เรื่องราวของนางวิสาขา ถูกบันทึกไว้ในพระไตรปิฏกเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้รับรู้ต่อ ๆ มา รวมถึงพระนางจามเทวี ราชบุตรีของพระเจ้าจักรวัตติแห่งกรุงละโว้ ผู้ที่มีความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาและมีวัตรปฏิบัติที่งดงาม จนผู้คนในกรุงละโว้ทราบกันไปทั่วและรู้ไปถึงหูของสุกกทันตฤาษีแห่งสำนักเมืองละโว้ ซึ่งเป็นสหายกับสุเทวฤาษีแห่งสำนักดอยสุเทพ ที่ถูกชักชวนมาร่วมสร้างเมืองหริปุญชย และเสนอพระนางจามเทวีผู้เป็นหน่อเนื้อกษัตริย์และทรงทศพิศราชธรรมมาปกครองบ้านเมือง ทำให้เมืองหริปุญชย หรือ นครลำพูน มีความเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อพระนางตกลงปลงใจรับคำจากพระบิดา ละจากบ้านเกิดเมืองนอนและพระสวามี ให้นำพระพุทธศาสนา (พระสงฆ์, อุบาสก, อุบาสิกา) ไปเผยแพร่ในดินแดนขุนน้ำอันไกลโพ้นให้มีสัมมาทิฐิ จึงย่อมจะมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าจนเป็นที่ประจักษ์ต่อพระราชบิดา

ขณะที่เดินทางจากกรุงละโว้ก็ให้เดินทางอย่างช้า ๆ ใช้เวลาถึง 7 เดือน สร้างชุมชน วัดวาอารามต่าง ๆ อันเป็นการประกาศพระศาสนาไปตลอดเส้นทาง แม้กระทั่งจนก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเมืองพระนางก็ยังได้สร้างชุมชนระมัคคาม (กู่ระมัค) ซึ่งปรากฏหลักฐานพระเจดีย์มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อเถลิงราชย์สมบัติขึ้นครองเมืองหริปุญชยแล้ว พระนางจามเทวีก็ยังทรงสร้างวัดวาอารามอีกเป็นจำนวนมาก ดังปรากฏ เช่น วัด 4 มุมเมือง ได้แก่ วัดพระคงฤาษีทางทิศเหนือ วัดพระยืนทางทิศตะวันออก วัดประตูลี้ทางทิศใต้และวัดมหาวันทางทิศตะวันตกของเมือง พระนางจามเทวีเป็นตัวอย่างต่อพสกนิกรในการบริจาคทานและถือศีลวัตรสะสมบารมีเป็นอันมาก เมื่อครองราชย์ได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็ไม่ติดใจในลาภยศวาสนา ทรงสละราชสมบัติให้เจ้ามหันตยศกุมารพระโอรสองค์โตครองเมืองหริปุญชยต่อ และพระนางยังได้สร้างเมืองเขลางค์นครให้เจ้าอนันตยศกุมารพระโอรสองค์รองไปครองเมือง และให้นำพระพุทศาสนาไปเผยแพร่ต่อไปอีก
เมื่อพระนางจามเทวีทรงสละราชสมบัติแล้ว ได้ทรงนุ่งขาวห่มขาวสมาทานอุโบสถศีลในพระพุทธศาสนา จนมีผู้กล่าวขวัญกันไปทั่วว่า “พระนางทรงถือศีลเป็นประจำอยู่ทุกวันมิได้ขาด”
ผู้ที่ทรงศีลหลายท่านคาดหมายจากศีลวัตรว่าพระนางได้บรรลุอริยธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งไปแล้ว เช่นเดียวกับนางวิสาขามหาอุบาสิกาได้ปฏิบัติไปเมื่อครั้งพุทธกาล และยังมีอุบาสิกาคนธรรมดาสามัญสืบต่อศีลธรรมปรากฏให้เห็นสืบต่อมาในเมืองหริภุญชัยจนถึงปัจจุบันอยู่ไม่ขาดเช่นกัน
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น