นกหัสดีลิงค์ พาหนะนำดวงวิญญาณสู่สรวงสรรค์ชั้นฟ้า

มีความเชื่อว่ากันว่านกหัสดีลิงค์เป็นนกในวรรณคดีไทย ตัวเป็นนก หัวเป็นราชสีห์ มีงวง มีงา มีพละกำลังมากเป็น 5 เท่าของช้าง เนื้อสีแดงเป็นมังสาหารและเป็นพาพนะของผู้มีบุญ ดังนั้นในพิธีงานศพของพระเถระเราจึงเห็นปราสาทบรรจุศพทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์”
วัฒนธรรมของคนล้านนาเกี่ยวกับพิธีศพนั้นเป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกในวิถีชีวิตของคนเมืองมานานนับหลายร้อยปี เมื่อมีคนตายจะต้องจัดงานศพขึ้นเพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่คนตายอย่างสมเกียรติ พิธีศพของคนล้านนาจะมีความแตกต่างจากพิธีศพของคนในภาคอื่นคือการจัดแต่งปราสาทใส่ศพประดับประดาด้วยดอกไม้สดหรือแห้งให้แลดูสวยงาม นัยว่าเพื่อเป็นการยกย่องผู้ตายให้ได้ขึ้นไปสู่สรวงสรรค์ชั้นฟ้า ปราสาทงานศพโดยทั่วไปจะนิยมใช้ในพิธีศพของคนในภาคเหนือเท่านั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัฒนธรรมที่รับมาจากเมืองเชียงรุ้งแห่งสิบสองปันนา ซึ่งถือว่าเป็นต้นตระกูลเผ่าพันธุ์ไทแต่ดั่งเดิม
ในบรรดาพิธีศพของคนล้านนาดูเหมือนว่า พิธีศพของพระเถระจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ นอกจากคณะศรัทธาจากบ้านเหนือบ้านใต้จะเดินทางมาร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่งแล้ว ปราสาทใส่ศพของพระเถระชาวล้านนาก็นับว่ายิ่งใหญ่ไม่แพ้ปราสาทใส่ศพของบรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือ ตามคติความเชื่อโบราณของล้านนา เจ้านายและพระเถระได้รับการยกย่องในสังคมว่าเป็นชนชั้นสูงและเมื่อสิ้นชีพไปแล้วจะไปจุติในภพที่สูงกว่า หรือเป็นเทพสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ของเขาพระสุเมรุ อันเป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นจากความเชื่อระหว่างศาสนาพุทธและพราหมณ์ผสมกัน ความเชื่อดังกล่าวนำไปสู่การสร้างสรรค์และจัดรูปแบบพิธีศพที่ตอกย้ำถึงแนวคิดที่จะมุ่งไปสู่สวรรค์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเมรุปราสาทอันเป็นตัวแทนของวิมานสถิตบนพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาลมียอดปลายอยู่ในชั้นดาวดึงส์ หรือการจัดพิธีทางพุทธ เช่น บังสุกุล กรวดน้ำให้แก่ผู้ตาย ซึ่งชี้ให้เห็นการสังสมกุศลบารมี อันจะนำไปสู่ภพที่ดีกว่าคือ นิพพาน
ตามประเพณีที่ทำกันมาแต่โบราณ งานศพของพระสงฆ์จะมีพิธีทำบุญทำทานกันอย่างใหญ่โต มีงานมหรสพและการละเล่น เพื่อลดความวังเวงโศกเศร้า อีกทั้งยังเป็นการเสริมบรรยากาศให้เกิดมโนภาพของวิมานชั้นฟ้า โดยเฉพาะปราสาทใส่ศพอันเป็นที่สถิตของผู้ตายบนสวรรค์นั้นก็ได้รับการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามอลังการ ซึ่งทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ ว่ากันว่า นกหัสดีลิงค์เป็นนกในวรรณคดีไทย ตัวเป็นนก หัวเป็นราชสีห์ มีงวง มีงา มีพละกำลังมากเป็น 5 เท่าของช้าง เนื้อสีแดงเป็นมังสาหารและเป็นพาพนะของผู้มีบุญ ดังนั้นในพิธีงานศพของพระเถระเราจึงเห็นปราสาทบรรจุศพทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์
ตำนานมูลศาสนา กล่าวว่า นกหัสดีลิงค์จะอาศัยอยู่บนจิกผา คอยปรนนิบัติอนุสิษฐฤาษี ครั้งหนึ่งวาสุเทพดาบส (แห่งดอยสุเทพ) หารือกับสุกกทันตฤาษี (เมืองละโว้) คิดอยากสร้างเมืองหริภุญไชย อยากได้เปลือกหอยสังข์จึงใช้ให้นกหัสดีลิงค์ไปคาบเอาหอยสังข์กลางมหาสมุทร์ ในหนังสือเล่าเรื่องไตรภูมิ ของพระยาอนุมานราชทน ซึ่งแปลจากคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงของพญาลิไทแห่งนครสุโขทัย กล่าวว่าการทำศพของชาวอุตตรกุระซึ่งเป็นผู้มีบุญนั้น จะนิยมห่อศพด้วยผ้าขาวแล้วนำไปวางไว้กลางแจ้ง แล้วจะมีนกหัสดีลิงค์มาคาบหรือคีบไปทิ้งในที่อื่น
“…อันว่านกนั้นไส้ ลางอาจารย์ว่านกหัสดีลิงค์ ลางอาจารย์ว่านกอินทรี ลางอาจารย์ว่านกกด อันมาคาบเอาศพไปเสียนั้น ลางอาจารย์ว่าเอาตีนคีบไปเสีย…” ขณะเดียวกันในตำนานสิงหวติกุมาร ประเพณีเมืองเชียงแสน กล่าวว่า ตัวราชครูเจ้าวัดหลวงอนิจกรรมไปแล้ว ใส่ปราสาทต่างรูปนกหัสดีลิงค์ ส่งสการด้วยเรือพ่วงกลางแม่น้ำของ ซึ่งจะเห็นว่าในอดีตพิธีศพของพระเถระมักจะเกี่ยวข้องกับนกหัสดีลิงค์โดยจะนิยมสร้างปราสาทหรือเมรุบรรจุศพเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ การประดับประดาปราสาทศพของพระดูจะหรูหรามากกว่าของคนทั่วไป โดยเฉพาะระดับเจ้าอาวาส หรือ พระที่มีอายุพรรษามาก ๆ หรือเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ก็จะจัดงานที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น
สำหรับการจัดงานศพของพระในภาคเหนือจะนิยมเก็บศพของพระไว้จนถึงหน้าแล้งหรือราวเดือนมีนาคมจนถึงเดือนเมษายน การสร้างไม้ศพหรือเมรุนั้นจะประกอบด้วยไม้จิงเป็นพื้น ลักษณะรูปแบบของไม้จะเป็นทรงปราสาทมีเสาตั้งแต่ 12 ต้นขึ้นไป มีฐานตั้งอยู่บนนกหัสถ์ ศรัทธาชาวบ้านจะชักชากเมรุไปเผา มีฆ้องกลองเครื่องแห่ไป ระหว่างที่เคลื่อนปราสาทศพไปจะมีคนตีกังสดาล หรือที่คนเมืองเรียกว่า “ปาน” การตีกังสดาลนั้นผู้ตีจะเดินไปตีไปตั้งแต่หัวขบวนจนถึงท้ายขบวน วนไปมาจนกว่าปราสาทจะถึงที่เผา สิ่งที่น่าสังเกตุอีกอย่างหนึ่งสำหรับพิธีเผาศพพระนั่นก็คือ พิธีจะจัดอยู่ในบริเวณวัดและจะทำการเผาศพพระในบริเวณนั้นเลย ซึ่งต่างจากของคนทั่วไปที่จะไม่ให้เผาในวัดปราสาทศพรูปนกหัสดีลิงค์ของพระเถระชาวล้านนานอกจากจะเป็นวัฒนธรรมตามความเชื่อที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษแล้ว ถ้ามองในแง่ของงานศิลปะถือได้ว่าเป็นงานที่สะท้อนฝีมือและความคิดในการสร้างสรรค์ที่ไม่มีชุมชนใดของประเทศเสมอเหมือนนอกจากบนผืนแผ่นดินล้านนานี้เท่านั้น
เอกสารประกอบ /ส.พรานน้อย “สัตว์หิมพานต์” 2539 อุดม รุ่งเรืองศรี ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ

ร่วมแสดงความคิดเห็น