บูรณาการร่วมแก้ปัญหาปากท้อง ประชาชนริมแม่น้ำโขง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณารการร่วมภาคประชาสังคม ลงพื้นที่หารือชาวบ้าน 3 อำเภอ ริมแม่น้ำโขง ร่วมหาทางออกให้กับประชาชน หลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาแม่น้ำโขง

สถานการณ์ปัญหาของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ในพื้นที่ 3 อำเภอ จังหวัดเชียงราย กว่า 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อแม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งในเรื่องระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่เป็นปกติ ไม่เป็นตามฤดู ที่เป็นผลมากจากการเปิดปิดเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำ ที่ประเทศจีนและปัจจัยจากการพัฒนาเศรษฐกิจในแม่น้ำโขง ทั้งการเดินเรือพานิชย์ การพัฒนาผนังหินริมฝั่งแม่น้ำโขงป้องกันการกัดเซาะริมฝั่ง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการใช้สารเคมีจากการเกษตรเชิงเดี่ยว สวนยางพารา สวนส้ม และข้าวโพด ส่งผลต่อคุณภาพของแม่น้ำ และการเกิดมลภาวะขยะในแม่น้ำโขงที่ไหลมาจากแม่น้ำสาขา

ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์ปลาแม่น้ำโขง ที่ลดลงและบางชนิดได้หายไป ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย ย้ายถิ่น ไก หรือสาหร่ายน้ำจืด ลดลงและไม่เป็นไปตามฤดูปกติ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของอาชีพ และรายได้ของคนริมแม่น้ำโขง ที่อดีต มีอาชีพทำประมง และเกษตรริมฝั่งเป็นหลัก ปัจจุบันต้องปรับตัว และมีการขยายพื้นที่ขึ้นบนพื้นที่สูง ส่งผลต่อการบุกรุกขยายพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร และมีการทำลายป่าต้นน้ำ และการใช้สารเคมีปริมาณมาก

นาย ชวลิติ บุญทัน กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงแปรรูปปลาน้ำโขงบ้านห้วยลึก กล่าวว่า เมื่อ 2540 หรือเกือบ 20 ปีที่แล้ว จากการหาปลาในแม่น้ำโขงที่มีเรือประมาณ 30 ลำ มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 20,000 บาทต่อครอบครัว หลังจากมีการสร้างเขื่อนก็ทำให้รายได้ของชาวบ้านหายไปเกือบหมด จนทำให้ชาวบ้านในท้องถิ่นเปลี่ยนอาชีพ เข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ ไม่มีเงินส่งลูกเรียน ส่งผลถึงการศึกษาของเด็กรุ่นใหม่บางคนที่ไม่ได้รับการศึกษา เพราะไม่มีเงินส่งเรียน อีกส่วนหนึ่งคือผลกระทบของการปลูกผักริมแม่น้ำโขง ได้รับผลกระทบของระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่เป็นปกติ และผลกระทบจากการสร้างแนวกันตลิ่งแม่น้ำโขง ทำให้พืชท้องถิ่นที่เป็นรายได้ เช่น การหาไก หายไป เป็นที่มาของการอพยพของแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม

“ตอนนี้ปลาไม่มีแล้วทางรอด ของบ้านห้วยลึก ต้องหาทางออกด้วยการหาอาชีพทางเลือก แต่มองแล้วห้วยลึกมีความโดดเด่นเรื่องการทำประมง โดยทีมงานของสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้เข้ามาศึกษาและเก็บข้อมูล ก่อนนี้ได้ เราได้ศึกษาเองถึงผลกระทบแต่ไม่ได้ศึกษาถึงการแก้ปัญหา ตอนนี้ได้เริ่มจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจ เป็นกลุ่มเลี้ยงปลาและแปรรูปปลาน้ำโขงบ้านห้วยลึก โดยที่นำกลุ่มที่มีศักยภาพ หรือคนรุ่นใหม่ 10 กว่าคนทำการเลี้ยงปลา และขยายพันธุ์ปลา ต่อยอดถึงอนาคต จะขยายพันธุ์ปลาปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเป็นอันดับแรก” นาย ชวลิติ กล่าว

น.ส.รุ่งอรุณ ชัยวงศ์ สารวัตรกำนันตำบลหล่ายงาว กล่าวว่า เกี่ยวกับผลกระทบของการหาสาหร่ายแม่น้ำโขง หรือไก ริมแม่น้ำโขง ช่วงก่อนที่จะมีเขื่อน ชาวบ้านเก็บไกเพื่อเป็นอาหารหลัก และเป็นรายได้เสริมของครอบครัว มาทำแปรรูป วันหนึ่งได้วันละ 300-400 บาท ขายในพื้นที่ อ.เวียงแก่น ในปีนี้ เก็บไกได้เพียงช่วงเดือนเดียว ทำให้ไม่มีรายได้ต้องไปหาทำงานรับจ้างอย่างอื่นแทน อยากให้มีการส่งเสริมด้านการดูแลการออกแบบ ผลิตภัณท์ ทำเป็นบรรจุภัณท์เพื่อส่งเสริมการขายให้กับชาวบ้าน

น.ส.อโนทัย ไชยแสนชมภู หัวหน้ากลุมยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.เชียงราย กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นคณะอนุกรรมการที่อยู่ในส่วนกลางด้วยการพัฒนาอาชีพ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง เป็นภาพใหญ่ของประเทศที่ชาวบ้านได้รับความเดือนร้อน 8 จังหวัด ซึ่ง 7 จังหวัดอยู่ในภาคอีสาน 1 จังหวัด อยู่ในภาคเหนือ คือ จ.เชียงราย ทางตัวแทนภาคประชาสัมคมเห็นว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จึงได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดขึ้นมา เพื่อเป็นการชดเชยรายได้ที่เกิดจากผลกระทบจากความไม่มั่นคงของแม่น้ำโขง โดยจะดูแลด้านการพัฒนาอาชีพอย่างไรให้มีอาชีพที่มั่นคงยั่งยืน จึงได้ปรึกษากับทางภาคประชาสังคมโดยสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และได้รับมอบหมายให้จัดทำแผนที่ได้รับการยอมรับจากประชาสังคม และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

จึงได้มีการลงพื้นที่เพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริงก่อนที่จะลงมือแก้ไขปัญหา โดยได้จัดเวที เพื่อรับฟังปัญหาของชาวบ้าน โดยจัดที่ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น ด้วยจุดอ่อนของชาวบ้าน หรือภาคประชาสังคม ที่ผ่านมาคือการเขียนแผนจะมีระบบที่ซับซ้อนในการเสนอแผน ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้นำผู้ทรงคุณวุฒิ เข้ามาช่วยเพื่อที่จะผลักดันให้การพัฒนาอย่างแท้จริงในพื้นฐานที่เป็นบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นผลสำเร็จในการรับฟังปัญหาของชาวบ้าน โดยเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันที่ไม่มีกรอบว่าใครอยู่หน่วยไหน โดยเอาปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้ง

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา กล่าวว่า เป็นงานที่ต้องรร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคม ภายใต้ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงจากการพัฒนา ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาล โดยรัฐก็ได้มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาดำเนินการในการสำรวจและรับฟังข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงราย แต่ว่าทั้งหมดก็จะต้องทำงานกับประชาชนทั้ง 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ซึ่ง จ.เชียงรายก็ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ติดแม่น้ำโขง ซึ่งเราก็เป็นตัวแทนของ จ.เชียงราย ที่เป็นคณะกรรมการดำเนินการและแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะต้องใช้เวลาในการทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2565 – 2570 ซึ่งถือว่าเป็นการทำงานอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่มีการยื่นข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ ที่ผ่านมา 10 กว่าปี แล้ว

จากการจัดเวที เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบและหน่วยงานที่เกี่ยวของ ใน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และอ.เวียงแก่น ที่เป็นตัวแทน 39 ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้มีข้อเสนอร่วมกันเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและหาแนวทางในการสนับสนุนชุมชนในการปรับตัว เน้นไปที่การบริหารจัดการน้ำ โดยการผันน้ำจากแม่น้ำโขงขึ้นมาใช้ในการอุปโภค ในชุมชนที่ขาดแคลน และน้ำเพื่อการเกษตร โดยให้มีระบบชลประทานขนาดเล็กที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยการสูบน้ำด้วยระบบ โซล่าเซลล์ โดยทำในลักษระ Solar Farm ในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้า การพัฒนาอาชีพด้านการประมง ให้ครบวงจร ทั้งเรื่อง การเพาะขยายพันธุ์ปลาท้องถิ่น และปลาเศรษฐกิจ พร้อมส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมการเลี้ยง และการตลาดให้ครบวงจร ทั้งการจัดตั้งธนาคารพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง เพื่อนำมาขยายพันธุ์ และการพัฒนาฟาร์มต้นแบบ 1 ตำบล 1 ฟาร์ม ที่ใช้นวัตกรรมมาส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้ใหม่ๆ รวมทั้ง การส่งเสริมนวัตกรรมเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในรูปแบบการใช้น้ำน้อย การเพาะปลูกแบบไร้ดิน รวมทั้งการทำปศุสัตว์อื่นๆ และการสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ ผ่านวิถีเกษตรและการท่องเที่ยวชุมชน สู่การแก้ไขปัญหาของผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการพัฒนาชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ให้เกิดการปรับตัว มีอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายได้อย่างยั่งยืน


ร่วมแสดงความคิดเห็น