สถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร

สถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร (Monkeypox) และการเตรียมความพร้อมของจังหวัดเชียงใหม่
นพ.กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) สาเหตุเกิดจาการติดเชื้อไวรัส monkeypox เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบการระบาดป่าดิบขึ้นในแอฟริกากลางและตะวันตก พบได้ในสัตว์ฟันแทะ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก อาการคล้ายไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษในคน (smallpox) ซึ่งได้มีการกวาดล้างไปแล้วในปี 2523 อาการที่พบได้บ่อย คือ ไข้ ฝืน ตุ่มน้ำ ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งส่วนใหญ่หายได้เอง โดยจะมีอาการระหว่าง 2-4 สัปดาห์ การแพร่เชื้อและความรุนแรงของ monkeypox จะน้อยกว่า smallpox โดยระยะฟักตัวเฉลี่ย 6-13 วัน (นานสุด 21 วัน) อัตราป่วยตายอยู่ประมาณ 3-6% ติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ สัตว์ป่วย หรือสัมผัสวัตถุที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส ติดต่อผ่านการสัมผัสบาดแผล สารคัดหลั่ง น้ำมูก ยาที่ใช้รักษา smallpox ได้รับการรับรองให้ใช้รักษา monkeypox ได้ (tecovirimat) ส่วนวัคซีนที่ใช้ป้องกัน smallpox สามารถป้องกัน monkeypox ได้โดยมีประสิทธิภาพประมาณ 85%

การระบาดของโรคฝีดาษลิงในครั้งนี้ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 โดยองค์การอนามัยโลกได้รับรายงานจากสหราชอาณาจักร ว่าพบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิง 1 ราย ซึ่งเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย และจากการติดตามผู้สัมผัสในสถานพยาบาล ในชุมชน และในเที่ยวบิน เป็นเวลา 21 วัน ก็ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ต่อมาในวันที่ 13 พ.ค. 65 ก็พบผู้ป่วยยืนยันในสหราชอาณาจักรเพิ่ม 2 ราย และเข้าข่าย 1 ราย เป็นครอบครัวเดียวกัน และไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า และวันที่ 15 พ.ค. 65 ได้รับรายงานผู้ป่วยเพิ่มอีก 4 ราย ทั้งหมดเป็นกลุ่ม GBMSM (Gay, Bisexual, Men who have sex with men) ไม่มีความเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า ก่อนจะมีการรายงานพบผู้ติดเชื้อไปอีกหลายประเทศ โดยในขณะนี้ ทั่วโลกมีการรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิงใน 32 ประเทศซึ่งไม่ใช่พื้นที่โรคประจําถิ่นของโรคนี้ โดยมีรายงานยอดผู้ป่วยยืนยัน 406 ราย และผู้ต้องสงสัยเข้าข่าย 88 ราย ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลําดับแรก ได้แก่ สเปน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติเชื่อมโยง adult sauna ซึ่งได้มีการสั่งปิดไป ผู้ป่วยบางคนมีประวัติเชื่อมโยงกับ 10-day Pride festival ใน Gran Canaria เมือง Canary Islands ซึ่งเป็นมีคน 80,000 คนเข้าร่วมซึ่งจัดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร โปรตุเกส แคนาดา และเยอรมัน

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึง สถานการณ์โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) พบ ผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย มีประวัติเดินทางมาเปลี่ยนเครื่องในสนามบินในไทย 2 ชั่วโมง เพื่อเดินทางต่อไปประเทศออสเตรเลีย ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยง 12 ราย เป็นผู้โดยสารและลูกเรือในสายการบิน ซึ่งอยู่ในระหว่างการติดตามอาการ เบื้องต้นทั้ง 12 ราย ยังไม่มีอาการ ส่วนผู้ป่วยเข้าข่ายอาการ 5 ราย ที่ได้รับรายงานมาก่อนหน้านี้ เป็นนักท่องเที่ยวชาวไอซ์แลนด์ 3 ราย เป็นพี่น้องกัน เดินทางเข้าไทย เพื่อมาเรียนมวยไทยที่ จ.ภูเก็ต เบื้องต้นพบว่าทั้ง 3 คน มีอาการเข้าข่ายเป็นโรคฝีดาษลิง คือมีตุ่มนูนใสตามลำตัว แต่เมื่อนำไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR จาก 2 ห้องปฏิบัติการ คือ ของกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิกโรงพยาบาลจุฬาฯ พบผลยืนยันว่า ทั้ง 3 คนเป็นเพียงโรคเริมเท่านั้น

กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ผู้ป่วยสงสัย คือ อาการมีไข้ เจ็บคอ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นตุ่มนูน บริเวณแขนขา และใบหน้า และมีประวัติเชื่อมโยงกับระบาดวิทยา ภายในระยะเวลา 21 วัน เช่น เดินทางมาจากพื้นที่ที่พบการระบาด หรือกิจกรรมที่มีการรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิง และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ป่า หรือนำเข้าจากแอฟฟริกา ส่วนผู้ที่เข้าข่ายสงสัย ต้องมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด คือ สัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย หรือ สัมผัสสิ่งของที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่นเสื้อผ้าผู้ป่วย ผู้สัมผัสร่วมบ้าน เช่น อาศัยอยู่ในห้องเดียวกับผู้ป่วย หรือ ใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย ผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้อง หรืออยู่ใกล้ ผู้ป่วยฝีดาษลิง ภายในระยะ2เมตร โดยหากพบผู้ป่วยในประเทศไทยจะต้องได้รับการยืนยัน จากผลห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งเข้าสู่ระบบการรักษา ตามอาการและแยกกักตัวจนพ้นระยะแพร่เชื้อ หรือยืนยันได้ว่าไม่ได้เป็นโรคดังกล่าว

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ แม้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง แต่ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อม เพื่อเฝ้าระวังในสถานพยาบาลทั้งเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา และแม้ว่าจังหวัดเชียงใหม่ไม่มีเที่ยวบินตรงจากประเทศที่พบผู้ติดเชื้อ มีเพียงเที่ยวบินเปลี่ยนเครื่อง เช่น บินจากยุโรปมาเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ ก่อนจะเดินทางต่อมายังจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มีการเฝ้าระวัง ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อ ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ โดยมีการตั้งจุดคัดกรองอุณหภูมิ อาการ ประวัติเสี่ยง พร้อมทั้งแจกบัตรคำแนะนำ (Health Beware Card) ให้ผู้เดินทางเฝ้าระวังอาการในขณะที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และหากมีอาการผิดปกติให้รายงาน และเข้ารับการตรวจที่ รพ.ทุกแห่ง พร้อมทั้งแสดงบัตร หรือแจ้งข้อมูลแก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อตรวจประเมิน และรายงานต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเมื่อสงสัย เพื่อเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อไวรัสต่อไป

นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมถึง สถานการณ์โควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง จากรายงานสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 พบผู้ป่วยรายใหม่ 26 ราย (สะสม 33,811 ราย) ผู้เข้าข่ายติดเชื้อ 966 ราย (สะสม 303,194 ราย) ยังคงรักษาพยาบาล 3,111 ราย จำแนกตามกลุ่มอาการ สีเขียว 2937 ราย สีเหลือง 151 ราย สีแดง 23 ราย ผู้เสียชีวิต เฉลี่ย 14 วัน 4 ราย (อัตราป่วยตาย 0.08% ) เสียชีวิตสะสม 270 ราย (เสียชีวิตจากโควิด 208 ราย และเสียชีวิตจากโรคอื่นๆ 62 ราย) ส่วนยอดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามียอดฉีดเข็ม 1 จำนวน 1,678,829 ราย (คิดเป็น 90.15%) และเข็ม 3 จำนวน 701,833 ราย ( คิดเป็น 37.69%)

ในการเตรียมความเข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach) คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้มีข้อสั่งการให้ตรวจตราสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 65 เน้นย้ำการขอเปิดต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วเท่านั้น ส่วนสถานศึกษาสามารถเปิดเรียน on site ได้ตามปกติโดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ให้เคร่งครัดในแผนเผชิญเหตุ ไม่ปิดโรงเรียนโดยไม่เหมาะสม และกระตุ้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในโรงเรียนให้ครอบคลุม ส่วนการเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกสังกัดยังคงต้องขออนุญาตจาก คกก.รตต.ทุกแห่ง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ ที่กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทร 053-211048-50 ต่อ 110

ร่วมแสดงความคิดเห็น