กรมอนามัย – IHPP ชวน กทม. ยกคุณภาพชีวิตคนกรุง

กรมอนามัย – IHPP ชวน กทม. ยกคุณภาพชีวิตคนกรุง เร่งพัฒนาเมืองควบคู่สิ่งแวดล้อม ให้เอื้อสุขภาพดี

กรมอนามัย กระทรวงสาธาณณสุข เผยผลการวิจัยสำคัญเกี่ยวกับสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของคนเมือง ในด้านการออกแบบเมือง การส่งเสริมให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน โดยกรมอนามัย และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เสนอเร่งพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิต ของคนกรุงเทพฯ ผ่านการพัฒนาเมือง สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การออกแบบเมืองที่ดี (urban design) เป็นรากฐานต่อการพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของพลเมือง ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยกรมอนามัย ให้ความสำคัญต่อปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชน และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษ สุขอนามัย และพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตเมือง มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ส่งผลให้เกิดปัจจัยคุกคามทางสุขภาพ หลายด้าน โดยกรมอนามัยได้ติดตามสถานการณ์กิจกรรมทางกายคนไทย ปี 2564 สำรวจโดยสำนักงาน สถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยร้อยละ 72 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก

ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอจะลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เป็นต้น ดังนั้น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเมือง ให้เอื้อต่อการขยับร่างกายในชีวิตประจำวัน จึงมีความสำคัญต่อสุขภาพคนเมือง
ทางด้าน ดร.เภสัชกรหญิงอรทัย วลีวงศ์ รองผู้อำนวยการ

สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพ ระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า ผลการวิจัยจากวารสารวิชาการระดับโลก The Lancet Global Health series ในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ได้ศึกษาปัจจัยการออกแบบเมืองที่ส่งผลต่อสุขภาวะและคุณภาพชีวิต ของคนในเมือง โดยศึกษาเปรียบเทียบ 25 เมือง จาก 17 ประเทศทั่วโลก ในมิติต่าง ๆ พบว่า กรุงเทพมหานคร จัดอยู่ในลำดับที่ 24 ของเมืองที่มีนโยบายการออกแบบเมืองที่เอื้อต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีนโยบายการสร้างเมืองที่เอื้อต่อการเดิน การเพิ่มการเข้าถึงสวนสาธารณะ และตลาดที่มีอาหารคุณภาพ รวมถึงการออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทาง โดยพบคนกรุงเทพฯ เพียงร้อยละ 14, 15 และ 63 ที่เข้าถึงสวนสาธารณะ เข้าถึงตลาดที่มีอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และระบบ ขนส่งสาธารณะในระยะ 500 เมตร ตามลำดับ

ทางด้าน นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลผลสำรวจสถานการณ์พฤติกรรมเนือยนิ่งในคนไทย ปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 79 มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยการนั่งตั้งแต่ 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวันสูงกว่า ค่าเฉลี่ยประเทศ ส่งผลต่อการป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รวมถึงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร กรุงเทพมหานคร จึงควรเร่งพัฒนาเมืองที่ส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของคนในเมือง โดยเฉพาะการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งระหว่างวัน และมีกิจกรรมทางกายในการเดินทาง รวมถึงนันทนาการ ผ่านการออกแบบเมืองให้เอื้อต่อการ มีสุขภาพดี โดยกรมอนามัย และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พร้อมร่วมพัฒนาสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ร่วมกับกรุงเทพมหานครต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น