สลากกินแบ่งรัฐบาล จัดประชาพิจารณ์

สลากกินแบ่งรัฐบาล จัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นในการกำหนดประเภท รูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น และศึกษาผลกระทบทางสังคม ต่อการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 17 จังหวัดภาคเหนือ

วันนี้ ( 20 ก.ค.65 ) ที่ โรงแรมกรีนนิมมาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นประธานในการจัดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อศึกษาผลกระทบทางสังคมในการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล

พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงการจัดประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการศึกษา รับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ (ฉลากดิจิทัล) ซึ่งออกควบคู่กับผลิตภัณฑ์เดิม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนกรณีมีการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา 80 บาท อีกทั้งยังเป็นการควบคุมราคาให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เนื่องจากพระราชบัญญัติสํานักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กําหนดไว้ว่า “การออกประกาศ กําหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม เพื่อนํามาประกอบการพิจารณาก่อนออกประกาศ รวมทั้งต้องให้ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการเข้าถึงการเป็นตัวแทนจําหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย” จึงได้จัดประชาพิจารณ์เพื่อนำความคิดเห็นของประชาชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 17 จังหวัด เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาต่อไป

ด้าน ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า โครงการสลากดิจิทัล ถือเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าประชาชนสามารถซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคา 80 บาท แต่ทั้งนี้ทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้เห็นใจผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลในรูปแบบเดิม และได้มีการเชิญชวนให้มาลงทะเบียนผู้ค้าโดยจำหน่าย “สลากกินแบ่งรัฐบาล”ในรูปแบบของ”สลากดิจิทัล” มากขึ้น สำหรับบทลงโทษแก่ผู้ขายเกินราคา ทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ขายเกินราคา และผู้ที่ได้รับโควต้าจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะถูกตัดสิทธิในการเป็นผู้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลตลอดชีวิต

ทั้งนี้ การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและศึกษาผลกระทบทางสังคม จะจัดขึ้นอีก 5 ครั้ง ในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ขอนแก่น เลย นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น