ปภ.แนะใช้งานสัญญาณไฟถูกกฎ-เหมาะสมฯ ลดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน

ปภ.แนะใช้งานสัญญาณไฟถูกกฎ – เหมาะสมกับสถานการณ์ ลดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน

การใช้สัญญาณไฟที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือไม่ใช้สัญญาณไฟตามกฎหมายกำหนดในการสื่อสาร
ให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางทราบ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการใช้สัญญาณไฟ ดังนี้

ประเภทของสัญญาณไฟ

  • ไฟหน้า เพิ่มความส่องสว่าง ทำให้มองเห็นเส้นทางในระยะไกล
  • ไฟเลี้ยว / ไฟฉุกเฉิน ช่วยบอกทิศทางการเดินรถ โดยเฉพาะเมื่อเลี้ยวรถ เปลี่ยนช่องทาง แซงหรือกลับรถ
  • ไฟเบรก จะส่องสว่าง เมื่อเหยียบเบรก จึงช่วยเตือนผู้ที่ขับรถตามหลังมาให้ชะลอความเร็ว
  • ไฟถอยหลัง จะส่องสว่าง เมื่อเข้าเกียร์ถอยหลัง จึงช่วยเตือนผู้ร่วมใช้เส้นทางให้เพิ่มความระมัดระวัง
  • ไฟตัดหมอก ส่องสว่างไกล ช่วยให้มองเห็นเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดีได้ชัดขึ้น
  • ไฟสูง ใช้เมื่อขับผ่านเส้นทางที่มืดมาก จะช่วยให้มองเห็นเส้นทางได้ชัดขึ้น ใช้สัญญาณไฟอย่างถูกกฎ

ไฟเลี้ยว

  • เปิดสัญญาณไฟล่วงหน้าในระยะไม่ต่ำกว่า 30 เมตร เพื่อให้ผู้ที่ขับรถตามหลังมาทราบทิศทางการเดินรถ จะได้ชะลอความเร็ว และปิดสัญญาณไฟเมื่อรถขับรถเข้าช่องทางแล้ว
  • ไม่เปิดไฟเลี้ยวในระยะกระชั้นชิด และเลี้ยวรถหรือเปลี่ยนช่องทางในทันที อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนได้
  • ระมัดระวังการใช้สัญญาณไฟเลี้ยว บริเวณทางแยก ทางร่วม เพราะผู้ขับรถคันอื่นอาจมองไม่เห็นสัญญาณไฟเลี้ยว ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ไฟเบรก

  • ใช้เมื่อรถจอดติดสัญญาณไฟแดง โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนหรือบริเวณที่มีทัศนวิสัยไม่ดี เพื่อให้ผู้ขับขี่รถคันอื่นทราบว่ามีรถจอด จะได้หยุดรถอย่างปลอดภัย
  • ใช้กรณีมีสิ่งกีดขวางเส้นทาง เพื่อเตือนให้รถคันอื่นชะลอความเร็วได้ทัน จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุรถชนท้ายได้

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้โคมไฟหยุดต้องเป็นสีแดง และแสงต้องสม่ำเสมอคงที่ไม่กระพริบ การเปลี่ยนหรือติดตั้งหลอดไฟเป็นสีอื่น มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ไฟฉุกเฉิน

  • ใช้กรณีประสบอุบัติเหตุหรือรถเสีย เมื่อจอดรถกีดขวางช่องทางจราจร ริมไหล่ทางหรือบริเวณที่แสงสว่างน้อยเพื่อเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวัง
  • ห้ามใช้สัญญาณไฟฉุกเฉิน เมื่อขับผ่านสี่แยกที่ไม่มีสัญญาณไฟหยุดหรือจอดรถในที่ห้ามจอด ขับผ่านเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี ขับย้อนศร จอดรถชื้อของริมทาง เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

ไฟตัดหมอก

  • ใช้เมื่อขับผ่านเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี อาทิ ฝนตกหนัก หมอกควันปกคลุมเส้นทาง จะช่วยให้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น และผู้ขับรถคันอื่นมองเห็นรถเราได้จากระยะไกล รวมถึงใช้ไฟตัดหมอกในช่วงกลางคืนหลังฝนตกหรือมีน้ำเฉอะแฉะ เพื่อลดการสะท้อนของแสงไฟหน้ารถกับพื้นถนน
  • ปิดไฟตัดหมอกเมื่อมีรถขับสวนทางมาในระยะ 150 เมตร เพราะแสงไฟตัดหมอกทำให้ผู้ขับรถสวนทางมาสายตาพร่ามัว ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

ไฟสูง

  • ใช้เมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่ไม่มีแสงสว่าง และเปลี่ยนเป็นไฟต่ำเมื่อมีรถวิ่งสวนทางมา เพื่อไม่ให้แสงไฟรบกวนสายตา
  • ผู้ขับรถคันอื่น รวมถึงใช้ส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ขับรถคันอื่นเพิ่มความระมัดระวังเมื่อขับผ่านทางโค้งหักศอก ทางขึ้นเนิน หรือมุมอับในช่วงเวลากลางคืน

ทั้งนี้ การปรับแต่งทิศทางการส่องสว่างของโคมไฟหน้ารถให้สูงขึ้น หรือดัดแปลงอุปกรณ์ส่วนควบหรือเพิ่มเติมส่วนหนึ่งส่วนใด ทำให้มีแสงสว่างจ้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ฐานใช้รถที่มีอุปกรณ์ส่วนควบไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ร่วมแสดงความคิดเห็น