(มีคลิป) เชียงราย ทำ MOU ส่งเสริมเด็กรู้เท่าทันภัยสื่อออนไลน์

จ.เชียงราย จัดพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนรู้เท่าทันภัยสื่อออนไลน์

เวลา 13.30 น. วันที่ 11 ส.ค. 65 นายวัลลภ ไม้จำปา ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นายอภิวัฒน์ กันศรีเวียง รองศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการประชุมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการดำเนินงานโครงการโรงเรียนเชียงรายเท่าทันสื่อออนไลน์ โดยมีมูลนิธิฯเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 พร้อมทั้งตัวแทนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการระยะแรก จำนวน 20 โรงเรียน ร่วมในกิจกรรม ณ โรงแรมแกรนด์ วิสต้า เชียงราย

น.ส.เกษณี จันทร์ตระกูล ผจก.มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ตั้งแต่เรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล ไปจนถึงเรื่องอาชีพ วิถีชีวิต จึงเป็นประเด็นที่มักหยิบยกขึ้นมา ว่าเราจะต้องพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนอะไร เพื่อเท่าทันต่อสถานการณ์ มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก โดยการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 และโรงเรียนนำร่องจำนวน 20 แห่ง ในจังหวัดเชียงราย ดังรายชื่อ ต่อไปนี้ (1) รร.เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการเชียงราย (2) รร.เม็งรายมหาราชวิทยาคม (3) รร.บ้านแซววิทยาคม (4) รร.วัดถ้ำปลาวิทยาคม (5) รร.จันจว้าวิทยาคม (6) รร.ดอยหลวง รัชมังคลาภิเษก (7) รร.พานพิทยาคม (8) รร.ไม้ยาวิทยาคม (9) รร.รัฐราษฎร์วิทยา (10) รร.บ้านห้วยผึ้ง (11) รร.บ้านห้วยมะหินฝน (12) รร.บ้านแม่จัน (เชียงแสนประชานุสาสน์) (13) รร.ธรรมจาริกอุปถัมภ์ 1 (14) รร.บ้านเวียงพาน (15) รร.บ้านห้วยไคร้ (16) รร.บ้านป่าเหมือด (17) รร.ปิยะพรพิทยา (18) รร.เด็กดีพิทยาคม (19) รร.เซนต์มารีอา แม่สรวย (20) รร.คริสต์เตียนศึกษาสงเคราะห์นิมิตใหม่เพื่อชีวิต มีข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินงานขับเคลื่อนงานรู้เท่าทันสื่อ เท่าทันภัยออนไลน์ในสถานศึกษา ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Active Learning) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถในการรู้เท่าทันข่าวสาร การวิเคราะห์ข้อมูลที่ปรากฎในสื่อ และสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาตัดสินใจและวางแผนการใช้ชีวิต และที่สำคัญการรู้เท่าทันสื่อ หรือทักษะดิจิทัล คือ ทักษะที่เด็กเยาวชน รวมถึงผู้ใหญ่ควรมี เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ เสริมทักษะ สร้างสรรค์ผลงาน นวัตกรรม และสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย โครงการโรงเรียนเชียงรายเท่าทันภัยออนไลน์เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างองค์ความรู้แก่ครู พัฒนาศักยภาพครู เพื่อสามารถสร้างการเรียนรู้แก่เด็กได้

กิจกรรมสำคัญของโครงการ มีดังนี้ (1) ประชุมชี้แจง และรับสมัคร รร.เข้าร่วมโครงการ (2) การลงนามความร่วมมือ (MOU) 20 แห่ง (3) ผลิต เผยแพร่ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ (4) พัฒนาศักยภาพครู เรื่อง รู้เท่าทันภัยออนไลน์ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การรายงานแจ้งเหตุ และผลิตสื่อการเรียนการสอน (5) สนับสนุนให้ครูนำเนื้อหา ความรู้สู่การเรียนการสอนในโรงเรียน และมีการติดตามหนุนเสริมโดยศึกษานิเทศก์ (6) ประชุมถอดบทเรียนโครงการ (7) เปิดเวทีนำเสนอผลงานโครงการ และการเสวนาทางวิชาการ

ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในสถานศึกษา เรื่องเท่าทันสื่อ เท่าทันภัยออนไลน์ จะช่วยให้เด็กเยาวชนมีความรู้เท่าทัน สามารถเลือกใช้สื่อออนไลน์อย่างเข้าใจ มีภูมิคุ้มกัน และมีเกราะป้องกันตนเองให้มีความปลอดภัยจากภัยโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ โดยมีความร่วมมือกันของหน่วยงานที่ร่วมลงนามครั้งนี้เป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้กิจกรรมของโครงการประสบผลสำเร็จ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กและเยาวชนต่อไป

นายบัณฑิต เดชขันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 กล่าวว่า สพป.เขต 3 นำโดย ผอ.เขต และ รอง ผอ.เขต มีหน้าที่ในกานฃรส่งเสริมให้ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคนมีความรู้ความเข้าใจพิษภัยออนไลน์ การจัดการเรียนการสอน การสร้างสื่อให้กับทางโรงเรียนให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ สิ่งสำคัญต้องใช้หลัก 3 ป. กล่าวคือ “ป้องกัน” ให้เด็กนักเรียนปลอดภัย “ปลูกฝัง” ในเรื่องของการป้องกันภัยออนไลน์จะต้องทำอย่างไร และที่สำคัญก็คือ “ปราบปราม” ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ครู บุคลากร ตลอดจนผู้ปกครอง เพราะนักเรียนจะอยู่ในโรงเรียนประมาณ 8 ชั่วโมง เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน

นายปรีชารัตน์ รินทระ รองผู้อำนวยการสำนักงานพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย เผยว่า กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของโครงการนี้ก็คือ เด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยม โดยเฉพาะมัธยมต้น ทางสำนักงานเขตได้นำนโยบายความโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย โดยจะให้ครูในระดับชั้นมัธยมศึกษาได้จัดการเรียนการสอนโดนเน้นเรื่องภัยออนไลน์ วันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่ได้ดึงเครือข่ายเข้ามาช่วยกันพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสื่อเทคโนโลยีต่างๆ ก็จะได้เข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือกัน เพื่อครูจะได้มีการพัฒนาความรู้ที่ทันสมัยให้ทันกับภัยใหม่ๆที่มากับทางออนไลน์

นายอภิวัฒน์ กันศรีเวียง รองศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย เผยว่า ศึกษาธิการจังหวัดเชียงรายได้เห็นความสำคัญในการเฝ้าระวังภัยออนไลน์ในเด็กนักเรียน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นประธาน กศจ. ได้มุ่งเน้นให้จัดการศึกษาเป็น 3 ยุทธศาสตร์ โดนยุทธศาสตร์แรกจะมุ่งเน้นการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเป็นสุข สะอาด ปลอดภัย น่ายล ยุทธศาสตร์ที่ 2 มุ่งเน้นทักษะในการประกอบวิชาชีพ และยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นการบริหารสถานศึกษา ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 1 ที่เน้นในเรื่องความปลอดภัย ก็จะมีการมุ่งเน้นในเรื่องของความปลอดภัยในสื่อโซเซียลออนไลน์ทั้งหลาย โดยศึกษาธิการจังหวัดเชียงรายได้เข้าไปประสานงานกับผู้บริหารสถานศึกษาทุกระดับทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ทั้งระดับประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย สิ่งที่เราเข้าไปขับเคลื่อนก็คือ เรื่องการสนับสนุนในการใช้สื่อ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต มัลติมีเดีย ในเรื่องพิษภัยออนไลน์ ตลอดจนการจัดทำหลักสูตรจะมุ่งเน้นในการจัดทำหลักสูตรให้เด็กๆได้รู้เท่าทันสื่อออนไลน์ต่างๆ ส่วนเรื่องอื่นๆ ได้แก่ การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ในเรื่องของสื่อออนไลน์ ให้สามารถช่วยเหลือเด็กนักเรียนให้รอดพ้นจากภัยทางด้านออนไลน์ต่างๆได้

ว่าที่ ร.ต.โชคดี ศรีอุดม ผอ.โรงเรียนธรรมจาริกอุปถัมภ์ 1 สังกัด สพป.เชียงราย เขต 3 กล่าวว่า ทางโรงเรียนมีนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย เกี่ยวกับสุขภาพสุขภาวะของผู้เรียน ซึ่งทางโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการของต้นสังกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม ป้องกัน ให้สุขอนามัยของผู้เรียนโดยเฉพาะการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งของทางโรงเรียน ยอมรับว่าการสอนพิษภัยของสื่อออนไลน์เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องอาศัยผู้ที่เชียวชาญโดยเฉพาะ ครูต้องมีทักษะในการเข้าถึงผู้เรียน เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้เรียน เมื่อเด็กเห็นว่าเขามีความปลอดภัย เขาก็จะมีความกล้าที่จะเข้ามาปรึกษาปัญหากับครู ครูก็จะใช้กระบวนการได้รับจากการฝึกอบรมร่วมกับทางมูลนิธิไปแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียนให้ตรงจุด

นายธีระศักดิ์ อโนชัย ผอ.โรงเรียนจันจว้าวิทยาคม สังกัด สพม.36 เชียงราย กล่าวว่า สื่อออนไลน์มีทั้งโทษและประโยชน์ขึ้นกับผู้ใช้ ทางโรงเรียนจันจว้าฯ ได้สร้างความตระหนักรู้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ เด็กต้องมีความพร้อม มีการเรียนรู้ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันด้วยตัวเอง ส่วนครูก็ต้องมีการพัฒนาในเรื่องของสื่อและองค์ความรู้ ในส่วนของผู้บริหารก็มีส่วนในการส่งเสริมสนับสนุนในการจัดการเรียนการสอนในเรื่องของสื่อออนไลน์ ทางโรงเรียนไม่ได้จำกัดเรื่องการใช้มือถือ เราต้องการให้เด็กควบคุมด้วยตัวเอง ถ้าเด็กรู้จักคุณโทษของการใช้อินเตอร์เน็ตหรือการใช้สื่ออนไลน์ เด็กก้จะสามารถป้องกันตัวเองได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของภูมิคุ้มกันของตัวเด็กเองเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

และนายอนุพงษ์ ปรีชาภูมิตร ผอ.โรงเรียนคริสเตียนศึกษาสงเคราะห์นิมิตใหม่เพื่อชีวิต สังกัดศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย เผยว่า ที่โรงเรียนจะเป็นโรงเรียนกินนอนประจำ มีเด็กในความดูแลเกือบ 500 คน เด็กของเราจะเป็นเด็กชาติพันธุ์ม้ง ส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวที่มีปัญหา พ่อแม่หย่าร้าง พ่อแม่ติดคุกจากการค้ายาเสพติด เป็นกลุ่มเปราะบาง เด็กเหล่านี้ไม่มีความรู้ เป็นเหตุให้ถูกล่อลวงง่าย การที่มูลนิธิได้จัดโครงการนี้ขึ้นถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ให้ครูเข้ามาร่วมเป็นแกนนำในการนำเอาความรู้ไปถ่ายทอดให้กับเด็กอีกครั้ง ทางโรงเรียนได้มีการทำข้อตกลงกับทางผู้ปกครองโดยไม่อนุญาติให้เด็กนำมือถือเข้ามาในโรงเรียน ผู้ปกครองต้องมอบสิทธิ์ให้โรงเรียนเป็นผู้ปกครองขอวเด็กตามกฏหมาย ต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบของโรงเรียน เราจะไม่ให้เด็กใช้มือถือ แต่ถ้าอยากติดต่อเราจะมีการกำหนดเวลาให้ติดต่อทางโทรศัพท์ของโรงเรียน หรือติดต่อทางไลน์ของครูประจำชั้น เราดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ปัญหาเล็กๆน้อยๆก็มีอยู่ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องการเจ็บป่วย ส่วนปัญหาทางโซเซียลออนไลน์ก็มีน้อย หากเราตรวจพบว่าอาจจะเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมา เราก็จะมีการเรียกเด็กมาพบ จะมีการบันทึกตกลง ป้องกันการเกิดเหตุรุนแรงขึ้น

จังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่นำร่องจังหวัดแรกของประเทศ ที่ได้ร่วมทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เพื่อให้ทางโรงเรียนได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนรู้เท่าทันพิษภัยของสื่อออนไลน์ มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 20 โรงเรียน โดยเริ่มแรกโครงการจะมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายในนักเรียนระดับ ม.ต้น และอนาคตจะขยายกลุ่มเป้าหมายไปหากลุ่มนักเรียน ม.ปลาย และระดับชั้นประถมฯ ในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น