ไทยเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชีย

น่าเป็นห่วง ! ไทยเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชีย ขณะที่ “คนเดินเท้า” เสี่ยงตาย- บาดเจ็บ

นางจตุพร เนียมสุข ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวตอนหนึ่งในกิจกรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้ ครั้งที่ 7 “คมนาคมขนส่งไทยขับขี่ปลอดภัยทุกการเดินทาง” ที่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ว่า จากรายงาน GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY ปี 61 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในเอเชีย โดยอยู่ที่ 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน และจากข้อมูลระบบบูรณาการการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนหรือข้อมูล 3 ฐาน พบว่า เฉลี่ยปี 57 – 64 มีผู้เสียชีวิต 17,200 คน ซึ่งคนเดินเท้าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุ หากถูกรถชนจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ในหนึ่งปีมีคนเดินเท้าเฉลี่ยปีละ 740 คน ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุถูกรถชน

นางจตุพร กล่าวต่อว่า กลุ่มผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น อายุระหว่าง 15 – 19 ปี และกลุ่มผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 50 – 69 ปี ส่วนใหญ่ถูกรถจักรยานยนต์ชน รองลงมาคือ รถยนต์และรถบรรทุก คนเดินเท้าทั่วประเทศมีสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ สูงถึง 1 ใน 3 คิดเป็น 34% เมื่อเทียบกับจำนวนการรับแจ้งทั่วประเทศ ถนนในกรุงเทพฯ มีคนเดินเท้าเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 250 คน และหากดูที่จำนวนคนเดินเท้าที่โดนรถชนจากสถิติบริการ “ผู้ป่วยใน” เรื่องจำนวนผู้ป่วยในทั่วประเทศ คนเดินเท้าเสียชีวิต และบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 6,267.75 รายต่อปี

นางจตุพร กล่าวอีกว่า กลุ่มคนเดินเท้าส่วนใหญ่ หรือ 56.27% บาดเจ็บ เพราะถูกรถจักรยานยนต์ชน โดยเป็นเด็กอายุระหว่าง 0 – 9 ขวบ บาดเจ็บ และเสียชีวิตรวมกันมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 45 – 59 ปี อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคม มิได้นิ่งนอนใจในปัญหาดังกล่าว ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่ดูแลทางถนนดำเนินการด้านความปลอดภัยต่าง ๆ กับผู้ใช้รถใช้ถนน โดยพิจารณาแก้ไขปรับปรุงถนน และสภาพแวดล้อมข้างทางที่อาจเป็นจุดเสี่ยง จุดอันตราย ทางแยก ทางโค้ง ให้ปลอดภัย

รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ อาทิ ไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟสัญญาณจราจร ราวกั้นบริเวณทางโค้งหรือทางลงเขาลาดชัน จัดทำทางข้ามที่ปลอดภัย และก่อสร้างสะพานลอยให้คนเดินข้ามในบริเวณที่มีความจำเป็น รวมถึงได้มีโครงการสร้างความปลอดภัยในการข้ามถนนในบริเวณพื้นที่หน้าโรงเรียน โดยให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ เพิ่มเติมเป็นพิเศษ และในส่วนของความปลอดภัย บริเวณจุดตัดทางรถไฟ ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง(ขร.) ทำการสำรวจทางลักผ่านจุดตัดทางรถไฟ และวางมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในจุดตัดต่าง ๆ อาทิ ป้ายเตือน ไฟกะพริบ
นางจตุพร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมมีโครงการความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ผ่านโครงการความช่วยเหลือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ในโครงการ “The Project on Capacity for Road Traffic Safety Institutions and Implementation in the Kingdom of Thailand” ซึ่งดำเนินงานการศึกษา และวางแผนด้านความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งลดจำนวนผู้สูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนด้วย อย่างไรก็ตามจากการประเมินสำรวจข้อมูลสถิติในส่วนของผู้เสียชีวิตที่เกิดจากอุบัติเหตุจราจร พบว่า ปี 64 มีผู้เสียชีวิต 16,957 คน ลดลงจากปี 63 และปี 62 ซึ่งมีจำนวน 17,831 ราย และ 19,904 ราย ตามลำดับ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมยังคงเดินหน้าดำเนินงานเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น