ปีนี้วันลอยกระทงตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 หลายพื้นที่มีการจัดงานลอยกระทงสืบสานประเพณีไทย โดยมีการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง และปล่อยโคมลอย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย รวมถึงประชาชนจำนวนมากเดินทางไปร่วมงานลอยกระทง อาจทำให้ได้รับอันตรายจากอุบัติภัยทางน้ำและอุบัติเหตุทางถนน
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยจากสาธารณภัย ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จึงได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมป้องกันอุบัติภัยในช่วงวันลอยกระทง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ดังนี้
– มาตรการป้องกันอุบัติภัยจากพลุ ดอกไม้เพลิง โดยเข้มงวดการตรวจสอบสถานที่ผลิต จัดเก็บและจำหน่ายพลุ ดอกไม้เพลิงให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจตราการพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะอย่างเข้มข้น อีกทั้งคุมเข้มพื้นที่จุดพลุ และดอกไม้เพลิงให้มีความปลอดภัย รวมถึงกำหนดแนวทางการขออนุญาต ช่วงเวลา และพื้นที่ในการปล่อยโคมลอยให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย
– มาตรการป้องกันอุบัติเหตุจากการสัญจรทางน้ำและทางบก โดยตรวจสอบสถานที่จัดงานลอยกระทง โป๊ะ ท่าเทียบเรือ และเรือโดยสารให้อยู่ในสภาพปลอดภัย รวมถึงสนธิกำลังจัดชุดกู้ภัยทางน้ำและจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ อีกทั้งประสานการจัดตั้งจุดตรวจ เพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน พร้อมบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดและคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน
– มาตรการป้องกันอัคคีภัย โดยจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว อุปกรณ์ดับเพลิง รถดับเพลิง อุปกรณ์กู้ภัยและไฟส่องสว่างประจำสถานที่จัดงานลอยกระทงและบริเวณที่มีการจุดพลุ และดอกไม้เพลิง รวมถึงพื้นที่ปล่อยโคมลอย เพื่อให้สามารถระงับเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็ว
– มาตรการดูแลความปลอดภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของสถานที่จัดงาน อาทิ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร
และกรมเจ้าท่าในการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัย พร้อมตรวจสอบความปลอดภัยและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณที่มีประชาชนหนาแน่น รวมถึงจัดหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้พร้อมช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ อีกทั้งกวดขันการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด ตลอดจนตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่จัดงานให้มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองพัดสิ่งปลูกสร้างล้มทับ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูมรสุม
นอกจากนี้ ให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้มาตรการป้องกันอุบัติภัยในช่วงวันลอยกระทงแก่ประชาชน รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานประเพณีลอยกระทงบนพื้นฐานของความปลอดภัย อีกทั้งเชิญชวนประชาชนจิตอาสาร่วมกันรักษาความสะอาดของแหล่งน้ำ
ทั้งนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือและดำเนินมาตรการป้องกันอุบัติภัยช่วงเทศกาลลอยกระทง เพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีลอยกระทงให้อยู่คู่สังคมไทยบนพื้นฐานความปลอดภัยของประเทศ

ร่วมแสดงความคิดเห็น