รักษาการ เลขา ป.ป.ส. ร่วมประชุม ศอ.ปส.ตร. ประสานตำรวจหนุน 2 ภารกิจเร่งด่วนแก้ปัญหายาเสพติด Quick win
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทน เลขาธิการ ป.ป.ส. เข้าร่วมประชุม ศอ.ปส.ตร. (ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานฯ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

การประชุมมีประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่ง พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รักษาราชการแทน เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้แถลงแลกเปลี่ยนสร้างความเข้าใจร่วมกับที่ประชุมถึงภารกิจตามปฏิบัติการการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดระยะ 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตั้งไว้ในการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดและปัญหาที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อความสงบสุขของประชาชน
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงเรื่องที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน (Quick win) 2 ปฏิบัติการ และจะต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 นี้ คือ
- การแก้ไขผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติด โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายอำเภอที่มีความเสี่ยงต่อเหตุรุนแรง ที่มาจากการสำรวจผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติดทั่วประเทศจำนวน 32,263 คน โดยในช่วงแรกเน้นกลุ่มผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติดที่เป็นกลุ่มเผ้าระวังสูงและสูงสุด จำนวน 6,987 คน ซึ่งได้ประสานขอให้หน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมดำเนินการกับสำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานในพื้นที่ วางแผนอบรมให้ความรู้แก่ ภาคีเครือข่ายใน 29 จังหวัดเป้าหมาย ในการค้นหาและนำส่งผู้ป่วยจิตเวช โดยสำนักงาน ป.ป.ส. จะพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ ให้แก่ ตำรวจ ค่าใช้จ่ายในการค้นหาและนำส่งผู้ป่วยจิตเวช ไปสถานพยาบาล และภายหลังจากกลับคืนสู่ชุมชน โดย สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ประสานงานกับ กระทรวงกลาโหม ในการใช้โรงพยาบาลของหน่วยทหาร เข้ามาร่วมภารกิจนี้ด้วย
- การเตรียมความพร้อม ในการกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5(10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด ในพื้นที่ที่เป็นจุดที่มีการนำเข้ายาเสพติด ในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัด เชียงใหม่ จำนวน 5 อำเภอ (อำเภอแม่อาย ฝาง เชียงดาว เวียงแหง และไชยปราการ) และจังหวัดเชียงราย จำนวน 6 อำเภอ (อำเภอแม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น) และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครพนม จำนวน 4 อำเภอ (อำเภอท่าอุเทน เมืองนครพนม ธาตุพนม และบ้านแพง) ซึ่งต้องอาศัยสรรพกำลังของสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ดำเนินการร่วมกันภายใต้ ชื่อ “หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ (นบ.ยส.35) ดูแลในพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย และ “หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) ดูแลในพื้นที่ จังหวัดนครพนม ซึ่งได้มอบหมายให้ ผอ.ปปส.ภาค 4 และ ผอ.ปปส.ภาค 5 ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานงานและผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน และสำนักงาน ป.ป.ส. จะจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติการ









ร่วมแสดงความคิดเห็น