ความหวังใหม่ !! ยาโมลนูพิราเวียร์ รอยื่น อย.สหรัฐฯ เป็นยาเม็ดต้านโควิดชนิดแรก พบประสิทธิภาพดีกว่า “ฟาวิพิราเวียร์”

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง ยาต้านไวรัส โมลนูพิราเวียร์

ข่าวดี คณะกรรมการที่ปรึกษาตัดสินให้ยุติการศึกษาวิจัยยาต้านไวรัส Molnupiravirโมลนูพิราเวียร์ทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 3 วันที่ 1 ตุลาคมแทนที่จะเป็นปลายปี เนื่องจากผลการศึกษาพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์ เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกมีประสิทธิภาพรักษาโรคโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

บริษัทเมอร์คกำลังยื่นขอการรับรองโมลนูพิราเวียร์จาก #องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration) ให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน โมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาต้านโควิดชนิดเม็ดตัวแรกที่ได้รับการรับรองจากทางการสหรัฐฯ (ในสหรัฐฯไม่มีการรับรองให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ เหมือนบ้านเรา)

โดยบริษัทเมอร์คศึกษาและทดสอบการใช้ #ยาโมลนูพิราเวียร์ ในกลุ่มคนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศลาตินอเมริกา ยุโรป และแอฟริการวม 775 คน มุ่งเน้นคนติดเชื้อที่ยังไม่ฉีดวัคซีน และคนที่มีความเสี่ยงเช่นคนสูงอายุ เบาหวาน โดยพบว่า ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาแคปซูลโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม 4 เม็ดวันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5 วัน ประมาณ 7.3% เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่พบผู้เสียชีวิตจากโควิดในกลุ่มตัวอย่างนี้ตลอดการรักษา 29 วัน ขณะที่กลุ่มคนติดเชื้อที่ได้ยาหลอก (Placebo) มีผู้ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 14.1% และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 8 ราย .

ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ไม่มีใครเสียชีวิตเลย ในขณะที่คนที่ได้รับยาหลอกกลับมีผู้เสียชีวิต 8 ราย และยาโมลนูพิราเวียร์สามารถลดความเสี่ยงที่จะเข้านอนโรงพยาบาลได้ถึง 50% ยานี้มีผลข้างเคียงต่ำ ไม่แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ การรักษาต้องให้ยานี้เร็วที่สุดภายในเวลา 5 วันหลังเริ่มมีอาการ

ยาโมลนูพิราเวียร์ออกฤทธิ์ต่อไวรัสโควิดทั้งสายพันธุ์เดลตา แกมมา และมิวโดยทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ผิดปกติ เวลาไวรัสก๊อปปี้ตัวเอง จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ เรายังไม่มีข้อมูลใช้ยานี้นานๆจะเกิดการดื้อยาหรือไม่

#บริษัทเมอร์ค ตั้งเป้าผลิตยาให้ได้ สำหรับ 10 ล้านคนภายในปีนี้ โดยทางการสหรัฐฯ เตรียมสั่งจองโมลนูพิราเวียร์แล้วสำหรับ 1.7 ล้านคน ราคายา 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน เบื้องต้นบริษัทเมอร์คได้ทำสัญญากับฐานการผลิตยาหลายแห่งในประเทศอินเดีย เพื่อส่งยาโมลนูพิราเวียร์ราคาถูกให้กับประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

นอกจาก​ บริษัทเมอร์คแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัท เช่น ไฟเซอร์ และโรช ก็กำลังศึกษายาต้านไวรัสชนิดเม็ดเช่นเดียวกันในการรักษาผู้ป่วยโควิด

เมื่อไหร่ที่ประเทศไทยได้ยาโมลนูพิราเวียร์จากประเทศอินเดีย เราควรเลิกใช้​ #ยาฟาวิพิราเวียร์​ทันที เพราะยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพเหนือกว่าแน่นอน

ที่มา FB: นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ,สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ร่วมแสดงความคิดเห็น